19 ธ.ค. 2020 เวลา 13:32 • อาหาร
คู่มือนักชิม
Cr:shellshuanshim,guide.michelin
9 ธันวาคม ที่ผ่านมาหนังสือแนะนำร้านอาหารชื่อดังของโลก Micheline Guide ได้ประกาศรายชื่อร้านอาหารจำนวน 106 แห่ง ที่ได้รับคัดเลือกให้แสดงสัญลักษณ์ "บิบ กูร์มองด์ (Bib Gourmand)"
แล้ว Micheline Guide (มิชลิน ไกด์)คือใคร ใช่มิชลินเดียวกันที่ขายยางรถหรือเปล่า
ก็เลยหาข้อมูลและนำมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมๆกันไปกับความรู้เกี่ยวกับนักชิมในเมือง
ไทยไปด้วย
Cr:guide.michelin
ประวัติความเป็นมาของมิชลิน ไกด์
ทั้งหมดเริ่มต้นที่เมือง Clemont-Ferrand ในภาคกลางของฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1889
สองพี่น้อง Andre และ Edouard Michelin ได้ก่อตั้งบริษัทขายยางรถขึ้น ด้วยวิสัย-ทัศน์อันแรงกล้า ทั้งๆที่ในตอนนั้นทั้งประเทศฝรั่งเศสมีรถยนต์อยู่ไม่ถึง 3000 คัน
สองพี่น้องตระกูล Michelin Cr:creativemoment.com
เพื่อที่จะเป็นการกระตุ้นยอดขายรถยนต์ ซึ่งจะทำให้ยอดจำหน่ายยางเพิ่มขึ้นตามไปด้วย พวกเขาจึงจัดทำไกด์บุ๊คเล่มเล็กๆที่มีข้อมูลที่ใช้งานง่ายสำหรับนักเดินทาง
เช่น แผนที่ ,วิธีการเปลี่ยนยาง,เติมน้ำมันได้ที่ไหน และที่วิเศษสุดก็คือประสบการณ์แสนวิเศษที่เพิ่มเติมเข้าไปในการเดินทางนี้ คือรายชื่สถานที่สำหรับรับประทาน
อาหารหรือที่พักแรมการเดินทาง
พวกเขาทำเช่นนี้เป็นเวลากว่าสองทศวรรษโดยที่มิได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆในไกด์บุ๊คดังกล่าวเลย กระทั่งวันหนึ่งที่ Andre ไปทำธุรกิจที่ร้านยางแห่งหนึ่งและพบว่า
ไกด์บุ๊คแสนรักของเขาถูกเอาไปใช้รองโต๊ะทำงาน ตอนนั้นเองที่เขาตัดสินใจจะจัดทำไกด์บุ๊คที่ดีกว่าเดิม โดยให้ชื่อว่า MICHELIN GUIDE และวางจำหน่ายเป็นครั้ง
แรกในปี ค.ศ. 1920 ในราคา 7 ฟรังก์ ด้วยยึดในหลักคิดที่ว่า "คนเราจะให้ความ
เคารพอย่างแท้จริงก็เฉพาะกับสิ่งที่พวกเขาต้องจ่ายให้เท่านั้น" หรือกล่าวๆง่ายก็คือคนมักไม่ให้ราคากับของที่ได้มาฟรีๆนั่นเอง
Cr:guide.michelin.com
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Michelin Guide ก็เริ่มได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้-
อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขามิได้หยุดอยู่กับไกด์บุ๊คแบบเดิม เขายังคงพัฒนาต่อไป
ในช่วงปี พ.ศ. 2463-2472 เป็นครั้งแรกที่คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ บรรจุรายชื่อโรงแรมใน
กรุงปารีส รายชื่อร้านอาหารโดยจำแนกตามกลุ่มประเภท ตลอดจนยกเลิกการตีพิมพ์โฆษณาทั้งหมดในคู่มือ
Cr:guide.michelin
เมื่อตระหนักว่าข้อมูลแนะนำร้านอาหารของคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ มีบทบาทและอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สองพี่น้องตระกูลมิชลินจึงได้สรรหาและจัดตั้งทีม “นักชิมลึกลับ” หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “ผู้ตรวจสอบร้านอาหาร” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สำรวจและประเมินร้านอาหารโดยไม่เปิดเผยตัว
ในปี พ.ศ. 2469 คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ได้เริ่มมอบรางวัลดาวมิชลินให้กับร้านอาหารรส
เลิศ โดยในระยะแรกมีการให้ดาวเพียง 1 ดวงเท่านั้น ห้าปีต่อมาจึงมีการจัดลำดับดาวมิชลินออกเป็นร้านที่ไม่ได้รับดาวมิชลิน และร้านที่ได้รับดาวมิชลิน 1, 2 และ 3 ดวง จากนั้นในปี 2479 จึงมีการตีพิมพ์หลักเกณฑ์การจัดอันดับร้านที่ได้รับดาวมิชลิน
