Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วันนี้ในอดีต
•
ติดตาม
3 ธ.ค. 2020 เวลา 14:15 • ประวัติศาสตร์
"วันนี้ในอดีต" วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ. 1984) - โศกนาฏกรรมก๊าซพิษรั่วไหลเมืองโภปาล
#ก๊าซพิษรั่วไหล #เมืองโภปาล #วันนี้ในอดีต
วันนี้ในอดีตได้เกิดอุบัติเหตุสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานผลิตยาฆ่าแมลง ของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย มันเป็นชั่วเวลาไม่กี่นาทีหลังเที่ยงคืนของวันที่ 3 ธันวาคม 2527 ท้องฟ้าคืนนั้นสดใสเต็มไปด้วยดวงดาว ผู้คนนับร้อยมาชุนนุมกันในคืนวันอาทิตย์ที่เรียกว่า "มุไชรา" ที่บริเวณจัตุรัส นี่คือค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองในเมืองโภปาลที่จะเต็มไปด้วยเสียงเพลงและกาพย์กลอน ฝูงชนต่างตั้งใจฟังกวีร่ายกลอนในภาษาอูรดูที่พรรณนาถึงความทุกข์และความสุขแห่งชีวิต ความตายและวิญญาณที่เป็นอมตะ ในที่อื่นๆมีการฉลองงานแต่งงานอยู่รอบเมือง บาร์และร้านอาหารเต็มไปด้วยเสียงเพลงและการฉลอง มันคือค่ำคืนแห่งเทศกาล ค่ำคืนแห่งความรื่นเริง
แต่ในขณะที่ผู้คนกำลังเฉลิมฉลองกันอยู่นั้น ปัญหากำลังก่อตัวขึ้นที่โรงงานผลิตยาฆ่าแมลงยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร บรรยากาศในโรงงานมีแต่ความกลัวและตื่นตระหนก ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ที่ขาดการฝึกรู้แล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่แก๊สกำลังรั่วจากถังเก็บซึ่งมีแก๊สพิษบรรจุอยู่ถึง 42 ตัน ในอีกไม่กี่นาทีปฏิกิริยาความร้อนทางเคมีที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดพายุแก๊สพิษแพร่กระจายไปทั่วเมืองโภปาล ประชากรกว่า 5 แสนคนกำลังจะได้รับผลกระทบในโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ความหายนะทางอุตสาหกรรม การสังหารหมู่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
แก๊สพิษเริ่มรั่วไหลผ่านทางประตูและหน้าต่างเข้าสู่เมือง สำหรับคนจำนวนมากที่กำลังหลับใหลอยู่บนเตียง แก๊สพิษที่พวกเขากำลังสูดเข้าไปเป็นเครื่องรับประกันว่า พวกเขาจะไม่มีวันตื่นขึ้นมาได้อีก สำหรับผู้ที่ยังไม่หลับ ถือเป็นโชคไม่ดีที่พวกเขายังมีสติอยู่ในขณะที่มหันตภัยกำลังมาเยือน
และเมื่อถึงเวลาที่พวกเขาเริ่มตระหนักว่ากลุ่มแก๊สพิษขนาดใหญ่กำลังเคลื่อนตัวเข้ามาหาพวกเขา มันก็สายไปเสียแล้ว ร้านอาหาร ร้านกาแฟ จัตุรัส สวนสาธารณะที่เพียงไม่กี่นาทีก่อน เต็มไปด้วยเสียงเพลง เสียงอ่านกลอนและเสียงหัวเราะ ถึงตอนนี้ทุกอย่างเงียบสงัด เป็นความเงียบที่น่าสะพรึงกลัว ศัตรูกำลังแทรกซึมเข้ามาและเข้าขย้ำเสียงร้องของเหยื่ออย่างรวดเร็ว
แก๊สที่ล่องลอยเหมือนผีร้ายมาตามสายลมที่พัดเบาๆ ทันใดนั้นก็เข้าบีบลำคอและเผาผลาญปอดของเหยื่อจนแทบมอดไหม้ ร่างของเหยื่อบิดงอดิ้นทุรนทุรายด้วยความเจ็บปวด ตาของพวกเขาบวมเป่งเหมือนถูกเผาไหม้ ไม่มีใครรู้ว่าปีศาจร้ายตนไหนที่ลงมาทำร้ายพวกเขา
หลายคนจบชีวิตก่อนที่จะถึงบ้านหรือโรงพยาบาล บางคนที่ไปถึงก็ต้องจบชีวิตที่นั่น ทั่วทุกหนทุกแห่งมีแต่ความตาย ไม่มีหมอเพียงพอและไม่มีใครจากโรงงานยูเนี่ยนคาร์ไบด์ให้ข้อมูลของแก๊สที่รั่วเพื่อที่จะหาทางรักษาได้ ทุกคนปิดปากเงียบ
ในวันที่ 3 หลังเกิดเหตุมีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสูดแก๊สพิษโดยตรง 8,000 คน และเจ็บป่วยอีก 500,000 คน ในอีก 20 ปีต่อมาจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วมีถึง 20,000 คน และตอนนี้ยังมีเหยื่อเคราะห์ร้ายในรุ่นที่ 3 นั่นคือ ลูกของพ่อแม่ที่เกิดหลังจากแก๊สรั่วซึ่งกำลังทนทุกข์ทรมานจากความผิดปกติที่คุกคามชีวิตของพวกเขา
พวกเขาต้องทนทุกข์กับอาการหอบอย่างรุนแรง สมองถูกทำลาย การมีรอบเดือนที่ผิดปกติ ขาดภูมิคุ้มกันโรค มะเร็งและวัณโรค ป่วยออทิสติกหรือด้อยพัฒนาการบางประการ แต่แทนที่จะได้รับความเห็นใจหรือความช่วยเหลือจากผู้รับผิดชอบ ผู้รอดชีวิตต้องดิ้นรนเพียงเพื่อให้ได้การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน โดยไม่ต้องพูดถึงความช่วยเหลือทางการเงินหรือจากสังคม เรื่องราวความหายนะยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
การหาข้อมูลเรื่องของโภปาลเหมือนกับการเปิดหูเปิดตาสู่ความจริง ทำไมปล่อยให้มีการเก็บแก๊สพิษจำนวนมาก ไว้ในบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งไม่น่าจะเป็นนโยบายของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามโรงงานก็ได้รับอนุญาตให้สร้างโดยไม่สนใจเสียงต่อต้านของคนในท้องถิ่น
ถึงแม้ยูเนี่ยน คาร์ไบด์จะมีตราสัญลักษณ์สามเหลี่ยมสีเขียวที่มีข้อความระบุว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน" แต่ก็น่าขันที่การระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยไม่มีอยู่เลยที่โรงงานในเมืองโภปาล เมื่อพิจารณารวมกับสารระเหยที่เกี่ยวข้อง การที่ยูเนี่ยน คาร์ไบด์เลือกที่จะตัดงบในส่วนของการรักษาความปลอดภัยถือเป็นอาชญากรรม
มาตรฐานความปลอดภัยที่โรงงานในเมืองโภปาลถือว่าหละหลวมอย่างน่าอันตราย เมื่อเทียบกับโรงงานของยูเนี่ยน คาร์ไบด์ในยุโรปและอเมริกา อุปกรณ์สำคัญๆในโรงงานขาดการซ่อมบำรุง เจ้าหน้าที่มีน้อยเกินไปและไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีพอในการรักษาความปลอดภัย ที่โรงงานไม่มีแม้แต่แผนจัดการความเสียหายที่อาจส่งผลต่อเมืองที่อยู่โดยรอบ นี่หรือคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ มันน่าขนลุกเมื่อเราคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการป้องกันโศกนาฏกรรมไม่ให้เกิดขึ้นมันง่ายนิดเดียว
ในโลกตะวันตกจะไม่มีการประนีประนอมในนโยบายที่หละหลวมในการป้องกันความปลอดภัยอย่างนี้เป็นแน่ แต่มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่โรงงานแห่งนี้มีการกำหนดมาตรฐานต่างระดับ ทั้งๆที่มันไม่น่าเกิดขึ้นในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่
Cr.JUDAH PASSOW
ในการส่งเสริมให้บริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์มาลงทุนในประเทศที่ยากจนกว่าได้มีการลดมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสุขภาพหรือแรงงานลง หรือไม่ก็ไม่มีการกำหนดมาตรฐานเลย สิทธิพิเศษเหล่านี้เปิดช่องให้บริษัทยักษ์ใหญ่หากำไรจากการทำลายผู้คนและสิ่งแวดล้อม เหมือนในกรณีเมืองโภปาล ประชาชนที่ยากจนที่สุดและไม่มีทางช่วยตัวเองตกเป็นเหยื่อรับเคราะห์
การกระทำของบริษัทเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์ในเขตที่ยากจนมีค่าน้อยว่าชีวิตมนุษย์ในเขตอื่นๆของโลก วอร์เรน แอนเดอร์สัน ประธานบริษัทยูเนี่ยน คาร์ไบด์ในขณะนั้นรู้แก่ใจดีว่ากำลังทำให้เมืองที่มีประชากรที่บริสุทธิ์กว่า 5 แสนคนตกอยู่ในอันตรายเพื่อประโยชน์ของตน การกระทำนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
Cr.JUDAH PASSOW
ปฏิกิริยาของยูเนี่ยน คาร์ไบด์ที่มีต่อโศกนาฏกรรมครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่เกิดเหตุหรือในช่วงวันหรือปีหลังเกิดเหตุเป็นหลักฐานเด่นชัดในการก่ออาชญากรรม โฆษกของบริษัทต้องใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงหลังแก๊สรั่วกว่าจะออกมาให้ความคิดเห็นถึงอุบัติเหตุดังกล่าว ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลถึงประเภทของแก๊สโดยอ้างว่า ขัดต่อนโยบายของบริษัท เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยและสุขภาพของยูเนี่ยน คาร์ไบด์พยายามปกปิดความหายนะด้วยการอธิบายว่าแก๊สที่รั่วเป็นเพียงแก๊สน้ำตา บริษัทยังคงยืนยันข้อมูลนี้ถึงแม้จะมีหลักฐานเด่นชัดแล้วว่ามีประชาชนหลายพันคนเสียชีวิตในทันทีที่สูดแก๊สเข้าไปและมีอีกหลายหมื่นคนต้องทนทุกข์ไปตลอดชีวิต
ท้ายที่สุดยูเนี่ยน คาร์ไบด์ลบภาพลักษณ์ที่เลวร้ายของตนด้วยการรวมกิจการกับบริษัทข้ามชาติที่ละโมบอย่าง ดาว เคมิคัล ทั้งสองบริษัทร่วมมือกันปัดโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นให้พ้นตัวเหลือทิ้งไว้แต่ความทนทุกข์ของเหยื่อและที่ดินสูญเปล่าที่ปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ
Cr.JUDAH PASSOW
ดาว เคมิคัลปฏิเสธที่จะรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทยูเนี่ยน คาร์ไบด์ไม่มีอีกต่อไป ตอนนี้ทั้งสองรวมเป็นบริษัทเคมีชั้นนำของโลกไปแล้ว
รัฐบาลอินเดียและบริษัทยูเนี่ยน คาร์ไบด์ตกลงกันอย่างหน้าไม่อายในการจ่ายเงินทดแทนจำนวนกว่า 18,800 ล้านบาท เงินจำนวนนั้นยังคงอยู่ในธนาคารของอินเดียและเพิ่งจะมีการเบิกถอนมาให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา หลังจากคำตัดสินของศาลสูง
Cr.JUDAH PASSOW
ยอดเงินทดแทนไม่ได้ใกล้เคียงที่จะครอบคลุมแม้แต่ค่ารักษาพยาบาลพื้นฐานของเหยื่อในช่วง 5 ปี และเหยื่อรุ่นใหม่จะทำอย่างไร เหยื่อที่ยังเป็นทารกแบเบาะในขณะเกิดเหตุ และไหนจะยังดินและน้ำที่มีการปนเปื้อน โรงงานเก่าของยูเนี่ยน คาร์ไบด์ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการทำความสะอาด มันถูกทิ้งไว้ในสภาพเดียวกับวันที่เกิดเหตุที่เต็มไปด้วยสารเคมี ซึ่งคาดว่ายังมีสารพิษประมาณ 5,000 ตันตกค้างอยู่ในโรงงาน แก๊สพิษระเหยสู่อากาศและแทรกซึมตามผิวดินลงสู่แหล่งน้ำ แต่ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ ความจริงก็คือ หลังจากที่ยูเนี่ยน คาร์ไบด์จ่ายเงินทดแทนเสร็จก็สะบัดก้นหนีและไม่กลับมาเหลียวมองเมืองโภปาลอีกเลย
แต่ผู้คนที่นี่ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาจะยอมได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาสูญเสียทุกสิ่ง ครอบครัว เพื่อน สุขภาพและความสุข มีความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าที่รวมตัวกันในเมืองโภปาลและทั่วโลก พวกเขากำลังเรียกร้องความยุติธรรม พวกเขาต้องการให้โลกได้รับรู้
ถึงแม้ผู้คนจะมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าแต่พวกเขายังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ที่ทรยศพวกเขา จนกว่าโรงงานเก่าของยูเนี่ยน คาร์ไบด์จะได้รับการทำความสะอาดจำนวนคนที่เสียชีวิตมีแต่จะเพิ่มขึ้นและจะยังคงเป็นอย่างนี้ในคนรุ่นต่อๆไป จาเพอร์ ซึ่งสูญเสียพ่อและพี่ชายจากโศกนาฏกรรมดังกล่าวบอกว่า "เงินทดแทนเหยื่อจากเหตุวินาศกรรมที่เวิลด์เทรดและการทำความสะอาดจุดเกิดเหตุทำได้ภายในปีเดียว แต่เรากลับต้องรอทั้งเงินและการรื้อโรงงานเก่ามาเกือบ 20 ปี" มีแต่ความอยุติธรรมทั่วทุกหนแห่ง
ราชิดา พี สูญเสียครอบครัวและสุขภาพที่สมบูรณ์ของเธอไปกับแก๊สพิษ เธอบอกว่า "เงินทดแทนควรจะมาได้ตั้งนานแล้วเพราะผู้คนต้องทรมานกับความเจ็บป่วยจากแก๊สรั่ว" ตราบใดที่บริษัทดาว เคมิคัลซึ่งรวมกิจการกับยูเนี่ยน คาร์ไบด์ยังไม่รับผิดชอบและไม่จ่ายเงินทดแทนที่เพียงพอรวมถึงความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมในเมืองโภปาล ตราบนั้นก็ยังไม่มีความยุติธรรม
อนุสรณ์สถานของผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรม ข้อความที่ฝาผนังเป็นภาษาฮินดี เขียนว่า "แขวนคอนายแอนเดอร์สัน"
ถ้าบริษัทดาว เคมิคัลยังไม่ถูกบังคับให้จัดการกับแก๊สพิษที่ถูกทิ้งไว้ซึ่งกำลังทำลายสิ่งแวดล้อมจำนวนเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น เรื่องนี้เห็นทีจะไม่จบลงง่ายๆ ประชาชนในเมืองโภปาลไม่สามารถลืมเหตุการณ์ครั้งนั้น และพวกเขาก็ไม่ควรที่จะถูกลืม
เหยื่อจากโศกนาฏกรรมและกลุ่มช่วยเหลือนานาชาติยังคงเรียกร้องหาความยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่านี่ไม่ใช่การตัดสินครั้งสุดท้ายในเรื่องโภปาลและตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ยอมแพ้ กลุ่มรณรงค์นานาชาติเพื่อความยุติธรรมในโภปาลหรือ ICJB ได้ตัดสินใจที่จะใช้คำว่า "ความหวัง" และ "การฟื้นฟู" เป็นคำขวัญในการรำลึกถึงการครบรอบ 20 ปีของโศกนาฎกรรมโภปาล พวกเขาหวังว่าโลกจะปลอดภัยกว่าที่เป็น เป็นโลกที่จะไม่มีเหตุการณ์อย่างโภปาลเกิดขึ้นอีก และเราควรจะร่วมหวังไปกับพวกเขาเหล่านั้น
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย