Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
DINSOR
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2020 เวลา 08:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
DINSOR คือใคร?
--
ไปรู้จักกับจุดเริ่มต้น ที่มา และวิสัยทัศน์
สู่ผลลัพธ์ของ Dinsor Design Studio ในทุกวันนี้
หากใครกดเข้ามาดูยังเว็บไซต์
designbydinsor.com
แห่งนี้คงต้องเห็นผลงานการออกแบบ Visual Communication Design มากหน้าผ่านตามาบ้างเป็นแน่ แต่ถึงอย่างนั้นเราเชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วที่ DINSOR คือใคร กล่องดินสอเรามีดินสอแบบไหน และขีดเขียนอะไรมาแล้วบ้าง ดังนั้นคงจะเป็นการดีไม่น้อยหากวันนี้เรามาพูดถึงเรื่องของตัวเองให้ผู้อ่านได้รู้จักเรากันมากขึ้นอีกสักนิด
‘เรามองว่าเราเป็นทรานสเลเตอร์ (Translator) เป็นคนที่แปลงเอาความคิด
ไอเดียการทำแบรนด์ในหัวของลูกค้าออกมาเป็นภาพหรือสิ่งที่จับต้องได้’
คุณบอน สารัช จันทวิบูลย์ เจ้าของตำแหน่ง Creative Director และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ DINSOR ครุ่นคิดอยู่ครู่ใหญ่เมื่อต้องอธิบายมุมมองของตนที่มีต่อกราฟฟิกสตูดิโอที่เขาก่อตั้งขึ้น “ที่เรามองแบบนั้นเพราะว่าทุกการทำงานของ DINSOR เราจะแปลงกลยุทธ์และแผนการตลาดที่ลูกค้าต้องการออกมาเป็นภาพที่เข้าใจง่ายและจับต้องได้จริงอยู่เสมอ” คุณบอนกล่าวต่อถึงเหตุผลซัพพอร์ทไอเดียดังกล่าว
‘ส่วนเรามองว่า DINSOR ก็คือดินสอตามความหมายตรงตัวของมัน เป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ เป็นการสร้างงานสร้างสรรค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ มันไม่ใช่การขีดเขียนเพื่อตัดสินใครหรือยึดเอาความคิดตนเป็นใหญ่ แต่มันสามารถที่จะปรับแก้ได้ตลอดเวลาจนกว่าจะได้ผลงานที่ดีที่สุดออกมา และนั่นคือหนึ่งเหตุผลที่เราเลือก DINSOR เป็นชื่อของสตูดิโอแห่งนี้’ คุณโอ พีรกันต์ สมบัติเลิศตระกูล อีกหนึ่งผู้ร่วมก่อตั้งอธิบายเพิ่มเติมกับเราถึงที่มาและแรงบันดาลใจของในชื่อที่เขาเลือก
คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไหร่หากเราจะบอกว่า แรกเริ่มเดิมทีสตูดิโอแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางที่รวบรวมกราฟฟิกดีไซเนอร์ที่มีความถนัดในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากงานกราฟฟิกเข้าด้วยกัน ซึ่งคุณโอได้เสริมกับเราเพิ่มเติมว่า ‘อย่างเช่น ถ้าเป็นงานด้านแบรนด์ดิ้ง บอนจะเป็นคนดูแลหลัก เพราะเขามีประสบการณ์ในด้านนี้มากกว่าใครในทีม’ ซึ่งจากดีกรีปริญญาโทจาก London Collage of Communication ในเอก Graphic Branding & Identity ของคุณบอนกับประสบการณ์การทำงานด้านแบรนด์ดิ้งกับเอเจนซี่ เลยที่ไม่ทำให้เรากังขาในเรื่องนี้แต่อย่างใด
แต่ในพาร์ทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสไตล์และความคิดสร้างสรรค์หนักๆ โอจะเป็นคนนำมากกว่าเรา’ คุณบอนกล่าว ‘เพราะด้วยประสบการณ์การทำงานในกราฟฟิกสตูดิโอ ผสมกับเคยประกอบธุรกิจหลากหลายรูปแบบมาก่อน และความชื่นชอบโดยส่วนตัวในเรื่องของสไตล์ แฟชั่น และธุรกิจของโอ ทำให้เขามีความเข้าใจในการประยุกต์ใช้งานกราฟฟิกกับธุรกิจมากกว่าใคร นอกจากนี้ดีไซเนอร์คนอื่นๆ ในทีมเองก็มีความชื่นชอบและสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันออกไปเช่นกัน ดังนั้นแล้วแก่นหลักชิ้นสำคัญของสตูดิโอแห่งนี้จึงไม่เคยเปลี่ยนไปจากวันแรกที่เริ่มต้นก่อตั้งขึ้น’
แล้วอะไรคือจุดเด่นของ DINSOR?
‘จริงๆ แล้วเราตั้งใจที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนเรา
เป็นเพื่อนที่ปรึกษา มากกว่าอะไรที่ซับซ้อนโดยไม่จำเป็น’
ที่ DINSOR ลูกค้าทุกคนสามารถสื่อสารกับดีไซเนอร์เจ้าของงานได้โดยตรง และด้วยเหตุนี้ความผิดพลาดในการสื่อสารผ่านคนกลางหมดไป นอกจากนี้ทุกการทำงานที่นี่จะผ่านกระบวนการคิดแบบ Design Thinking เสมอ ทำให้ทุกผลงานที่ส่งออกไปจึงเป็นผลลัพธ์ที่เราคิดมาแล้วอย่างถี่ถ้วนทั้งในแง่มุมของความงามและการสื่อสารที่เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างตรงประเด็น’ สองผู้ก่อตั้งบอกกับเราอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ผ่านการประดิษฐ์รูปคำกันแต่อย่างใด
นอกจากนี้คุณบอนยังเสริมต่ออีกด้วยว่า งานของ DINSOR อาจไม่ได้ดูตื่นเต้นหรือโมเดิร์นที่สุด เพราะเรามองว่าความงามมันเป็นเรื่องมุมมองของผู้เสพ แต่ผลลัพธ์ที่ผ่านสายตาของดีไซเนอร์ที่นี่ จะเป็นผลลัพธ์ที่เหมาะสมต่อความเป็นจริงและบริบทของผู้ใช้มากที่สุด เพราะ DINSOR ไม่เคยมองว่าความงามเป็นสิ่งที่สำคัญเหนือองค์ประกอบอื่นแต่อย่างใด แต่การตอบโจทย์ การสื่อสารที่เห็นผลได้จริงต่างหากที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงในการผลิต Visual Communication Design ที่ดี ซึ่งเมื่อเกริ่นกันมาถึงเรื่องนี้แล้ว เราจึงพุ่งประเด็นให้ลงลึกต่อไปอีกระดับว่า แล้วจริงๆ การออกแบบในเมืองไทยนั้นถือว่ายังไม่ได้คุณภาพอย่างนั้นหรือ? และทั้งสองคนคิดเห็นอย่างไรกับหัวข้อนี้
ความเห็นของคุณบอนที่มีต่อเรื่องนี้ไม่ใช่ในแง่มุมของความงามแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องของการตอบโจทย์เสียมากกว่า ‘สำหรับเราแล้ววงการกราฟฟิกไทยเนี่ยมีความสามารถมากนะในเรื่องของความสวยงาม แต่หากถามว่ามีอะไรที่เราอยากให้ดูเข้าร่องเข้ารอยกว่านี้ไหมก็คงเป็นเรื่องของ ‘ดีไซน์และ End user ซะมากกว่า’ เพราะบางทีเราอาจจะยึดติดกับเรื่องของความงามมากเกินไป การออกแบบ Visual Communication Design หรือแม้แต่ Graphic Design เองก็ตาม มันไม่ควรจะเกิดขึ้นเพื่อ for design sake หรือ for aesthetic sake จนเกินไป เพราะปลายทางของงานนั้นๆ มันมีผู้ใช้ผู้บริโภคอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ความงามและการสื่อสารที่เข้าใจจึงเป็นเรื่องนี้ควรจะเดินไปพร้อมๆ กัน มากกว่า’
