7 ธ.ค. 2020 เวลา 13:06 • ธุรกิจ
เส้นทางของ D'Oro แบรนด์กาแฟไทยสไตล์อิตาเลียน
เวลาที่เราเดินทาง ถ้าเกิดอยากแวะกินกาแฟขึ้นมา เราคงนึกถึงร้านอย่าง Starbucks, Amazon หรือ Inthanin
แต่นอกจากร้านกาแฟชื่อดังเหล่านี้ หากเอ่ยถึงอีกแบรนด์หนึ่งอย่าง D'Oro หลายคนน่าจะเคยเห็นมาบ้างอย่างแน่นอน
ภาพลักษณ์ของร้านกาแฟระดับอินเตอร์ที่เรามักเห็นตามสถานที่ต่างๆ หรือปั๊มน้ำมัน
จนอดคิดไม่ได้ว่าเป็นแบรนด์จากเมืองนอกที่มาเปิดแฟรนไชส์ในบ้านเรารึเปล่า
อันที่จริงแล้ว D'Oro เป็นร้านกาแฟแบรนด์ไทยแท้ ที่ก่อตั้งโดย คุณวีรเดช สมบูรณ์เวชชการ
คุณวีรเดช สมบูรณ์เวชชการ ภาพจาก Brand Buffet
ซึ่งในสมัยก่อนคุณวีรเดชทำธุรกิจส่งออกเมล็ดกาแฟ ทำให้เขาต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศและคุ้นเคยกับร้านกาแฟในเมืองนอกเป็นอย่างดี
เมื่อเวลาเขากลับมาเมืองไทยได้สังเกตเห็นว่าบ้านเรามีร้านกาแฟเกิดขึ้นมากมาย แต่ยังไม่มีร้านดีๆ
โดยเฉพาะสไตล์อิตาเลียนที่มีเอกลักษณ์เป็นช็อตกาแฟเอสเปรสโซ กลิ่นหอมรสเข้ม
ด้วยความที่อยากให้คนบ้านเราได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยของกาแฟสไตล์อิตาเลี่ยนในราคาที่คุ้มค่า
ร้านกาแฟเล็กๆ ที่ชื่อ Caffé D’Oro สาขาแรกก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542
ซึ่งในช่วงแรกเขาหวังเพียงว่าจะมีสาขาสัก 5 - 10 แห่ง
ชื่อ “D’Oro” เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า “สีทอง” ซึ่งสื่อถึง “ครีม่า” (Crema) ฟองครีมสีทองที่อยู่บนช็อตกาแฟเอสเปรสโซ
ครีม่า ภาพจาก Perfectdailygrind
ด้วยความชำนาญจากการทำธุรกิจส่งออกเมล็ดกาแฟมาก่อน ทำให้คุณวีรเดชรู้ดีว่าธุรกิจกาแฟนั้นเรื่องคุณภาพคือสิ่งสำคัญที่สุด
เขาจึงเริ่มต้นส่งเสริมและวางรากฐานการปลูกกาแฟคุณภาพดีกับชาวบ้านที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
ช่วยดูแลในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว รับซื้อ ไปจนถึงการคั่วในโรงงาน
เรียกว่าใส่ใจทุกรายละเอียดตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลยทีเดียว พร้อมกับฉายาที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่ผู้ปลูกกาแฟเรียกเขาว่า “พ่อเลี้ยงแห่งอมก๋อย”
ด้วยความใส่ใจในคุณภาพ จากร้านกาแฟที่มีสาขาไม่กี่แห่งก็เติบโตเป็นจำนวนกว่า 120 สาขา
ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล
สาขาที่ขยายไปจังหวัดต่างๆ ก็มีที่นครราชสีมา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช
ภาพจาก BKKmenu
นอกจากคุณภาพของกาแฟแล้ว จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของร้าน D’Oro ก็คือ ขนม ซึ่งทางร้านผลิตเองภายใต้ดูแลโดยภรรยาของคุณวีรเดช
แต่เชื่อหรือไม่ว่าเบื้องหลังขนมแสนอร่อยกลับมีจุดเริ่มต้นจากการที่คนทำขนมขอลาหยุดสงกรานต์ เธอเลยลองทำเค้กแครอทมาวางขายแทนในช่วงนั้น
ผลปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของลูกค้า หลังจากนั้นจึงตัดสินใจทำเบเกอรี่เองอย่างจริงจังจนกลายมาเป็นโรงงานผลิตและต่อยอดมาเป็นธุรกิจบริการจัดเลี้ยงคอฟฟี่เบรคนอกสถานที่และเบเกอรี่แบรนด์ D’Bread ในปัจจุบัน
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เส้นทางของ D’Oro มาไกลเกินความตั้งใจแรกของคุณวีรเดชค่อนข้างมาก
เมื่อวันเวลาผ่านไป ธุรกิจก็ถูกส่งมอบมายังทายาทรุ่นที่ 2 ให้เข้ามาดูแลต่อ พร้อมกับหลักการดำเนินธุรกิจอย่าง “Quality” กับ “Passion” ที่คุณวีรเดชยึดถือมาอย่างยาวนานก็ถูกถ่ายทอดมาด้วย
