ไฟ RGB ที่เราใช้แต่งคอมฯ กันอยู่นี้ที่จริงแล้วมันก็คืออุปกรณ์ที่เรียกว่า LED (Light-Emitting Diodes) หรือเราอาจจะได้ยินในชื่อของ “ไดโอดแปล่งแสง” และตามปกติแล้ว LED แต่ละดวงจะมีไฟเฉพาะตัวที่เป็นสีเดียวแล้วแต่สารประกอบที่นำมาสร้างเช่น แดง, น้ำเงิน หรือเขียว (รวมถึงสีอื่น ๆ เช่นสีส้ม, สีขาว) ด้วยเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมากขึ้นทำให้สามารถผลิต LED เพียงดวงเดียวแต่แสดงเป็นสีสันได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ลักษณะของไฟ LED (สำหรับแต่งคอมฯ)
ลักษณะของไฟ LED ที่เราจะพูดถึงนี้คือหลอดไฟดวงเล็ก ๆ ที่เราใช้ตกแต่งในเครื่องคอมฯของเรานะครับไม่รวมไปถึงพวกหลอดไฟ LED ส่องสว่างที่ใช้ใฟ 220V เพื่อให้ง่ายเราก็ขอเล่าด้วยรูปก็แล้วกันนะครับ
นี่คือ LED แบบดั้งเดิมแบบสีเดียวที่เราเห็นกันทั่วไปในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ LED หนึ่งดวงก็จะมีแบบสีเดียว LED แบบนี้ถูกใช้ในการนำมาแต่งคอมกันแบบง่าย ๆ โดยไม่ได้มีอะไรมากกว่าเอาไปซ่อนตามซอกมุมต่าง ๆ ให้มีแสงมีสีออกมาเท่านั้นเอง
รูปด้านล่างนี้เป็น LED ที่สามารถแสดงได้สามสีพร้อมกันหรือจะเลือกใช้สีใดสีหนึ่งก็ได้แล้วแต่การออกแบบของวงจร ซึ่งเราสามารถควบคุมได้ด้วยการส่งสัญญาณไฟฟ้าเข้าที่ขั้วไฟฟ้าของ LED ตามสีที่ต้องการ ปัจจุบันเราจะไม่ค่อยได้เห็น LED รูปทรงนี้กับอุปกรณ์แต่งคอมฯ มากนัก แต่ยังพอพบเห็นได้ในคีย์บอร์ดเกมมิ่งทั้งหลายแต่ว่าขนาดของหลอด LED ก็จะมีรูปทรงที่เล็กลง เพื่อให้ไปอยู่ตรงตำแหน่งของคีย์บอร์ดแต่ละปุ่มได้
ส่วน RGB LED ที่นิยมใช้กันอยู่ในเครื่องคอมฯ หรืออุปกรณ์คอมฯ ในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็น LED แบบ SMD (Surface-mount devices) ที่จะมีรูปร่างและลักษณะค่อนข้างแบนใช้พื้นที่น้อยสามารถสอดแทรกไปกับอุปกรณ์ที่มีพื้นที่จำกัดได้ดี LED แบบ SMD เองก็จะมีทั้งแบบสีเดียว และแบบหลายสีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม SMD LED ที่แสดงได้หลายสีในยุคแรก ๆ อาจจะผสมแสงออกมาได้ไม่สวยงามนักรวมไปถึงแสงที่เป็นสีขาวนั้นไม่สามารถทำให้ออกเป็นขาวจริง ๆ ได้ จึงมีการผลิต LED ที่เป็นแบบ 4 สี ขึ้นมาได้แก่แดง เขียว น้ำเงิน และแสงสีขาว เวลาต้องการแสงสีขาวเราก็จะปิดการทำงานของสีอื่น ๆ ลงทั้งโหมดแล้วป้อนไฟให้กับส่วนที่เป็นสีขาวเพียงอย่างเดียว
และเมื่อเทคโนโลยีในการผลิต LED ก้าวหน้าขึ้นไปอีกทำให้เราสามารถผลิต LED ที่ให้แสงที่สวยงามทำให้เราสามารถผสมแสงสีที่ออกมาได้มากมายถึง 16 ล้านสีกันเลยทีเดียว รวมถึงแสงสีขาวด้วย ซึ่งเราก็คงจะได้เห็นกันไปบ้างแล้วไม่ว่าจะเป็นไฟ LED บนคีย์บอร์ด ไฟ LED ที่อยู่ในพัดลม และ ไฟ LED Strip ที่เป็นไฟ LED สำหรับแต่งภายในเคสนั่นเอง
แต่เราสังเกตไหมครับว่าเวลาเรากำหนดสีสันให้กับ RGB LED ในแต่ละอุปกรณ์เราก็มักจะกำหนดได้ในลักษณะเป็นโซน ๆ เช่นถ้าใช้ไฟ RGB LED Strip หรือไฟ RGB LED ที่เป็นสาย แล้วมีหลอด RGB LED ติดอยู่บนสาย ถ้าเรากำหนดให้แสดงสีแดงก็จะแดงทั้งเส้น กำหนดให้เป็นเขียวก็จะเขียวทั้งเส้น ทั้ง ๆ ที่บน RGB LED Strip นั้นอาจจะมีหลอด RGB LED มากมายถึง 10-12 ดวงก็ตาม อย่างเช่น Thermaltake Lumi Color 256C RGB Magnetic LED Strip Control Pack ซึ่งเป็นชุด RGB LED ที่สามารถปรับแต่งไฟได้ก็จริงแต่ผู้ใช้ต้องเลือกว่าจะใช้สีใดสีหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีจุดเด่นตรงที่สามารถปรับได้ถึง 256 โทนสี
(Thermaltake Lumi Color 256C RGB Magnetic LED Strip Control Pack)
แต่ถ้าจะให้พูดถึง RGB LED ที่ทันสมัยที่สุดที่นำมาติดตั้งกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดสีสันให้กับ LED แต่ละดวงได้ด้วยตนเองก็คือ Addressable RGB LED หรือบางคนก็เรียกกันย่อ ๆ กว่า ARGB LED (ARGB LED ก็มีการจัดรูปออกมาหลายอย่างแต่วันนี้เราจะพูดถึงเฉพาะแบบที่ถูกนำมาใช้กับการตกแต่งคอมพิวเตอร์เท่านั้นนะครับ)
ความแตกต่างระหว่าง ARGB LED และ RGB LED
สิ่งที่เป็นความแตกต่างระหว่าง ARGB LED กับ RGB LED ก็คือ ARGB LED ทำงานในแบบดิจิทัล ส่วน RGB LED ทำงานในแบบแอนะล็อก ถ้าเราลองย้อนไปดูหลักการทำงานของ RGB LED มันจะทำงานตามการป้อนแรงดันไฟฟ้าให้กับขาสัญญาณตามสีของ LED โดยตรง แต่ที่เราเห็นว่า RGB LED บางรุ่นต้องทำงานผ่านกล่องควบคุมนั้นก็เป็นเพียงแค่ตัวปรับเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าให้กับ RGB LED เท่านั้น
แต่ในขณะที่ ARGB LED จะทำงานได้นั้นจำเป็นต้องได้ข้อมูลในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลมาจากชุดควบคุมก่อน แล้วภายในหลอดไฟแต่ละดวงจะมาชิปเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่เรียกกันว่าเป็นไดรเวอร์หรือตัวขับ ซึ่งจริง ๆ เจ้าชิปไดรเวอร์นี้มันทำหน้าที่ถอดรหัสข้อมูลที่ถูกส่งมาจากชุดควบคุมเพื่อสร้างสัญญาณไฟฟ้าไปส่งให้กับ ARGB LED อีกทอดหนึ่ง นั่นทำให้เราสามารถควบคุมการติดดับหรือกำหนดสีของไฟแต่ละดวงได้อย่างอิสระต่อกัน อย่างเช่น Thermaltake Pacific Lumi Plus LED Strip 3Pack หรือชุดพัดลมระบายความร้อนและอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Thermaltake ที่รองรับ TT RGB PLUS จะใช้ ARGB LED
(Thermaltake Pacific Lumi Plus LED Strip 3Pack)
ลองดูภาพต่อไปนี้เพื่อความเข้าใจมากขึ้น ภาพแรกเป็น RGB LED แบบธรรมดาเราจะเห็นได้วางตรงจุดเชื่อมต่อจะมีสัญญาณเป็นไฟ +12V (หรืออาจจะเป็นค่าอื่น ๆ แล้วแต่การออกแบบ) จากนั้นก็จะเป็นจุดเชื่อม G (Green), R (Red), B (Blue) และถ้าเป็นรุ่นที่มีไฟขาวแยกเราก็อาจจะได้เห็น W (White) เพิ่มมาอีกหนึ่งจุด
ส่วนภาพต่อไปจะเป็น ARGB LED ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าจุดเชื่อมต่อสัญญาณจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป แน่นอนว่ามีจุดต่อไฟ +5V และ Gnd หรือกราว์ด จุดเชื่อมอีกชื่อที่น่าสนใจคือใช้คำว่า DIN หรือ Data Input และมีจุดเชื่อมสำหรับ ARGB LED ตัวต่อไปใช้คำว่า DO หรือ Data Out (ARGB LED ส่วนใหญ่จะใช้ไฟ +5V เพราะมีไดรเวอร์เป็นตัวช่วยขับกระแสด้วยในตัวจึงไม่จำเป็นต้องใช้ไฟมากเหมือนกับ RGB LED ธรรมดา ทีต้องเพื่อเรื่องการสูญเสียเรื่องแรงดันและกระแสเมื่อต่อใช้เป็นจำนวนมาก)
ภาพตัวอย่างของ ARGB LED และ RGB LED ที่เรานำมาให้ดูนั้นเป็นรูปแบบง่าย ๆ ที่ช่วยให้เข้าใจการทำงาน แต่การใช้งานจริงของอุปกรณ์แต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นก็อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากนี้ครับ
ก็อย่างที่บอกไปครับว่า ARGB LED นั้นทำงานในรูปแบบของดิจิทัล และจำเป็นต้องใช้กล่องควบคุมซิ่งภายในของมันก็จะเป็นไมโครคอนโทรลเลอร์ที่ต้องเขียนโปรแกรมขึ้นมาควบคุมต่างหากไม่ใช่ต่อไฟแล้วทำงานได้เลย อ้อสำหรับผู้ใช้ทั่วไปก็ไม่ต้องตกใจเพราะอุปกรณ์ของ Thermaltake ได้ทำออกมาแบบสำเร็จรูป ติดตั้ง ต่อไฟ ลงซอฟต์แวร์ก็ควบคุมได้เลย และภาพด้านล่างนี้คือตัวอย่างของลักษณะของสัญญาณที่ส่งจากกล่องควบคุมไปยัง ARGB LED ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันมีลักษณะเหมือนกับการส่งข้อมูลของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อื่น ๆ เลยที่ต้องมีทั้งสัญญาณนาฬิกาและข้อมูล ถ้าลองย้อนไปดูภาพกล่องควบคุมไฟ RGB LED Strip ของ Thermaltake ทั้งสองรุ่นเราจะเห็นได้ว่ารุ่น Lumi Plus LED ที่ใช้ไฟ ARGB LED คอนเน็คเตอร์ที่กล่องควบคุมจะมีพินหรือจำนวนขาสัญญาณที่ส่งออกมามากกว่ารุ่น Lumi Color 256
จากภาพสัญญาณนาฬิกาทางด้านบนเราจะเห็นได้ว่าการส่งข้อมูลมายัง ARGB LED ให้ทำงานได้นั้นไม่ใช่แค่จ่ายไฟให้กับ LED เฉย ๆ แต่ต้องประกอบไปด้วยสัญญาณสองส่วนคือชุดแรก 8 Bit Command Word และชุดที่สองจะเป็น 8 ฺBit Data ทำให้เราสามารถกำหนดการติดดับ รูปแบบ แสงสีของ ARGB LED แต่ละดวงได้อย่างอิสระ นี่คือการทำงานคร่าว ๆ ของ ARGB LED ครับ
ARGB LED VS RGB LED ใครดีกว่ากัน
ส่วนการเลือกใช้งานนั้นจะบอกว่า ARGB LED ดีกว่า RGB LED แบบธรรมดาก็คงจะไม่ถูกต้องนัก คงต้องดูตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานมากกว่าว่าเราต้องตกแต่งในรูปแบบใด เช่นต้องการไฟเพียงสีใดสีหนึ่งไม่ต้องการปรับเปลี่ยนอะไรมาก RGB LED ก็ใช้งานง่ายตรงไปตรงมาและมีราคาประหยัดกว่าในขณะที่ ARGB LED จำเป็นที่ต้องใช้การควบคุมผ่านทางซอฟต์แวร์ที่บางครั้งความสะดวกอาจจะมีน้อยกว่า แต่ก็จะให้ทางเลือกในการปรับแต่งที่มากกว่าอย่างนี้เป็นต้นครับ
TT RGB PLUS
สำหรับใครที่ต้องการใช้อุปกรณ์ของ Thermaktake ที่สามารถปรับแต่งไฟ RGB ได้อย่างอิสระก็คงให้มองหาอุปกรณ์ที่มีสัญญลักษณ์ TT RGB PLUS ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ของ Thermaltake ได้เท่านั้นแต่ยังสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์แบรนด์อื่น ๆ ได้อีกด้วย (ต้องดูรายละเอียดของแต่ละอุปกรณ์) โดยการทำงานของ TT RGB PLUS นั้นก็จะสามารถสั่งงานได้ทั้งผ่านซอฟต์แวร์บนวินโดวส์ และผ่านทางแอปพลิเคชันผ่านทางสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android นอกจากนี้แล้วยังสามารถสั่งงานด้วยเสียงผ่านทาง TT AI VOICE CONTROL ได้อีกด้วย