Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
War Studies ศึกษาเรื่องสงคราม
•
ติดตาม
16 ธ.ค. 2020 เวลา 09:59 • การเมือง
ทำไมญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ถึงไม่มีอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งสองประเทศไม่จำเป็นต้องติดอาวุธนิวเคลียร์ เพราะอยู่ภายใต้การคุ้มครองของอเมริกา (US nuclear umbrella)...ปัญหาคืออเมริกาน่าเชื่อถือขนาดไหน?
(Source: Nikkei Asia)
ดูทรัมป์สิ...ทำความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับชาติพันธมิตรแปรปรวนไปหมด แล้วถ้าต่อไปอเมริกาเลือกประธานาธิบดีที่มีแนวคิดคล้ายทรัมป์อีกล่ะ?
ในขณะเดียวกัน แสนยานุภาพทางทหารของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว เกาหลีเหนือก็เร่งพัฒนาและทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
มันถึงเวลาที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน เพื่อจะ "การันตี" ความมั่นคงของประเทศหรือยัง?
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีความสามารถในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ภายในระยะเวลาสั้นๆก็จริง แต่การ go nuclear ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงและปัญหาที่มากมาย
เริ่มจากญี่ปุ่นก่อน สาเหตุที่ญี่ปุ่นไม่พร้อมจะมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง มีหลักๆ 3 ข้อ
(Source: UNPRI)
1. "No nuclear" คือ national identity หรือตัวตนของประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในประวัติศาสตร์ที่โดนโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ สำหรับคนญี่ปุ่น....อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความทรงจำอันเจ็บปวด ที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก
รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่นฉบับหลังสงคราม มีมาตรา 9 (Article 9) ที่ระบุว่าญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายสันติวิธีและจะไม่ทำให้ตัวเองมีศักยภาพทางสงครามใดๆ จะมีเพียงแค่กองกำลังป้องกันตนเอง (Japan Self-Defense Force ที่เรียกย่อๆว่า JSDF) เท่านั้น
ในส่วนของอาวุธนิวเคลียร์นั้น ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายหลักสามประการ (Three Non-Nuclear Principles) ได้แก่ การไม่ผลิต ไม่ครอบครอง และไม่นำเข้าอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งนี่ก็สอดคล้องกับกรอบของรัฐธรรมนูญมาตรา 9
ผู้นำญี่ปุ่นหลายคนพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 9 แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งเพราะประชาชนรวมใจกันออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง
ญี่ปุ่นภายใต้การนำของ ชินโซ อาเบะ ได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นในเรื่องการแก้ไขมาตรา 9 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังต่อต้าน จึงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะผลักดันเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
2. ถ้าญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านจะดิ่งลงเหวทันที และจะส่งผลให้เกิดการสะสมอาวุธ (arms race) ครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ชาติในเอเชีย...โดยเฉพาะจีนและสองเกาหลี...ยังฝังใจกับการกระทำอันโหดร้ายของจักรวรรดิญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
อย่างเกาหลีใต้เนี่ย....แม้จะเป็นอยู่ภายใต้ nuclear umbrella ของอเมริกาเช่นเดียวกับญี่ปุ่น แต่กลับระแวงญี่ปุ่นมากกว่าเกาหลีเหนืออีก
โพลที่จัดทำโดย think tank ของรัฐบาลเกาหลีใต้เมื่อปี 2019 แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีใต้เกือบครึ่ง (45.5%) จะสนับสนุนเกาหลีเหนือในกรณีที่เกาหลีเหนือเข้าสู่ภาวะสงครามกับญี่ปุ่น
ถ้าญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองขึ้นมาเมื่อไหร่ จีนและสองเกาหลีจะไม่อยู่เฉยแน่ จะต้องเร่งอัพเกรดกองกำลังนิวเคลียร์ของตน ชาติอาเซียนก็ต้องพัฒนาอาวุธสามัญ (conventional weapons) จำพวกรถถัง เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ เพื่อรับมือกับความตึงเครียดทางความมั่นคงที่พุ่งสูงขึ้น
คงไม่มีประเทศไหนบ้าใช้อาวุธนิวเคลียร์กันจริงๆหรอก เพราะฝ่ายที่โจมตีก่อนและฝ่ายตั้งรับสามารถตรวจพบอาวุธของอีกฝ่ายได้ตั้งแต่ปล่อยจรวด และสามารถตอบโต้กันได้รวดเร็วมาก.....ในพริบตาเดียวก็จะพังพินาศทั้งคู่ ไม่มีผู้ชนะ ตามหลักการ "โดนทำลายล้างคู่" (Mutually Assured Destruction ที่เรียกย่อๆว่า MAD)
แต่ความตึงเครียดในภูมิภาคน่าจะส่งผลให้มีการปะทะกันในสเกลเล็กมากขึ้น (เช่นในน่านน้ำที่เป็นพื้นที่พิพาท) การเจรจาและความร่วมมือในด้านอื่นๆ ก็จะติดขัดไปหมด
3. ความยุ่งยากในการติดตั้งระบบและโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นสำหรับการ launch อาวุธนิวเคลียร์
ด้วยข้อจำกัดทางการทหาร ที่ถูกตีกรอบไว้โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 9 ทำให้อาวุธยุโทปกรณ์ของญี่ปุ่น เป็นเชิงป้องกัน (defensive capabilities) มากกว่าเชิงรุก (offensive หรือ strike capabilities)
ซึ่งแน่นอนว่าการจะยิงจรวดนิวเคลียร์ ต้องใช้อาวุธเชิงรุก
ญี่ปุ่นต้องลงทุนพัฒนาและซื้อ strike capabilities ที่ราคาสูงลิ่ว (ตอนนี้เศรษฐกิจก็ไม่ดี ผลกระทบของโควิดก็ยาวหลายปี) ต้องฝึกคน ไหนจะหาสถานที่ติดตั้งอีก (คนญี่ปุ่นที่กลัวสงครามต้องไม่อยากให้รัฐบาลมาติดตั้ง strike capabilities ใกล้บ้านตนแน่ๆ เพราะจะกลายเป็นเป้าหมายหลักที่ศัตรูเล็งไว้)
มาดูฝั่งเกาหลีใต้บ้างดีกว่า เกาหลีใต้เคยพัฒนานิวเคลียร์อย่างลับๆในยุคของประธานาธิบดี พัคจุงฮี แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกไปเพราะเจอแรงกดดันจากอเมริกา
ในยุคปัจจุบัน ประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากสนับสนุนการติดอาวุธนิวเคลียร์ และเกาหลีใต้ก็มีกองกำลังทหารเหมือนประเทศ "ปกติ" (ก็คือไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนญี่ปุ่น) เพราะฉะนั้นดูเผินๆแล้วเหมือนสถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้เกาหลีใต้ go nuclear ได้ง่ายกว่าญี่ปุ่น
แต่ชีวิตจริงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด......
กลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนให้รัฐบาลติดอาวุธนิวเคลียร์ (Source: Belfer Center)
1. เกาหลีใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ
อันนี้เป็นเรื่องที่เกาหลีใต้กลัวมาก เพราะเกาหลีใต้เป็นชาติที่เติบโตและประสบความสำเร็จจากความร่วมมือและการค้าระหว่างประเทศ
เกาหลีใต้มี local market ที่เล็กกว่าญี่ปุ่นมาก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคืออุตสาหกรรมบรรเทิง เพราะฉะนั้นในกรณีที่โดนคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เกาหลีใต้จะเจ็บหนักกว่าญี่ปุ่น
เพื่อไม่ให้สับสน ขอแยก "นานาชาติ" เป็นสองกลุ่ม คือ "อเมริกาและพันธมิตร" กับ "จีน"
เริ่มจากกลุ่มแรกก่อน...ทำไมเกาหลีใต้ถึงมีความเสี่ยงมากกว่าญี่ปุ่น ที่จะโดนคว่ำบาตรจากอเมริกาและพวก?
