12 ธ.ค. 2020 เวลา 15:04 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้ก่อนซื้อ "หุ้น KEX"
บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น KEX กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เร็ว ๆ นี้
วันนี้ เราจะลองมาสำรวจกันดูหน่อยว่าบริษัทฯ นี้ทำธุรกิจอะไร และมีความน่าสนใจแค่ไหน ไปติดตามกันครับ
ธุรกิจของบริษัท
ธุรกิจหลักของ Kerry คือ การให้บริการส่งพัสดุ โดยให้บริการใน 3 ภาคส่วนธุรกิจ คือ ภาคธุรกิจ C2C ภาคธุรกิจ B2C และภาคธุรกิจ B2B
ธุรกิจ C2C เป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับ Kerry มากที่สุด โดยลูกค้าหลักของธุรกิจในส่วนนี้ คือเหล่าแม่ค้าออนไลน์ และลูกค้าทั่วไป
ซึ่ง Kerry เองพยายามอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าโดยมีการเพิ่มช่องทางในการรับพัสดุให้มากขึ้น ทั้งลงทุนเปิดสาขาเองและร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Office Mate B2S รวมไปถึงร้านค้าทั่ว ๆ ไป
ทำให้จุดใหบริการเพิ่มขึ้นจาก 1,205 จุด ในปี 2560 มาเป็น 15,901 จุด ในปี 2563 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 136% ต่อปี
ธุรกิจ B2C เป็นส่วนที่สร้างรายได้รองลงมาให้กับ Kerry โดยลูกค้าหลักของธุรกิจในส่วนนี้ คือ เจ้าของ Maketplace ใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Shopee Lazada หรือ JD Central
แน่นอนว่าหาก e-commerce เริ่มบูมในประเทศไทย ธุรกิจส่วนนี้ก็จะได้รับผลประโยชน์เต็ม ๆ
ในส่วนของธุรกิจ B2B ของ Kerry เป็นส่วนที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทค่อนข้างน้อย ประมาณ 2% โดยลูกค้าหลักของธุรกิจในส่วนนี้ ก็จะมี ทรู ดิสทริบิวชั่น แอนด์ เซลส์ OPPO SAMSUNG เป็นต้น
ความสามารถในการแข่งขัน
สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ตัวธุรกิจ คือ ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่า Kerry ทำได้ค่อนข้างดี
โดยหากเราดูจากความสามารถในการคัดแยกและจัดส่งพัสดุของ Kerry จะเห็นว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
จากพัสดุที่จัดส่งได้จำนวน 71 ล้านชิ้น ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 274 ล้านชิ้น ในปี 2562 ติดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 324%
และหากดู 9 เดือนแรกของปี 2563 เทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2562 จะเห็นว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 201 ล้านชิ้น มาเป็น 223 ล้านชิ้น คิดเป็นการเติบโตประมาณ 11%
ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการภายในของบริษัทที่ดีขึ้น
นอกจากนั้นหากเราลองดูส่วนแบ่งการตลาดไม่ว่าจะเป็นจำนวนชิ้นที่ส่ง หรือแม้กระทั่งรายได้ของบริษัทฯ จะพบว่า Kerry ทิ้งห่างจากอันดับที่ 2 ค่อนข้างมาก
แนวโน้มผลประกอบการ
หากเราดูผลประกอบการย้อนหลังของบริษัทฯ ในช่วงปี 2560 - 2562 จะพบว่ารายได้และกำไรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
▪️ปี 2560 รายได้ 6,626 ล้านบาท กำไรสุทธิ 730.26 ล้านบาท
▪️ปี 2561 รายได้ 13,565 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,185.10 ล้านบาท
▪️ปี 2562 รายได้ 19,781 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,328.55 ล้านบาท
เมื่อคำนวณดูแล้วจะพบว่ารายได้มีการเติบโตเฉลี่ย 72.78% ต่อปี ในขณะที่กำไรมีการเติบโตเฉลี่ย 34.88% ต่อปี ซึ่งเติบโตน้อยกว่ารายได้
ขณะที่หากเราดูเทียบกันระหว่าง 9 เดือนแรกของปี 2563 เทียบกับปี 2562 จะพบว่ารายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 14,655 ล้านบาท มาเป็น 14,688 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตประมาณ 0.23%
ส่วนกำไรเติบโตจาก 900 ล้านบาท มาเป็น 1,030 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตประมาณ 14.44% ซึ่งมากกว่าการเติบโตของรายได้
โครงสร้างรายได้
หากเราดูโครงสร้างรายได้ของ Kerry จะรายได้ส่วนใหญ่มาจาก ภาคธุรกิจ C2C ตามมาด้วย ภาคธุรกิจ B2C และสุดท้าย คือ ภาคธุรกิจ B2B
เมื่อพิจารณาการเติบโตของรายได้แต่ละกลุ่มจะพบว่า
▪️ภาคธุรกิจ C2C มีรายได้เติบโตจาก 3,627 ล้านบาท ในปี 2560 มาเป็น 10,231 ล้านบาท ในปี 2562 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 67.95% ต่อปี
▪️ภาคธุรกิจ B2C มีรายได้เติบโตจาก 2,644 ล้านบาท ในปี 2560 มาเป็น 8,948 ล้านบาท ในปี 2562 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 83.96% ต่อปี
▪️ภาคธุรกิจ B2B มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 354 ล้านบาท ในปี 2560 มาเป็น 426 ล้านบาท ในปี 2562 คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย 9.70% ต่อปี
และหากเปรียบเทียบการเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กับ 9 เดือนแรกของปี 2562 จะพบว่า
▪️ภาคธุรกิจ C2C มีรายได้เติบโตจาก 7,772 ล้านบาท มาเป็น 7,914 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 1.83%
▪️ภาคธุรกิจ B2C มีรายได้เติบโตจาก 6,443 ล้านบาท มาเป็น 6,503 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 0.93%
▪️ภาคธุรกิจ B2B มีรายได้ลดลงจาก 314 ล้านบาท มาเป็น 256 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 18.47%
ทำให้สัดส่วนรายได้ในช่วง 9 เดือนในปี 2563 เทียบกับปี 2562 แทบจะไม่แตกต่างกันเลย
ตัวเลขสำคัญทางการเงิน
เมื่อพิจารณาจากงบการเงิน เราจะได้ตัวเลขสำคัญทางการเงินของ Kerry ออกมาตามนี้
ซึ่งจะพบว่า ความสามารถในการบริหารวงจรเงินสด ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ ทำได้ค่อนข้างดี
เหตุผลในการเพิ่มทุน
Kerry มีเหตุผลหลักในการเพิ่มทุนอยู่ 3 ประเด็น คือ
1. ขยายเครือข่ายจัดส่งพัสดุด่วน ลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน
2. ชำระหนี้เงินกู้
3. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
ซึ่ง Kerry ได้แจ้งไว้ในหนังสือชี้ชวนว่าต้องการเพิ่มความสามารถในการคัดแยกพัสดุจาก 1.9 ล้านชิ้นต่อวัน ในปัจจุบัน ไปเป็น 3 ล้านชิ้นต่อวัน ภายในปี 2566
ภาพหลังเพิ่มทุน
เมื่อเพิ่มทุนแล้วงบดุลของ Kerry จะมีหน้าตาประมาณนี้
ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้นมาประมาณ 7,331 ล้านบาท หนี้สินลดลงไปประมาณ 800 ล้านบาท และส่วนของทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 8,131 ล้านบาท หรือประมาณ 367.9%
ส่งผลให้ตัวเลขสำคัญทางการเงินเปลี่ยนไปตามนี้
ซึ่งจะพบว่าอัตราส่วนสภาพคล่อง และความสามารถในการบริหารหนี้สินดีขึ้นมาก ส่วนความสามารถในการบริหารสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรลดลงเล็กน้อย
ราคา
หุ้น KEX เปิดราคา IPO มาที่ 25 - 28 บาท คิดเป็น P/E ประมาณ 29.83 - 33.41 เท่า หากลองไปเปรียบเทียบกับบริษัท ZTO Express และ CJ Logistics บริษัทขนส่งพัสดุเจ้าใหญ่ในจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นดังนี้
ซึ่งจะเห็นว่า KEX สามารถบริหารเงินสด สร้างรายได้จากสินทรัพย์ รวมถึงสร้างผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นได้ค่อนข้างดี
ติดตาม “InvesTalk – สนทนาภาษานักลงทุน” ได้ทาง
ขอบคุณครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา