14 ธ.ค. 2020 เวลา 10:20
•ไม้ครูคู่วัดอินทร์• หนึ่งในเก้าเครื่องรางยอดนิยมของเมืองไทย ที่มีกรรมวิธีในการสร้างที่ซับซ้อนมากที่สุด เพราะตามตำรานั้น เค้าว่ากันว่าไม้ครูเป็นวัตถุอาถรรพณ์ ก่อนที่จะทำจะต้องหาไม้ไผ่สีสุก (บางตำราก็ว่าไม้รวกโขลงช้างข้าม) ที่เห็นว่าถูกฟ้าผ่าล้มและปลายทอดยาวไปทางทิศตะวันออกทั้งกอ และต้องนั่งเฝ้าดูภายใน ๓-๗ วัน ถ้ามีช้างโขลงมาพบแล้วเดินข้ามกอไผ่ไปทั้งโขลงจึงจะใช้ได้
ก่อน จะตัดต้องประกอบพิธีพลีกรรม บอกกล่าวเทพยดา พระอิศวรเจ้า เจ้าที่เจ้าทาง โดยขอตัดไม้ไผ่ลำที่ทอดยาวไปทางทิศตะวันออก และตัดเอาส่วนปลายเพียง ๓ ปล้องเท่านั้น
ในตำราระบุไว้ว่า ไม้ไผ่ลำนี้เปรียบประดุจไม้ยันพระวรกายของท้าวเวสสุวรรณ เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ท่านก็นำมาจิ้มบนศพที่กล้าแข็ง คือ ศพคนตาย วันเสาร์เผาวันอังคาร ให้ครบ 9 ศพ จึงเป็นเสร็จพิธี ซึ่งตลอดระยะเวลาในการเดินธุดงค์ของท่านนานถึง ๓๐ ปี จึงทำได้สำเร็จ จากนั้นท่านก็จะนำไม้ท่อนนี้เก็บเอาไว้ มาผ่าให้เป็นแผ่นเล็กๆเรียกว่า ตอก เตรียมไว้สำหรับลงพระนามที่ได้รับจากเบื้องบน
โดยหลวงปู่ท่านจะมองขึ้นไปบนท้องฟ้าครั้งละนานๆ บางครั้งก็ไม่นาน
เคยมีคนถามหลวงปู่ภูว่า หลวงปู่มองขึ้นฟ้าทำไม ท่านตอบว่า ”กูรอพระนามจากเบื้องบน” เมื่อได้พระนามจากเบื้องบนมาเเล้ว ท่านก็จะทำการบรรจุไม้พระนามเข้าไปในไม้ที่เจาะเตรียมเอาไว้ บรรจุด้วยรังหมาร่า ในตาพระพุทธ (รังหมาร่าที่ไปทำรังที่ตาพระพุทธรูป) แล้วตอกด้วยลิ่มไม้ปิดเอาไว้ เป็นอันเสร็จพิธี เดิมเรียกกันว่า นิ้วเพชรพระอิศวร หรือ กระบองท้าวเวสสุวรรณ ต้นชี้ตายปลายชี้เป็น
ตามตำราท่านว่าให้เซ่นทุกวันพระด้วยหมูนอนตอง (หมูสามชั้นต้มสุกวางบนใบตอง)
โฆษณา