การดำเนินการอย่างแตกต่างและจริงจังทำให้ในช่วงหลังของทศวรรษที่ 20 คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ติดอันดับหนังสือขายดี ปัจจุบันคู่มือฉบับนี้ทำการประเมินร้านอาหารและที่พักมากกว่า 40,000 แห่งในกว่า 24 เขตแดนทั่วทั้ง 3 ทวีป โดยมียอดจำหน่ายทั่ว
โลกสูงกว่า 30 ล้านเล่ม
Cr:guide.michelin
ก่อนหน้านี้คนไทยส่วนมากยังไม่ทราบหรือรู้จักเกี่ยวกับไกด์บุ๊คนี้กันในวงกว้างนัก
ยังจำกัดอยู่ในหมู่นักชิมชั้นสูง สาเหตุหนึ่งเพราะก่อนหน้านี้ทางมิชลินยังไม่ได้เข้ามาสำรวจในประเทศไทย คนจะรู้จักก็คือคนที่สามารถเดินทางไปรับประทานตามไกด์
บุ๊คในต่างประเทศเท่านั้น
จนกระทั่งในช่วงปลายปี ค.ศ. 2017 ที่มิชลิน ไกด์ได้เปิดตัว The MICHELIN guide 2018 เป็นครั้งแรกด้วยความร่วมมือและเชิญชวนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Cr:guide.michelin
ในฉบับดังกล่าวมีร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลินจำนวนทั้งหมด 17 แห่ง แบ่งเป็นร้าน 2 ดาว 3 แห่ง ร้านที่ได้รับ 1 ดาว 14 แห่ง และยังมีร้านที่ได้รับสัญลักษณ์ Bib
Gourmand อีก 35 แห่ง
เกณฑ์การตัดสินของทางมิชลิน ไกด์นั้น ใช้ทั้งหมด 5 ข้อ ด้วยกัน
1.คุณภาพของอาหาร
2.ความชำนาญในรสชาติและเทคนิคในการปรุง
3.ลักษณะเฉพาะตัวที่่เชฟใช้ในการนำเสนอเอาไว้ในประสบการณ์การรับประทาน
อาหาร
4.คุ้มค่ากับราคา
5.ความสม่ำเสมอในแต่ละครั้งที่มีการเข้าตรวจสอบ
นอกจากจะขึ้นชื่อว่ามีชื่ออยู่ในมิชลิน ไกด์แล้ว ทางมิชลินยังได้จัดแบ่งร้านที่ได้รับ
การรับรองออกอีกหลายระดับด้วยกัน ซึ่งบ่งบอกจากจำนวนดาวมิชลินนั่นเอง
Cr:guide.michelin
นอกเหนือไปจากดาวมิชลินแล้ว ทางมิชลินยังมีการรับรองอีกประเภทที่มอบให้แก่
ร้านอาหารนั่นก็คือตราสัญลักษณ์ Bib Gourmand หรือบิบ กูร์มองด์
แม้จะไม่ใช่ติดดาว แต่ก็ไม่ใช่รางวัลปลอบใจ ชื่อรางวัลบิบ กูร์มองด์มาจากมาสคอตของมิชลินกรุ๊ปอย่างเจ้าบีเบนดั้ม (Bibendum) หรือที่หลายคนรู้จักในนามมิชลิน
แมน รางวัลนี้จะมอบให้ร้านที่นำเสนออาหารรสชาติดีในราคาไม่แพง น่าลองไม่แพ้
ร้านติดดาว
ระหว่างที่ผู้ตรวจสอบมิชลินออกเสาะหาและตรวจสอบร้านอาหารทั่วโลก พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญแค่กับร้านหรู แต่ยังมองหาร้านที่นำเสนออาหารคุณภาพดีในราคามิตรภาพ เมื่อรายชื่อร้านเหล่านี้เพิ่มขึ้น รางวัลบิบ กูร์มองด์จึงถือกำเนิด
Cr:guide.michelin
เมื่อนักชิมทั่วโลกมี มิชลิน ไกด์ เป็นดั่งคบเพลิงนำทางสู่จานอร่อย เมืองไทยของ
เรามิได้สิ้นไร้ ด้วยบ้านเราก็มีคู่มือและนักชิมในตำนาน กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2504 และผู้สร้างตำนานบุกเบิกเส้นทางนักชิม นักรีวิวอาหารไว้นั้นก็คือ "หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์" แห่งสำนัก "เชลล์ชวนชิม"นั่นเอง
Cr:shellshuanshim.com
จุดกำเนิดของเชลล์ชวนชิม
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2504 โดย หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เมื่อครั้งที่ท่านทรงดำรง
ตำแหน่งผู้จัดการแผนกส่งเสริมการขายและโฆษณาของเชลล์ ได้ทรงดำริที่จะส่ง
เสริมการใช้แก๊สหุงต้มสำหรับร้านอาหารและครัวเรือนให้แพร่หลายในสังคมไทย จึงได้ทรงปรึกษากับหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และได้แนวความคิดมาจากมิชลิน ไกด์ ซึ่งในขณะนั้นได้รับความเชื่อถือและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ว่าจะทำการแนะนำอาหารอร่อยในประเทศไทย และมอบเครื่องหมายเชลล์ชวนชิมให้ นั่นเอง
ตราสัญลักษณ์เมื่อแรกเริ่มของ "เชลล์ชวนชิม"
และผู้ที่ทำหน้าที่และเขียนแนะนำก็ไม่ใช่ใครที่ไหนคือ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี นั่นเองท่านเป็นผู้มี “ลิ้นดี” รับรสชาติได้ครบถ้วน ทั้งยังครอบคลุมไปถึงการทำอาหารด้วย
โดยซึมซับมาจาก หม่อมย่าละมุน สวัสดิวัตน์ ซึ่งเป็นผู้ว่าการห้องเครื่องในวังสระ-
ปทุม และหม่อมเจริญ ผู้เป็นมารดา ซึ่งเป็นผู้ช่วยของหม่อมราชวงศ์เสงี่ยม สนิทวงศ์ ผู้ปรุงพระกระยาหารถวาย สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
โดยมีบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุน ด้วยนโยบายที่วางไว้อย่างเคร่งครัดคือ แนะนำอาหารอร่อยได้มาตรฐาน ถูกหรือแพงไม่สำคัญแต่ขอให้อร่อยและที่
สำคัญเป็นการแนะนำฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่มีการเรียกร้องค่าตอบแทนจากร้านใดๆ
Cr:retty.com
ร้านแรกที่ได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมจากคุณชายถนัดศรี ก็คือร้าน ก๋วยเตี๋ยว-
ลูกชิ้นสมองหมู โดยท่านได้เขียนเป็นบทความแนะนำเอาไว้ในคอลัมน์เชลล์ชวนชิมของหนังสือสยามรัฐรายสัปดาห์ โดยใช้นามปากกาว่า "ถนัดศอ" เมื่อวันที่ 17
กันยายน 2504 ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของตำนานนักชิมและไกด์ บุ๊คแนะนำร้าน
อาหารของคนไทย
Cr:mgonline.com
Cr:marketeeronline.com
หลักเกณฑ์ที่จะได้รับสัญลักษณ์เชลล์ชวนชิมจากคุณชายถนัดศรีก็คือ
1.รสชาติอร่อย
2.มีเอกลักษณ์
3.ควรค่าแก่การไปชิม
ด้วยเกณฑ์ดังกล่าวจึงทำให้นักชิมและนักเดินทาง ต่างให้ความไว้วางใจในร้าน
อาหารที่ได้รับเครื่องหมายนี้ จนแทบจะกลายเป็นป้ายศักดิ์สิทธิ์ที่บรรดาร้านอาหารอยากจะได้มาครอบครองเพราะช่วยการันตีคุณภาพของร้าน และช่วยเรียกลูกค้าเข้า
ร้านได้เป็นอย่างดี
เป็นที่น่าเสียดายและสุดอาลัยเมื่อหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้เสียชีวิตไป
เมื่อ พ.ศ. 2562 ปิดตำนาน "ถนัดศอ"ที่ยาวนานมากว่าครึ่งศตวรรษ
แต่กระนั้น ปัจจุบัน เชลล์ชวนชิม เริ่มเปิดศักราชใหม่อีกครั้ง ด้วยนักชิมคนใหม่ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน คือ หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ หรือนามปากกาว่าปิ่นโตเถาเล็ก
บุตรชายของคุณชายถนัดศรี นั่นเอง
ด้วยความที่ตามพ่อไปชิมอาหารตั้งแต่ยังเล็กๆ จนได้ “ลิ้น” ซึมซับวิธีการชิมมาจาก
พ่อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนามปากกา “ปิ่นโตเถาเล็ก” ของ ม.ล.ภาสันต์ นั้นได้มาจากที่พ่อ
เขียนถึงในคอลัมน์เชลล์ชวนชิมว่าไปไหนก็หิ้วปิ่นโตเถาเล็กไปด้วยนั่นเอง
Cr:shellshuanshim
โลโก้ใหม่ที่ไม่มีลายเซ็นต์ถนัดศรี Cr:shellshuanshim
และนี่คือสุดยอดตำนานคู่มือนักชิมของทั้งชาวไทยและชาวเทศ ในปัจจุบันที่สังคมออนไลน์กำลังบูมอย่างสุดๆ ก็มีนักชิมและนักรีวิวอาหารเกิดขึ้นอย่างมากมายให้
บรรดาผู้ที่ชอบทานของอร่อยไปตามรอยกันทั่วโลก แต่ว่ากาลเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าบรรดานักชิม นักรีวิวเหล่านั้นจะรักษามาตรฐานและความเชื่อมั่นที่ผู้อ่านมีให้ไปได้ยาวนานเพียงใด
อ้างอิง
เปิดตำนานเชลล์ชวนชิม
โฆษณา