11 ธ.ค. 2020 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
“ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม” มีอะไรบ้าง?
เมื่อเราเริ่มลงทุนในกองทุนรวมแล้ว สิ่งที่เราควรรู้เกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมอีกเรื่องหนึ่ง คือ “ค่าใช้จ่าย” หรือบางคนอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า “ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวม”
ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่นักลงทุนไม่ควรละเลย เพราะค่าใช้จ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมนั่นเอง
ข้อมูลส่วนนี้ในแต่ละกองทุนได้มีบอกอยู่แล้วว่ากองทุนนี้จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง สามารถดูได้จากหนังสือชี้ชวน (Fund Fact Sheet) เราอาจจะนำมาเป็นข้อมูลนี้มาประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนได้
ในโพสนี้เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม” ให้มากขึ้น ตามมาอ่านต่อด้านล่างได้เลย
“ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม” มีอะไรบ้าง?
“ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม” เป็นค่าใช้จ่ายที่นักลงทุนต้องจ่ายให้กับกองทุนรวม โดยเราสามารถ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง
2.ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสินทรัพย์ของกองทุนรวม
1️⃣ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง
จะเรียกเก็บเมื่อเกิดรายการซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนกองทุนรวม โดยคิดเป็น % ของมูลค่าการซื้อ ขาย หรือสับเปลี่ยนในแต่ละครั้ง
- Front-End Fee คือ ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน หรือ ค่าธรรมเนียมเมื่อลูกค้าซื้อกองทุน เช่น ถ้ากองทุนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1% เราซื้อกองทุนนี้ 1,000 บาท กองทุนก็จะหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ 10 บาท ทำให้เหมือนว่าเราซื้อกองทุนนี้เพียง 990 บาท
- Back-End Fee คือ ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือ ค่าธรรมเนียมเมื่อลูกค้าขายกองทุน เช่น ถ้ากองทุนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 1% เมื่อเราขายกองทุนนี้ 1,000 บาท กองทุนก็จะหักค่าธรรมเนียมส่วนนี้ 10 บาท ทำให้เราได้เงินคืนเพียง 990 บาท
- Switching Fee คือ ค่าธรรมเนียมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน จะเก็บเมื่อลูกค้าสับเปลี่ยนออกจากกองทุนหนึ่งไปยังอีกกองทุนหนึ่ง
- Brokerage Fee คือ ค่าใช้จ่ายในการซื้อขายหลักทรัพย์ จะคล้ายกับค่าธรรมเนียมเมื่อซื้อหรือค่าธรรมเนียมเมื่อขายข้างต้น แต่ค่าธรรมเนียมนี้จะรวมอยู่ในสินทรัพย์ของกองทุน เพื่อให้ผู้จัดการกองทุนใช้ชำระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของกองทุน แต่ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ข้างต้นที่จะถูกเก็บเพื่อเป็นรายได้ของบลจ. จะไม่ถูกนำเข้าไปรวมในสินทรัพย์ของกองทุนรวม
2️⃣ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากสินทรัพย์ของกองทุนรวม
จะหักจากสินทรัพย์ของกองทุนโดยเฉลี่ยไปทุกวัน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดในส่วนนี้รวมเรียกว่า ‘ค่าใช้จ่ายรวม (Total Expense Ratio : TER)’ จะคิดเป็น % ของ NAV ต่อปี ดังนั้น NAV ที่เราเห็นจึงเป็น NAV สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายนั่นเอง
- Management Fee คือ ค่าธรรมเนียมการจัดการ หรือค่าจ้างผู้จัดการกองทุนให้มาบริหารพอร์ตของกองทุนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน
- Trustee Fee คือ ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ จะทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน
- Registrar Fee คือ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน หรือค่าใช้จ่ายระบบงานทะเบียนผู้ถือหน่วย
- Other Fee คือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดทำรายงานประจำปี ค่าส่งเอกสาร ค่าสอบบัญชีกองทุน ค่าส่งเสริมการขาย เป็นต้น
สุดท้ายนี้ ตามหลักการทั่วไปมักจะบอกกันว่า ค่าใช้จ่ายของกองทุนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่นำไปคิด NAV ของกองทุน ถ้าค่าใช้จ่ายสูงก็อาจทำให้ NAV ลดลงมากและส่งผลกระทบกับผลตอบแทน
แต่ในขณะเดียวกัน กองทุนที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ไม่ได้หมายความว่ากองทุนนี้จะไม่ดีหรือไม่ควรลงทุน
ดังนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องซื้อแต่กองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด แต่ควรเลือกกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายดีกว่า
นอกจากนี้ การใช้ “ค่าใช้จ่ายกองทุนรวม” เป็นปัจจจัยในการเปรียบเทียบกองทุน ควรใช้เปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกัน หรือกองทุนที่มีนโยบายลงทุนเหมือนกัน เพื่อจะได้ประสิทธิภาพสูงสุดค่ะ
ฝากติดตามเพจ Cashury ด้วยนะคะ เป็นเพจที่ให้ความรู้พื้นฐานด้านการเงินการลงทุนค่ะ
ติดตาม Cashury ผ่านช่องทางอื่นๆ ได้ที่
#Cashury #Investment #FinancialAdvisor #Finance #ลงทุน #การเงิน #กองทุน #หุ้น #เริ่มต้นลงทุน #มือใหม่เริ่มต้นลงทุน #พื้นฐานการลงทุน #ออมเงิน #ค่าใช้จ่ายกองทุน #ค่าธรรมเนียมกองทุน
โฆษณา