แต่ในขณะเดียวกันคุณโอกลับมีมุมมองที่ต่างออกไป ซึ่งเขาเองก็มองว่างานกราฟฟิกฝีมือคนไทยนั้นเรียกได้ว่ามีความโดดเด่น แม้จะเทียบกันในระดับสากลเลยก็ตามทั้งกับสิงค์โปร์ ฮ่องกง หรือจะเป็นฝั่งอังกฤษและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย แต่เมื่อพูดถึงชื่อของสตูดิโอจากประเทศไทยที่โด่งดังในระดับสากลกลับมีเพียงหยิบมือเท่านั้น ซึ่งเขาเองคิดว่าเป็นเรื่องที่ชวนให้แปลกใจอยู่ไม่น้อย และคงจะเป็นการดีมากหากสตูดิโอในเมืองไทยจะได้เป็นที่รู้จักในสายตาโลกมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันสามารถไปไกลระดับนั้นได้แน่นอนหากมีการผลักดันและสนับสนุนที่ดีพอ
และจากความเห็นดังกล่าว โปรเจคใหม่อย่าง ‘APR/S’ จึงถือกำเนิดขึ้น หลายคนอาจจะสงสัยว่าสี่ตัวอักษรนี้คืออะไร ทำอะไร และเพื่ออะไร คงจะไม่มีอะไรดีมากไปกว่าการฟังจากปากของสองผู้ก่อตั้งที่นั่งอยู่กับเราในตอนนี้
‘เราอยากให้มันเป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนสามารถมาร่วมแชร์
ไอเดียและทดลองอะไรใหม่ๆ ได้อย่างอิสระ’
‘โปรเจค APR/S เป็นโปรเจคใหม่ที่ทาง DINSOR ต้องการที่จะสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางและผู้ส่งสารเรื่องราวหลากหลายแง่มุมของศิลปะสู่ผู้คนผ่านรูปแบบของตึก 3 ชั้น โดยมีคอนเซ็ปต์ใหญ่ที่ครอบอยู่คือ Art, People, Relation, and Space เราต้องการที่จะสร้างสถานที่ที่ทั้งงานศิลปะ ผู้คน ตัวศิลปิน และแบรนด์ สามารถเชื่อมโยงหากันได้จริงๆ ดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงไม่ได้ถูกตีตราเอาไว้อย่างชัดเจนว่ามันคืออะไร มันสามารถเป็นได้ทั้งแกลอรี่จัดแสดงงานตอนบ่าย 3 และสถานที่สำหรับจัดปาร์ตี้แบบส่วนตัวในตอนเย็นได้ หรือมันสามารถเป็นโชว์รูมสินค้าไปพร้อมๆ กับการจัดงานสัมภาษณ์ตัวศิลปินก็ยังได้ ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นฮับที่สามารถรองรับโปรเจคงานออกแบบใหม่ๆ หรือการทดลองพื้นที่แบบใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลาย
นอกจากนี้ APR/S ยังจะมีเว็บไซต์ที่รวบรวมบรรดาศิลปินรุ่นใหม่กับโปรเจคสนุกๆ ของพวกเขาเอาไว้ให้ติดตาม เพื่อแนะนำลูกค้า จัดหางานที่เหมาะสมให้ เพื่อเป็นการเปิดลู่ทางโชว์ไอเดียเลือดใหม่ไฟแรงในเมืองไทยให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้โปรเจคนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น หากเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาเมื่อไหร่ เราจะรีบแจ้งให้ได้ทราบกันอย่างแน่นอน’ คุณโอและคุณบอนกล่าวทิ้งท้ายก่อนที่บทสนทนานี้จะจบลง
Borrow our pencil at DINSOR
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย