10 ธ.ค. 2020 เวลา 10:53 • ประวัติศาสตร์
• ประวัติศาสตร์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (Communist Party of Thailand) หรือ พ.ค.ท. เป็นชื่อของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งของไทย ซึ่งมีอุดมอุดมการณ์แนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ โดยยึดมั่นตามแนวทางของลัทธิมาร์กซ์ (Marxist) ลัทธิเลนิน (Leninist) รวมไปถึงลัทธิของเหมาเจ๋อตง (Maoist)
ธงประจำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2485 โดยมีนายพิชิต ณ สุโขทัย (พายัพ อังคะสิงห์) เป็นเลขาธิการคนแรกของพรรค
ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนี้ ถือกำเนิดขึ้นจากการแยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์ทะเลใต้ (South Seas Communist party) ที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์
พ.ค.ท. มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือการสร้างความเสมอภาคทางชนชั้น ชี้นำสังคมไทยโดยใช้หลักการของคอมมิวนิสต์ และต่อสู้เอาชนะระบบทุนนิยมโดยยุทธวิธี "ป่าล้อมเมือง" (คือการปลุกระดม และปลูกฝังแนวคิดคอมมิวนิสต์ให้กับคนไทยในชนบท ก่อนที่จะทำการล้อมเมือง เพื่อทำให้สังคมเมืองกลายเป็นคอมมิวนิสต์เช่นกัน)
2
ในระยะเริ่มแรก พ.ค.ท. มีบทบาทในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในระบบรัฐสภาของไทย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
แต่ต่อมา พ.ค.ท. ต้องเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ของพวกตน จากบนดินกลายสภาพเป็นขบวนการใต้ดินแทน เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้น ในปี พ.ศ. 2490 ประกอบกับการเขัามามีอิทธิพลในไทยของสหรัฐอเมริกา ในช่วงของสงครามเย็น
ช่วงปี พ.ศ. 2494 พ.ค.ท. ได้ประกาศให้การสนับสนุนการปฏิวัติโดยประชาชนด้วยวิธีการรุนแรง รวมไปถึงการทำสงครามยืดเยื้อ กับรัฐบาลของไทยในตอนนั้น
กองกำลังของ พ.ค.ท. ในป่า
ในปี พ.ศ. 2508 นับเป็นปีที่มีความสำคัญในทางอุดมการณ์ของ พ.ค.ท. เพราะเป็นปีที่ได้มีการเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ของพรรค โดยการสั่งให้ทุกหน่วยใช้กำลังเข้าต่อสู้ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของไทย (ซึ่งเป็นเผด็จการทหารในตอนนั้น) กลุ่มฝ่ายขวา รวมไปถึงขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาออกไปจากประเทศไทย
ตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา พ.ค.ท. ได้พยายามสร้างความเป็นปึกแผ่น โดยการร่วมมือกับสมาคมชาวนา กลุ่มกรรมกร และองค์กรฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเรียกรวมกันว่า "แนวร่วมผู้รักชาติไทย"
2
นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เพื่อสู้รบกับกองกำลังของรัฐบาลไทยด้วยกำลังอาวุธ รวมไปถึงมีการปลุกระดม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในจีนตอนใต้และลาว เพื่อโจมตีรัฐบาลไทยว่า กำลังรับใช้และเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดินิยมอเมริกาอยู่
การฝึกการใช้อาวุธของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย
ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้ส่งผลให้นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร ได้หลบหนีการปราบปรามของกลุ่มฝ่ายขวา และไปเข้าร่วมกับขบวนการของ พ.ค.ท. ซึ่งมีที่มั่นอยู่ภายในป่า ทำให้จำนวนสมาชิกของ พ.ค.ท. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
1
แต่ไม่นานหลังจากนั้น ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ ก็ได้ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่าง พ.ค.ท. กับรัฐบาลของไทย เริ่มเข้าสู่ความคลี่คลาย
ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และรัฐบาลของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ดำเนินนโยบายปรองดองภายในชาติ มีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึงสมาชิกของ พ.ค.ท. ส่งผลให้สมาชิกของ พ.ค.ท. หลาย ๆ คน ตัดสินในถอนตัวออกจากพรรค และเดินทางออกจากป่ากลับเข้าสู่เมืองอีกครั้ง
รวมไปถึงปัจจัยจากภายนอกประเทศ อย่างเช่น ความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รวมไปถึงการที่ พ.ค.ท. ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกต่อไป
ท้ายที่สุด ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ได้ส่งผลให้อำนาจและบทบาทหน้าที่ของ พ.ค.ท. เริ่มค่อย ๆ หมดลงไป ก่อนที่ พ.ค.ท. จะยุติบทบาทการต่อสู้ของตนลง ในช่วง พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา
1
ถึงแม้ว่า พ.ค.ท. จะยุติบทบาทลงไปแล้ว แต่ทางพรรคก็ยังคงมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของไทยอยู่บ้าง
โดยก่อนการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 พ.ค.ท. ก็ได้ทำเรื่องยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกปฏิเสธโดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญของไทย
สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคนสุดท้ายของ พ.ค.ท. ก็คือ นาย ธง แจ่มศรี (หรือสหาย ประชา ธัญญไพบูลย์) โดยเขาดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการของ พ.ค.ท. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
ธง แจ่มศรี เลขาธิการคนสุดท้ายของ พ.ค.ท.
และนี่ก็คือเรื่องราวของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตพรรคการเมืองที่มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของสงครามเย็น ช่วงเวลาของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มฝ่ายขวาและกลุ่มฝ่ายซ้ายในไทย ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการเมืองของไทย จนกระทั่งถึงตอนนี้
1
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา