9 ธ.ค. 2020 เวลา 12:15 • ธุรกิจ
Start-Up ระดับยูนิคอร์นในอาเซียน ส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย
1
แม้ว่าซีรีส์ชื่อดังของประเทศเกาหลีอย่าง Start-Up จะได้บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดไปแล้วก็ตาม แต่ในโลกของชีวิตจริงแวดวงสตาร์ทอัพเพิ่งมีบริษัทสตาร์ทอัพก้าวเข้าสู่ระดับยูนิคอร์นทะลุ 500 บริษัททั่วโลกแล้ว โดยในจำนวนกว่า 500 บริษัท มีบริษัทที่ตั้งในอาเซียนอยู่ 9 บริษัทด้วยกัน และส่วนใหญ่อยู่ในอินโดนีเซีย
3
วันนี้ workpointTODAY จะเจาะลึกกันว่า ทำไมอินโดนีเซียถึงกลายเป็นแหล่งเติบโตชั้นดีของสตาร์ทอัพจนก้าวขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์นได้
🦄 อันดับแรกทำความเข้าใจถึงคำว่าสตาร์ทอัพและยูนิคอร์นกันก่อน โดยสตาร์ทอัพนั้น ตามความหมายกว้างๆ ก็คือบริษัทที่เริ่มต้นจากคนไม่กี่คน มีโมเดลธุรกิจที่สามารถทำให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จนมีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุน ซึ่งแม้จะไม่มีการนิยามว่าธุรกิจประเภทไหนจะเข้าข่ายสตาร์ทอัพ แต่ในยุคนี้ส่วนใหญ่ธุรกิจสตาร์ทอัพมักเป็นธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี
🦄 สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมักถูกประเมินจากมูลค่าบริษัท โดยจะมีคำเรียก เช่น ยูนิคอร์น นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่นๆ ตามมูลค่าบริษัท ดังต่อไปนี้
1
💰 โพนี คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
💰 เซนทอร์ คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
💰 ยูนิคอร์น คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
💰 เดเคคอร์น คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
💰 เฮกโตคอร์น คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
1
🦄 ข้อมูลจาก CB Insights ระบุว่า ในตอนนี้มีสตาร์ทอัพระดับเฮกโตคอร์น หรือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงบริษัทเดียวคือ ByteDance เจ้าของแอปพลิเคชัน TikTok ส่วนสตาร์ทอัพระดับเดเคคอร์น หรือมีมูลค่าเกิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอยู่ 27 บริษัท เช่น SpaceX , Airbnb และ DJI เป็นต้น
🦄 ในจำนวนสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นกว่า 500 บริษัททั่วโลก เกือบครึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐฯ รองลงมาอยู่ในจีน นอกจากนี้ยังมีประเทศอย่างอังกฤษ อินเดีย เยอรมนีและเกาหลีใต้ ที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นติดอันดับต้นๆ ของโลก
🦄 แต่ถ้าหากเจาะลึกลงมาอยู่ในระดับอาเซียน พบมี 3 ประเทศเท่านั้นที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นตั้งอยู่ ได้แก่ อินโดนีเซีย 🇮🇩 สิงคโปร์ 🇸🇬 และฟิลิปปินส์ 🇵🇭 โดยมีบริษัทที่เข้าเกณฑ์เป็นยูนิคอร์นในอาเซียนทั้งสิ้น 9 บริษัท ได้แก่
1️⃣ Grab จาก สิงคโปร์
มีมูลค่า 14,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับแอพฯ ขนส่ง
2️⃣ Gojek จาก อินโดนีเซีย
1
มีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับแอพฯ ขนส่ง
3️⃣ Tokopedia จาก อินโดนีเซีย
มีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับขายสินค้าออนไลน์
1
4️⃣ HyalRoute จาก สิงคโปร์
มีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครือข่ายสื่อสาร
5️⃣ Bukalapak จาก อินโดนีเซีย
มีมูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับขายสินค้าออนไลน์
6️⃣ Traveloka จาก อินโดนีเซีย
มีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับจองตั๋ว,ที่พัก
7️⃣ Ovo จาก อินโดนีเซีย
มีมูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับรับ-จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์
8️⃣ Trax จาก สิงคโปร์
มีมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับ AI
9️⃣ Revolution Precrafted จาก ฟิลิปปินส์
1
มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำธุรกิจเกี่ยวกับบ้านสำเร็จรูป
🦄 จะเห็นได้ว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นส่วนใหญ่ในอาเซียนตั้งอยู่ในอินโดนีเซียมากถึง 5 บริษัท และส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากคนในประเทศจริงๆ จนกลายเป็นคำถามขึ้นมาว่า ทำไมอินโดนีเซียถึงกลายเป็นฐานการเติบโตของสตาร์ทอัพในอาเซียน
🦄 อินโดนีเซียก็เหมือนกับหลายประเทศที่ธุรกิจเทคโนโลยีค่อยๆ เติบโตขึ้นจากยุคดอทคอม จนกระทั่งในปี 2553 กระแสธุรกิจสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียเริ่มก่อตัวขึ้น จึงทำให้เกิดบริษัทอย่าง Gojek และ Traveloka ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์คนอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่ใช่แค่ในอินโดนีเซีย แต่ยังสามารถขยายตัวไปในภูมิภาคอาเซียนได้ด้วย
🦄 ความสำเร็จของบรรดาสตาร์ทอัพยุคเริ่มต้น ทำให้หนุ่มสาวชาวอินโดนีเซียมีแรงบันดาลใจ พยายามสร้างสตาร์ทอัพของตัวเองขึ้นมา ขณะเดียวกันความสำเร็จที่สตาร์ทอัพรุ่นพี่ปูทางเอาไว้ให้ ยังเป็นเหมือนการชี้ชวนให้บรรดานักลงทุนต่างชาติสนใจสตาร์ทอัพในอินโดนีเซียเป็นพิเศษ จนทุ่มเงินเข้าไปในอินโดนีเซียจำนวนมาก
🦄 จากสถิติในปี 2555-2560 พบว่าเม็ดเงินลงทุนสำหรับสตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นจาก 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
🦄 นอกจากภาคเอกชนแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังเข้ามามีบทบาทส่งเสริมสตาร์ทอัพ โดยเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียพยายามแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทให้ง่ายขึ้น เพื่อเอื้อต่อบรรดาธุรกิจเกิดใหม่ ขณะเดียวกันยังพยายามให้สตาร์ทอัพเข้าถึงงบประมาณของรัฐบาลอินโดนีเซียได้ หากพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เข้าเกณฑ์ เช่นการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษา ให้กับสตาร์ทอัพที่พัฒนาแอปฯ เกี่ยวกับการเรียนรู้ เป็นต้น
1
🦄 แต่เส้นทางสู่ยูนิคอร์นในอินโดนีเซียก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในตอนนี้เริ่มมีความกังวลถึงเม็ดเงินลงทุนที่ไม่กระจายไปยังสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ เนื่องจากในตอนนี้นักลงทุนต่างทุ่มเงินเพื่อสร้างความเติบโตให้กับสตาร์ทที่มีอยู่เดิมมากกว่า ขณะที่นักลงทุนบางรายก็ต้องทบทวนการลงทุนกับสตาร์ทอัพในอินโดนีเซีย หลังลงทุนไปแล้วไม่เห็นผลตามที่คาด
🦄 อัลดี เอเดรียน ผู้จัดการหน่วยลงทุน MDI Ventures เขียนบทความลงในนิคเคอิ เอเชีย เสนอว่า บรรดานักลงทุนควรหันกลับมาสนใจสตาร์ทอัพน้องใหม่ และอาจต้องช่วยผลักดันให้มีนักลงทุนสัญชาติอินโดนีเซียมากขึ้น จากเดิมที่พึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบให้เอื้อต่อการเกิดสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ซึ่งอาจหมายถึงการตั้งกองทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพ เหมือนกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียกำลังเริ่มทำแล้ว
1
โฆษณา