12 ธ.ค. 2020 เวลา 09:31 • ประวัติศาสตร์
• การเมือง 101
อนาธิปไตย (Anarchy) คืออะไร?
สำหรับในบทความนี้ เราจะขอนำทุก ๆ คน ไปทำความรู้จักกับแนวคิดทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง แนวคิดที่ถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่ไร้ซึ่งระเบียบและแบบแผนมากที่สุด และนี่ก็คือเรื่องราวของ "อนาธิปไตย" (Anarchy) นั่นเองครับ
อนาธิปไตยเป็นชื่อของแนวคิดทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง โดยมีหัวใจสำคัญ คือการปฏิเสธอำนาจของรัฐบาลหรือผู้นำ ปฏิเสธชนชั้นภายในสังคม และอำนาจในการปกครองจะต้องอยู่กับประชาชนแต่เพียงผู้เดียว
1
พูดง่าย ๆ ก็คือ อนาธิปไตยคือการปกครองที่ประชาชนจะเป็นผู้ที่ปกครองประเทศกันเอง ไม่ต้องการรัฐบาลหรือผู้นำใด ๆ รวมไปถึงกฎเกณฑ์และระเบียบต่าง ๆ ที่จะมาบงการหรือควบคุมชีวิตของพวกเขา
2
อนาธิปไตยยังมีความหมาย สื่อถึงความโกลาหล วุ่นวาย ความอันตราย รวมไปถึงยังใช้เรียกสภาวะที่ล่มสลายของประเทศได้อีกด้วย อนาธิปไตยในบางครั้ง ยังถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่มีความสุดโต่งและเป็นซ้ายจัด (Far-left) มากกว่าแนวคิดอย่างเช่น คอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมเสียอีก
สัญลักษณ์ตัวเอ (A) ซึ่งย่อมาจากคำว่า Anarchy เป็นสัญลักษณ์สำคัญของอนาธิปไตย
แนวคิดแบบอนาธิปไตยนี้ ได้ถูกพูดถึงและได้รับความนิยม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ในกลุ่มของพวกโบฮีเมียน (Bohemian) พวกยิปปี้ (Yippies) รวมไปถึงกลุ่มพังค์ร็อค (Punk rock)
โดยรากฐานของอนาธิปไตย สามารถย้อนกลับไปได้ ตั้งแต่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
โดยคำว่า "Anarchy" มีที่มาจากคำในภาษากรีกคำว่า "anarkhia" ที่มีความหมายว่า "ไม่มีผู้ปกครอง"
แนวคิดแบบอนาธิปไตย สามารถแบ่งออกแยกย่อยได้หลายรูปแบบด้วยกัน โดยรูปแบบที่สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ อนาธิปไตยแบบปัจเจกบุคคล (Individualist Anarchists) และอนาธิปไตยแบบสังคม (Social Anarchists)
โดยอนาธิปไตยแบบปัจเจกบุคคล มีแนวคิดที่ว่า มนุษย์ในแต่ละคน หรือแต่ละปัจเจกบุคคลนั้น จะมีสิทธิและเสรีภาพเป็นของตนเองอย่างเต็มที่ โดยที่จะต้องไม่มีการควบคุมหรือถูกจำกัดจากกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนอนาธิปไตยแบบสังคม จะมีแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนหรือในแต่ละปัจเจกบุคคล ต่างก็มีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกัน แต่ทุกคนจะต้องอยู่ร่วมกัน และมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน มีการแบ่งบันทรัพยากรและทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน (แนวคิดคล้ายคลึงกับคอมมิวนิสต์)
ดังนั้นความแตกต่างระหว่างอนาธิปไตยแบบปัจเจกบุคคล กับอนาธิปไตยแบบสังคม ก็คือ อนาธิปไตยแบบปัจเจกบุคคลจะมองในมุมของ จุลภาค คือมองเป็นรายบุคคล ส่วนอนาธิปไตยแบบสังคมจะมองในมุมของมหภาค คือมองในลักษณะของกลุ่มคนนั่นเอง
สำหรับในปัจจุบัน ก็ยังคงมีกลุ่มคนที่สนับสนุนแนวคิดแบบอนาธิปไตยอยู่ โดยพวกเขาจะมีแนวคิดที่ต่อต้านในหลาย ๆ อย่าง ทั้งต่อต้านสงคราม, ต่อต้านระบบทุนนิยม รวมไปถึงการต่อต้านสภาวะโลกาภิวัตน์ของโลกอีกด้วย
เรียกได้ว่าตลอดช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ แนวคิดแบบอนาธิปไตย ก็ยังคงได้รับการพูดถึงและยังมีการเคลื่อนไหวในทางสังคม รวมไปถึงทางการเมืองของโลกจนถึงปัจจุบัน
*** Reference
#HistofunDeluxe
โฆษณา