8 ธ.ค. 2020 เวลา 06:25 • กีฬา
สโมสรที่สร้างปัญหามากมายที่สุดในวงการฟุตบอลอังกฤษ ไม่มีทีมไหนจะเกิน "มิลล์วอลล์" อีกแล้ว
จุดเริ่มต้นของมิลล์วอลล์ คือเป็นทีมฟุตบอลของพนักงานบริษัทอาหารกระป๋อง เจที มอร์ตัน ก่อตั้งในปี 1885 หลังจากแข่งขันในระดับสมัครเล่นมาหลายปี ในซีซั่น 1920-21 มิลล์วอลล์ก็เข้าร่วมระบบฟุตบอลลีก โดยออกสตาร์ตในระดับดิวิชั่น 3
2
มิลล์วอลล์ ตั้งอยู่ที่ลอนดอนตะวันออกเฉียงใต้ สนามแข่งขันมีชื่อว่า "เดอะ เดน" (The Den) จุคนได้ 2 หมื่นเศษๆ สัญลักษณ์ของสโมสรจะเป็นสิงโต ขณะที่ศัตรูเบอร์หนึ่งของทีม คือเวสต์แฮม ยูไนเต็ด
ทุกๆสโมสร จะมีชื่อที่แฟนบอลเอาไว้เรียกตัวเอง ซึ่งกับลิเวอร์พูลก็จะเป็น เดอะ ค็อป, กับแมนฯซิตี้ ก็จะเป็นซิตี้เซนส์ หรือ กับสเปอร์ส ก็จะเป็นยิดอาร์มี่
1
ส่วนของมิลล์วอลล์ คือ The Lions แต่ก็ยังมีการแยกยูนิตย่อยลงไปอีก โดยกลุ่มอุลตร้า สายฮาร์ดคอร์ของสโมสรจะมีชื่อว่า มิลล์วอลล์ บุชแว็กเกอร์ส (Millwall Bushwackers) ที่แปลได้ว่า "แก๊งคนนอกคอก"
1
สำหรับผลงานของสโมสร ก็เป็นเหมือนทีมทั่วๆไป มิลล์วอลล์ เคยเล่นในลีกสูงสุดอยู่ 5 ซีซั่น ตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร ส่วนที่เหลือก็จะขึ้นๆลงๆ ระหว่าง แชมเปี้ยนชิพ กับลีกวัน คือพวกเขาไม่ใช่ทีมที่ดี แต่ก็ไม่ได้ฟอร์มแย่อะไร ตอนนี้เล่นอยู่ในแชมเปี้ยนชิพ เป็นซีซั่นที่ 4 ติดต่อกันแล้ว
3
แฟนบอลของมิลล์วอลล์ที่ดีๆก็มี แต่กลุ่มกองเชียร์ที่มีพลังมากสุดในสโมสรคือกลุ่มบุชแว็กเกอร์ส ปัญหาคือแฟนๆกลุ่มนี้ มีชื่อเสียงในความรุนแรงในฐานะฮูลิแกน นอกจากนั้นพวกเขายังเชื่อในแนวคิดฝ่ายขวาสุดโต่ง คืออนุรักษนิยมจ๋า และไม่พร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติ คือในทีมมิลล์วอลล์ เราแทบจะไม่เห็นผู้เล่นสีผิวอื่น นอกจากผิวขาว
2
ชื่อเสียงความบ้าบอ ของแฟนมิลล์วอลล์ เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนตุลาคม 1920 หลังจากได้เล่นในฟุตบอลลีกอาชีพได้ไม่ถึง 2 เดือน แฟนบอลไปขว้างวัตถุใส่ จอห์น คูเปอร์ ผู้รักษาประตูของสโมสรนิวพอร์ต จากนั้นเมื่อคูเปอร์ เดินไปที่สแตนด์ เพื่อถามว่าใครขว้างมา กลับโดนแฟนมิลล์วอลล์ต่อยหน้าไปอีกที
4
สมาคมฟุตบอลสั่งปิดสนามเดอะ เดน เพื่อเป็นบทลงโทษ ในช่วงปลายปี 1920 จากนั้นพวกเขาโดนสั่งปิดสนามอีก 5 รอบ ในปี 1934, 1947, 1950, 1978 และ 1994 รวมถึงโดนปรับเงินอีกนับครั้งไม่ถ้วน จากข้อหาที่แตกต่างกัน
ไม่ว่าจะเป็นขว้างก้อนคอนกรีตใส่ไลน์แมน หรือบุกลงมาต่อยกรรมการในสนาม ตามด้วยเหตุการณ์ขว้างมีด ใส่เลส ซีลีย์ นายทวารของลูตัน ทาวน์ ในปี 1985 และเหตุการณ์ตะลุมบอนหลังแพ้เบอร์มิงแฮมในเพลย์ออฟเลื่อนชั้น ของแชมเปี้ยนชิพในปี 2002
2
ตามมาด้วยเหตุการณ์ ในเกมลีกคัพรอบสอง ในปี 2009 ที่เวสต์แฮม เจอมิลล์วอลล์ที่สนามโบลีนกราวน์ โดยเกมนั้นทั้งสองทีมเสมอในเวลา 90 นาทีอยู่ 1-1 จากนั้นพอเข้าช่วงต่อเวลาพิเศษ เวสต์แฮมมาได้จุดโทษ เพราะกองหลังมิลล์วอลล์ แอนดี้ แฟรมป์ตัน ไปทำแฮนด์บอลในเขตโทษ ซึ่งแฟนๆมิลล์วอลล์ไม่พอใจอย่างมาก ถึงกับกรูลงมาในสนาม และตะโกนบอกให้นักเตะวอล์กเอาต์กลับห้องแต่งตัวไปเลย อย่าไปเล่นต่อ เพราะโดนโกง
แต่สุดท้ายนักเตะยังเล่น แล้วโดนยิงจุดโทษถูกขึ้นนำ 2-1 เวลาที่เหลือมิลล์วอลล์บุกแหลกเพื่อยิงตีคืนให้ได้ จึงโดนสวนแล้วยิงเพิ่มอีกลูกจบเกมเวสต์แฮมชนะ 3-1
หลังจบเกม แฟนบอลสองฝ่ายตีกันยับ มีคนบาดเจ็บ 20 คน หนึ่งในนั้นโดนแทงด้วยมีด
สิ่งที่เราเห็นมาตลอดคือ สโมสรมิลล์วอลล์ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงของแฟนๆได้เลย แฟนบอลเป็นแบบไหนในอดีต ก็เป็นต่อไปในอนาคต
คือกลุ่มแฟนๆสุดโต่งมารวมตัวกัน แล้วก็ทำการส่งต่อแนวคิดเหล่านั้นให้กับแฟนรุ่นใหม่เรื่อยๆ ทำให้ดีเอ็นเอของมิลล์วอลล์ไม่สูญสลายไปเสียที
เรื่องนี้มันเลยเป็นปัญหาที่ผู้บริหารสโมสรก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรเหมือนกัน เพราะมันเห็นกันชัดๆว่า แฟนบอลอยากทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยสโมสรจัดการอะไรไม่ได้เลย
พฤติกรรมของแฟนบอลที่ย่ำแย่สั่งสมมาหลายสิบปี ทำให้มิลล์วอลล์เป็นทีมที่โดนเกลียดมากที่สุดในอังกฤษ แฟนบอลหลายทีม มองว่าพวกเขาคือขยะสังคม นี่เป็นสโมสรที่สร้างภาพลักษณ์แย่ๆ ให้กับวงการฟุตบอลอังกฤษ
ทีมอื่นพยายามแทบตาย เพื่อลดปัญหาฮูลิแกน ทำให้แฟนบอลผู้หญิง เด็กๆ หรือคนที่มากับครอบครัว สามารถเข้ามาดูบอลได้อย่างมีความสุข แต่มิลล์วอลล์ไปเยือนที่ไหน ก็พร้อมมีเรื่องกับเจ้าถิ่นได้ตลอด หรือเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว ที่ทีมอื่นพยายามรณรงค์เต็มที่ แต่แฟนมิลล์วอลล์ มีแนวคิดคนผิวขาวเป็นใหญ่ ดังนั้นในขณะที่แฟนๆทีมอื่นรณรงค์กัน แฟนมิลล์วอลล์ก็จะออกตัวล้อฟรี ไม่ได้สนใจแคมเปญอะไรนั้นด้วย
2
ในปี 1977 สถานีโทรทัศน์บีบีซี นำเสนอสารคดีเรื่องความเลวร้ายของแฟนบอลมิลล์วอลล์ ซึ่งแฟนๆ มิลล์วอลล์นั้นโกรธแค้นมาก และรู้สึกว่าเรื่องฮูลิแกน เรื่องความรุนแรง ทีมไหนก็มีกัน แต่พวกเขาโดนหยิบยกมาด่าอยู่ทีมเดียว
ดังนั้น กลุ่มแฟนบอลจึงสร้าง Chant หรือเพลงเชียร์ของตัวเองขึ้นมา ในชื่อเพลงว่า No one like us , We don't care โดยใช้ทำนองเพลง Sailing ของร็อด สจ๊วร์ต ที่เป็นซิงเกิ้ลฮิตในปี 1975
3
โดยเนื้อหาของเพลงก็จะร้องวนไปวนมาอยู่ 4 ประโยค
No one likes us, no one likes us
No one likes us, we don't care!
We are Millwall, super Millwall
We are Millwall from The Den!
2
แปลว่า "ไม่มีใครชอบพวกเรา เราไม่แคร์ เราคือมิลล์วอลล์ โคตรทีมมิลล์วอลล์ เราคือมิลล์วอลล์แห่งเดอะ เดน"
ภาพลักษณ์ของมิลล์วอลล์จึงกลายเป็นทีมกบฎ แหกคอก ไม่สนใจโลก ต่อให้ทั้งลีกรวมหัวกันเกลียด พวกเขาก็ไม่แคร์
2
ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คือคนอังกฤษจะเกลียดมิลล์วอลล์มาก แต่กับแฟนมิลล์วอลล์เองกลับมีความเป็นกลุ่มเป็นก้อนที่เหนียวแน่น เพราะเหมือนกับทั้งโลก มีแค่พวกเขาที่ให้กำลังใจกัน ถ้าไม่รักกันไว้ แล้วจะไปหวังให้ใครมารัก
คำว่า No One Likes Us กลายมาเป็นเหมือนม็อตโต้ของสโมสรไปโดยปริยาย แม้แต่หนังสือแฟนซีนที่ขายดีที่สุดของทีม ก็ยังตั้งชื่อว่า NOLU (ตัวอักษรตัวหน้า ของคำว่า No One Likes Us) เรียกได้ว่า แฟนมิลล์วอลล์ก็ไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไรทั้งนั้น
สำหรับประเด็นดราม่าเมื่อวันเสาร์ เกิดขึ้นในเกมแชมเปี้ยนชิพ ระหว่างมิลล์วอลล์ กับ ดาร์บี้ เคาน์ตี้
มิลล์วอลล์ อยู่อันดับ 14 ของลีก เจอกับดาร์บี้ เคาน์ตี้ อันดับ 23 ซึ่งอยู่ในโซนตกชั้น โดยมิลล์วอลล์มีสตาร์เด่นคือ ทรอย แพร์ร็อต กองหน้าดาวรุ่งของสเปอร์ส ที่มูรินโญ่ปล่อยให้ยืมตัว ขณะที่ดาร์บี้ มีจอร์ดอน ไอบ์ กับ อันเดร วิสดอม อดีตสองดาวเตะลิเวอร์พูล แต่คนที่ดังที่สุดในทีมดาร์บี้ คือผู้จัดการทีม เวย์น รูนี่ย์
สำหรับนัดนี้ แฟนบอลได้เข้ามาชมในสนาม เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน หลังจากต้องปิดสนามเล่นเพราะโควิดมาตลอด ซึ่งเหล่าบุชแว็กเกอร์ ก็ซื้อตั๋ว 2 พันใบ หมดลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาชมในสนาม เพื่อให้กำลังใจทีมของตัวเอง
1
ก่อนเกมเริ่มจะมีธรรมเนียมคุกเข่าสงบนิ่ง Black Lives Matter เป็นเวลา 10 วินาที ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันทุกสนาม ในฟุตบอลอาชีพ โดยแฟนบอลก็จะยืนเงียบๆ จนกว่ากรรมการจะเป่าให้เริ่มเขี่ยบอลได้
แต่ประเด็นคือทันทีที่กรรมการเป่านกหวีด เพื่อเริ่มคุกเข่า แฟนบอลมิลล์วอลล์โห่เสียงดังสนั่น ออกมาจากสแตนด์ ซึ่งทั้งกรรมการ ทั้งนักเตะ ก็ทำหน้าเลิกลั่กกันหมด เพราะไม่มีใครคิดว่า จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ก่อนสุดท้ายเริ่มเขี่ยออกสตาร์ตเกมกันไป
เกมนี้จบลงที่ดาร์บี้ ชนะ 1-0 ซึ่งผลการแข่งขันนั้น ไม่ค่อยมีใครแคร์เท่าไหร่ เพราะทอล์กกิ้งพอยต์ที่สังคมพูดกันคือ มิลล์วอลล์จะทำแบบนั้นทำไม
เวย์น รูนีย์ ออกโจมตีว่า "การกระทำของมิลล์วอลล์บางส่วน เป็นสิ่งที่ไร้จิตสำนึกและยอมรับไม่ได้" ขณะที่ โคลิน คาซิม-ริชาร์ดส กองหน้าของดาร์บี้ที่ลงเล่นในวันนั้นด้วยกล่าวว่า "เป็นความน่าอับอายขั้นสุด"
ความเห็นของแฟนบอลทั่วๆไป ก็มองคล้ายๆ กับรูนี่ย์ นั่นคือ มิลล์วอลล์จะโห่ทำไมในจังหวะนั้น คือทุกคนพอรู้อยู่นะว่า แฟนมิลล์วอลล์เป็นพวกขวาจัด แต่ก็ไม่คิดว่า จะต่อต้านเรื่องการเหยียดสีผิวขนาดนี้
"ผมไม่ได้เกลียดอะไรมิลล์วอลล์เป็นการส่วนตัวนะ แต่มันน่าเศร้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และที่สำคัญ มันก็เป็นนิสัยของพวกมิลล์วอลล์อยู่แล้ว" แฟนบอลลิเวอร์พูลรายหนึ่งวิจารณ์
1
ขณะที่หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยนใช้คำว่า "พฤติกรรมที่เป็นพิษของมิลล์วอลล์ ไปไกลยิ่งกว่าแค่สโมสรของตัวเอง และวงการฟุตบอล"
แน่นอน เมื่อมีเหตุการณ์นี้ออกไปสู่ประชาคมโลก ทำให้สโมสรต้องออกมาแถลงการณ์ว่า "สโมสรมิลล์วอลล์ ตกใจ และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมวันเสาร์ สโมสรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะให้แฟนบอลได้กลับมาดูบอลในสนามอีกครั้งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และเราดีใจมากที่ทุกคนได้กลับมาดูบอลอีกครั้ง แต่ทั้งหมด ก็ถูกมองข้ามไป จากเหตุการณ์การโห่ในวันนี้"
1
ปัญหาของมิลล์วอลล์คือสโมสร ไม่มีพาวเวอร์อะไร จะไปหยุดยั้งแฟนได้ แฟนบอลกลุ่มฮาร์ดคอร์ ต่างมีพลังเป็นเอกเทศของตัวเอง เหมือนตามสโลแกน NOLU "ไม่มีใครรักเรา เราก็ไม่สน"
ดราม่าของเรื่องนี้ ยังไม่จบง่ายๆ เพราะกลุ่มบุชแว็กเกอร์ ได้อกมาตอบโต้ว่า ที่พวกเขาโห่ ไม่ใช่เพราะ "สนับสนุนการเหยียดผิว" ต่อให้เป็นขวาจัดยังไง ก็ไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น ถ้าหากพวกเขาบูชาคนขาวแบบสมัยโบราณจริงๆ จะยอมรับให้นักเตะผิวดำลงเล่นในทีมได้ไง
2
แบ็กขวาตัวจริงของมิลล์วอลล์ คือมาห์รอน โรเมโอ ซึ่งก็เป็นนักเตะผิวดำ แฟนบอลก็ยังไม่ได้ว่าอะไร หรือขับไล่ให้พ้นทีมเสียหน่อย
2
แต่สิ่งที่แฟนบอลมิลล์วอลล์ตั้งใจจะโห่ คือกระบวนการ Black Lives Matter ต่างหาก ที่มีความเป็นการเมือง ไม่ได้ต่อต้านการเหยียดผิวจริง การที่คุกเข่าให้ ก็เหมือนไปสนับสนุน ให้กลุ่มคนผิวดำ ที่ปล้นสะดมร้านค้าได้ใจ ว่ามีคนให้ท้ายอยู่ ดังนั้นพวกเขาจึงโห่ให้กับกระบวนการ Black Lives Matter ไม่ใช่โห่ให้การต่อต้านเหยียดสีผิว มันคนละประเด็นกัน
3
ในประเด็นนี้ จึงเป็นการดีเบทกันของสังคมอังกฤษ ว่า "การโห่" สมควรหรือไม่ และมีความผิดอะไร ต้องมีบทลงโทษแฟนมิลล์วอลล์หรือเปล่า
ฝ่ายหนึ่งบอกว่า คุณจะไปลงโทษแฟนบอลได้อย่างไร ทุกคนมีสิทธิในการแสดงออกของตัวเองทั้งนั้น
เจมส์ เคลฟเวอร์ลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า "เราแต่ละคนมีมุมมองเรื่อง Black Lives Matter ที่แตกต่างกัน บางคนก็มองว่าเป็นองค์กรที่มีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า ใช่ ทุกคนมีสิทธิ์จะคิดได้"
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่กว่า มองว่า การโห่ใส่ด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่สมควร โอเคการคุกเข่าอาจจะเริ่มต้นที่ Black Lives Matter แต่นานๆเข้า มันไปไกลกว่าองค์กร BLM แล้ว มันสื่อให้เห็นถึงการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ แม้กระทั่งในสนามฟุตบอล
1
ที่สำคัญทุกสโมสรเขาคุยกันแล้ว ว่าจะคุกเข่าเพื่อเป็นการให้เกียรติคนทุกสีผิว ดังนั้นแฟนบอลก็น่าจะเข้าใจและถ้าไม่เห็นด้วยการการคุกเข่า ก็แค่เงียบไปสัก 10 วินาทีก็พอ ไม่ต้องโห่ก็ได้ แล้วจากนั้นทุกอย่างก็จะผ่านไป
การที่คุณจงใจโห่ใส่ตอนเขารณรงค์กันแบบนี้ เหมือนกับว่าแฟนบอลสนับสนุนการเหยียดผิวชัดๆ อย่าทำเป็นไม่รู้เรื่องเลย ว่าเขารณรงค์อะไรกันอยู่
ความเคลื่อนไหวล่าสุด สมาคมฟุตบอลอังกฤษยืนยันว่าจะมีการสืบสวนในเรื่องการโห่อย่างแน่นอนเพราะเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
แต่ปัญหาก็คือ ต่อให้เอฟเอปรับเงิน หรือสั่งตัดแต้มมิลล์วอลล์ คนที่จะต้องรับภาระก็คือสโมสร แต่แฟนบอลที่โห่ใส่ไม่สามารถไปมีบทลงโทษอะไรเขาได้เลย จะให้แฟนบอลห้ามเข้าสนาม คุณก็จับมือใครดมไมได้อีก ว่าใครโห่ ใครไม่โห่ เป็นการยากมากที่จะไปเช็กบิลรายคนอีก
เอาผิดสโมสรได้ แต่ก็เอาผิดแฟนบอลไม่ได้ แล้วแฟนบอลเห็นสโมสรเสียตังค์ก็ไม่ได้แคร์อะไรด้วย ก็จ่ายไปสิ
1
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่คนทั่วๆไปในอังกฤษ จะเกลียดแฟนบอลของมิลล์วอลล์กัน เพราะพวกเขาอยากทำอะไรก็ทำ ไม่เคารพกฎใดๆ ซึ่งผิดกับวิสัยของคนอังกฤษ ที่ยึดถือกฎเกณฑ์เป็นสำคัญ
1
สำหรับเรื่องการโห่ คงมีคนอีกเยอะเลยที่น่าจะไม่ชอบสโมสรมิลล์วอลล์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็คงไม่แคร์อยู่ดี ตามสโลแกนของบุชแว็กเกอร์ส นั่นแหละ
No one likes us, we don't care!
1
"ใครจะไม่ชอบเรา เราไม่แคร์" ถ้าแปลอย่างสุภาพ
แต่ถ้าแปลตามฟีลลิ่งที่แท้จริงของแฟนบอลมิลล์วอลล์ก็คือ "ใครจะเกลียดพวกกู ก็เรื่องของมึง"
#Millwall
1
โฆษณา