18 ธ.ค. 2020 เวลา 09:07 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Memories Of Murder(2003)
การที่ผู้กำกับหรือมือเขียนบทภาพยนต์สักคนจะสามารถทำมาหากินในวงการได้ต่อเนื่อง การมีหนังสักเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามย่อมเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ เหมือนที่ William Goldman เคยบอกว่า Butch Cassidy and the Sundance Kid เป็นภาพยนตร์ที่ทำให้เขามีอาชีพในอุตสาหกรรมนี้(ลองอ่าน”ปั้นหนังเป็นตัว” หนังสือที่แกเขียน) Memories Of Murder ก้อน่าจะนับเป็นภาพยนตร์ที่ส่งให้ Bong Joon Ho กลายมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีสถานะเป็นที่ยอมรับแบบในปัจจุบัน
เอาจริงๆหนังที่มีสถานะขึ้นหิ้งของ Bong Joon Ho อย่าง Memories of Murder เนี่ย เชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนน่าจะเคยผ่านตากันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะผ่าน เคเบิ้ลทีวี แผ่นดีวีดี หรือ ดูผ่านอินเตอร์เน็ต หากแต่คราวนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะได้ชมกันในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าประสบการณ์การรับชมในโรงภาพยนตร์นั้นจะช่วยให้เราเก็บรายละเอียดทั้งงานภาพ เสียง อารมณ์ร่วม จากภาพยนตร์ได้ลึกซึ้งขึ้น ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีอย่างทาง Documentary Club นำหนังเรื่องนี้มาฉายในโรงหนัง(เครือ SF เข้าหลายสาขาอยู่นะฮะ ทั้งเซ็นลาด เดอะมอลล์บางกะปิ คริสตัลรามอินทรา และ CTW)
Memories of Murder ภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนที่ว่าด้วยคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่เป็นเหตุสะเทือนขวัญจนถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์เกาหลีใต้หลายต่อหลายเรื่อง หากแต่มันไม่ได้โฟกัสไปที่การไขคดีอย่างเดียว แต่กลับสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมของเกาหลีใต้ในห้วงทศวรรษ 1980 ได้อย่างมีชั้นเชิง
ประเด็นที่ผมประทับใจภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ มันพูดถึงปัญหาสังคมเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมมากกว่าปัจเจกบุคคล ในหนังเราจะไม่เห็นนักสืบฉลาดเป็นกรดสักคนที่มาพร้อมทักษะการสังเกตสุดเฉียบแหลมมาคลี่คลายคดี หากแต่เราจะพบเจอโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมทั้งหลายที่ทำให้เกิดการฆาตกรรมอย่างต่อเนื่องได้ ทั้ง ความเป็นปกติของการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ, ระบบสาธารณูปโภคที่ไม่คำนึงถึงสวัสดิภาพของพลเมือง, ไหนจะการมีรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสืบทอดอำนาจมากกว่าความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นต้น Bong Joon Ho จัดเจนมากในการควบคุมจังหวะการดำเนินเรื่องของหนังสลับไปมาระหว่างการสืบสวนและการสอดแทรกประเด็นการเมืองที่เขาอยากพูดถึงแบบไม่สะดุดอารมณ์
และหากมองจาก Memories of Muder ถึง Parasite ถ้าความแตกต่างในสภาพทางสังคมของเกาหลีใต้เปลี่ยนไปจนรู้สึกทึ่ง ภาพชุมชนต่างจังหวัดที่ดูด้อยพัฒนาในยุค 198x กับ สภาพแวดล้อมของสังคมในยุคปัจจุบันของเกาหลีใต้น่าตกใจแล้ว การเปรียบเทียบสภาพทางสังคมทั้ง2ยุคสมัยกับ”สยาม”เป็นอะไรที่ชวนเหวอยิ่งกว่าอีก จากสภาพของความด้อยพัฒนาที่ดูล้าหลังกว่าเราในยุค 80 มาเป็นสภาพของประเทศในโลกที่พัฒนากว่าเราอย่างเทียบกันไม่ได้ในยุคนี้ นั้นชวนให้เราตั้งคำถาม “อะไรคือความแตกต่างของเรากับเขา ที่ทำให้ขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศมันแตกต่างกันขนาดนี้?” นึกๆดูเรามีอะไรหลายๆอย่างที่เค้าไม่มีด้วยซ้ำนะ เรามีศาสนาประจำชาติ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ขลังขนาดต้องบอกกันว่า”ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” มีการเคารพธงชาติวันละ2รอบ มีกระทั่งการเปิดเพลงสรรเสริญก่อนดูหนัง แล้วทำไมเราถึงพัฒนาความเป็นอยู่ของพลเมืองได้ไม่เท่าพวกเขากันล่ะ?
ตัวผมเชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์สัญชาติเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในระดับสากล คือการที่โครงสร้างของรัฐเปิดพื้นที่ให้ผู้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงสามารถหยิบยก”เรื่องราวในประวัติศาสตร์ของชาติ”มาใช้เป็นวัตถุดิบพื้นฐานได้อย่างมีอิสระ และ การรับชม Memories Of Muder อีกครั้งก้อเหมือนจะตอกย้ำความเชื่อนี้ให้มั่นใจยิ่งขึ้น
โฆษณา