แต่จากการการแข่งขันในธุรกิจร้านกาแฟที่รุนแรงขึ้นและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ D’Oro ต้องปรับตัวให้ทัน
จึงได้มีการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2560
โดยมีเป้าหมายเป็นร้านกาแฟในชีวิตประจำวันของลูกค้า หรือ Everyday Coffee Shop และยังคงรักษาความเป็น D’Oro เอาไว้ด้วย
การรีแบรนด์เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก Caffé D’Oro เป็น D’Oro
เปลี่ยนโลโก้ ใหม่
ภาพจาก Brand Buffet
ตกแต่งร้านให้ดูทันสมัยมากขึ้นโดยเปลี่ยนมาใช้สีเขียว Growth Green เป็นสีหลัก
รวมไปถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน
ไม่เว้นแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ลวดลายบนแก้วกาแฟหรือทำขนมในสไตล์เรียบง่าย ตัดเค้กเป็นสี่เหลี่ยมเรียบๆ ไม่มีการแต่งหน้าขนม
นอกจากนี้ ยังได้เริ่มแนวคิดว่าการบริการลูกค้าได้ดีย่อมมาจากพนักงานที่มีความสุข
จึงได้ทำแบบสำรวจเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น
อย่างเช่น จากผลสำรวจบอกว่ายูนิฟอร์มแบบเดิมที่เป็นเชิ้ตขาว เสื้อกั๊กดำ กระโปรงดำ ใส่รองเท้าหนัง เกล้ามวยแล้วคลุมผมด้วยตาข่าย พนักงานมองว่าเชย
จึงเปลี่ยนใหม่เป็นเสื้อโปโลหลายสี เลือกใส่ได้ตามใจ ใส่กางเกงยีนส์ได้ และใส่รองเท้าผ้าใบได้
อยากทำทรงผมอะไรก็ได้ แต่ขอให้ผมไม่ร่วงเวลาทำงาน พร้อมกับยกเลิกข้อห้ามการทำสีผม
เพิ่มนโยบายให้พนักงานดื่มเครื่องดื่มในร้านฟรีวันละแก้ว
แม้กระทั่งเวลามีขนมออกใหม่ พนักงานจะได้ชิมก่อนเพื่อสามารถตอบลูกค้าได้ว่ารสชาดเป็นยังไง
ภาพจาก BKKmenu
ในด้านระดับราคา มีโจทย์อยู่ว่าลูกค้าต้องสามารถซื้อได้ทุกวัน จึงวางตำแหน่งในระดับราคา Premium Economy
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือเป็นราคาที่ขาประจำของร้านกาแฟราคาประหยัดรู้สึกว่าจ่ายเพิ่มอีกหน่อยก็ได้กาแฟคุณภาพดี หรือลูกค้าร้านกาแฟหรูก็มีทางเลือกให้จ่ายน้อยลงแต่ยังได้กาแฟที่มีคุณภาพ
กลยุทธ์ในการขยายสาขาก็ปรับเปลี่ยนไป เพราะว่าปัจจุบันเทรนด์ของคนดื่มกาแฟมีอายุลดลง ไม่ว่าจะเป็นเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา หรือแม้แต่วัยเริ่มทำงาน
การขยายสาขาจากเดิมที่อยู่ตามปั๊มน้ำมัน โรงพยาบาล และอาคารสำนักงาน
ก็จะเริ่มเปิดตามสถานีรถไฟฟ้าและมหาวิทยาลัยเพื่อให้สามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้โดยตรง
และยังมีการเปิดสาขาแบบ Drive-Thru แห่งแรกที่ถนนสุขาภิบาล 5 เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ
ส่วนระบบงานก็มีการลงทุนกับคลังข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 800,000 ราย ด้วยการนำเทคโนโลยี Big Data เข้ามาช่วย เพื่อให้เรารู้จักไลฟ์สไตล์ลูกค้าดีขึ้น
อย่างเช่น เมนูโปรดของลูกค้า รสที่ชอบ หรือเข้ามาซื้อบ่อยขนาดไหน จะได้นำเสนอโปรโมชั่นที่เหมาะสม
นอกจากนี้ในอนาคตจะเริ่มมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้กับงานเลือกของเข้าร้านด้วย
แล้ว D'Oro ประสบความสำเร็จแค่ไหน มาดูยอดขายกัน
ปี พ.ศ. 2560 มีรายได้ 310 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2561 มีรายได้ 346 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 มีรายได้ 360 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2560 รายได้บริษัทนั้นเติบโตขึ้น 16%
ทั้งหมดนี้ คงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของ D'Oro ได้เป็นอย่างดี ที่สามารถยืนหยัดบนสมรภูมิธุรกิจร้านกาแฟที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดมานานกว่า 20 ปี
โฆษณา