เหตุผลก็เพราะว่าเป้าหมายของอเมริกาในคาบสมุทรเกาหลีคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (denuclearisation) เพราะฉะนั้นการที่เกาหลีใต้ติดอาวุธนิวเคลียร์ก็เท่ากับเป็นการขัดขวางอเมริกา แถมเป็นตัวเร่งให้เกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปอีก
ในส่วนของจีน...ความสัมพันธ์จีน-เกาหลีใต้จะตึงเครียดแน่ๆ จีนได้คว่ำบาตรเกาหลีใต้อย่างรุนแรงตอนที่เกาหลีใต้ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ (THAAD) ของอเมริกา...ลองนึกดูสิว่าถ้าเกาหลีใต้ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ จะโดนคว่ำบาตรหนักขนาดไหน
แม้ว่าการติดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีใต้จะไม่เกี่ยวกับอเมริกา แต่ในสายตาของจีน ยังไงอเมริกาและเกาหลีใต้ก็เป็นพันธมิตรทางการทหารกัน
2. ความร่วมมือระหว่างสองเกาหลีจะหยุดชะงัก
คิมจองอึน และ มุนแจอิน หลังการเซ็นปฏิญญาพันมุนจอม ปี 2018 (Source: Bulletin of the Atomic Scientists)
เกาหลีใต้มีอาวุธสามัญที่แข็งแกร่ง ได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากอเมริกา แต่ยังไม่มีคลังนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง
ฝ่ายเกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์ แต่สู้เกาหลีใต้ไม่ได้ในด้านอื่น
ต่างฝ่ายต่างมีเครื่องมือในการใช้คานอำนาจกัน แต่ถ้าวันหนึ่งเกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง....balance of power บนคาบสมุทรเกาหลีก็จะเปลี่ยนไปทันที ทำให้เกาหลีเหนือแพนิค รู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป
การตอบโต้ของเกาหลีเหนือก็คงหนีไม่พ้นการใช้มุขเก่าอย่างการตัดความร่วมมือ (นี่รวมไปถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารทางทหาร) กับเกาหลีใต้ และการทดสอบขีปนาวุธที่ถี่ขึ้น
ต้องอย่าลืมว่าสงครามเกาหลียังไม่สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ ความตึงเครียดที่ถาวรบวกกับช่องทางการเจรจาที่หายไป จะไม่เป็นผลดีแน่...
Reference List:
Bosack, Michael. “Japanese defense: The trouble with 'strike' capabilities”. Japan Times. Last modified July 3, 2020.
https://www.japantimes.co.jp/opinion/2020/07/03/commentary/japan-commentary/japanese-defense-trouble-strike-capabilities/
.
Daniels, Jeff. “South Koreans want their own nuclear weapons but doing so risk triggering a wider war”. CNBC. Last modified August 24, 2017.
https://www.cnbc.com/2017/08/24/south-koreans-want-their-own-nukes-but-doing-so-risks-wider-war.html
.
Hayes, Peter., and Moon Chung-in. “Should South Korea go nuclear, redux?”. APLN. Last modified February 19, 2016.
http://www.apln.network/activities/activities_view/Should_South_Korea_go_nuclear,_redux
.
Johnson, Jesse. “Nearly half of South Koreans would back North in war with Japan, while 40% 'have no idea’”. Japan Times. Last modified November 8, 2019.
https://www.japantimes.co.jp/news/2019/11/08/national/politics-diplomacy/nearly-half-south-koreans-back-north-vs-japan/
.
Mochizuki, Mike. “Three reasons why Japan will likely continue to reject nuclear weapons”. Washington Post. Last modified November 6, 2017.
https://www.washingtonpost.com/news/monkey-cage/wp/2017/11/06/japan-is-likely-to-retain-its-non-nuclear-principles-heres-why/
.
3 บันทึก
2
1
3
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย