21 ธ.ค. 2020 เวลา 01:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
วิเคราะห์ผีถ้วยแก้วด้วยวิทยาศาสตร์
(เรียบเรียงโดย สัมโมทิก สวิชญาน)
การเล่นผีถ้วยแก้ว (ouija) และกิจกรรมเหนือธรรมชาติลักษณะเดียวกัน เช่น การเข้าทรงหมุนโต๊ะ (table-turning) และการใช้ลูกตุ้ม (pendulum) ช่วยตอบคำถาม เป็นสิ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มาช้านาน
ในช่วงศตวรรษที่ 18 การเข้าทรงหมุนโต๊ะเป็นอะไรที่ฮิตมากในอเมริกาเหนือและยุโรป พิธีกรรมคือนำคนมานั่งล้อมวง ให้ทุกคนมือกางบนขอบโต๊ะกลม แล้วรอจนกว่าจะได้ยินเสียงเคาะโต๊ะหรือโต๊ะโยกเอง บางทีก็โยกเล็กน้อย บางทีก็โยกแล้วไถไปรอบๆ ห้อง
1
ส่วนพิธีกรรมลูกตุ้มตอบคำถามปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น ถือลูกตุ้มห้อยไว้ พอถามคำถามเสร็จลูกตุ้มจะแกว่งเอง ถ้าแกว่งแนวหนึ่งคือตอบว่าใช่ แกว่งอีกแนวหนึ่งคือตอบว่าไม่ใช่ หรือถ้าถือห้อยเหนือแผ่นจานที่ริมขอบมีตัวอักษรเรียงกระจายไว้รอบ ลูกตุ้มจะแกว่งเองไล่สะกดไปทีละตัวอักษร เหมือนกับผีถ้วยแก้ว
นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนเชื่อว่าใช้ในการพยากรณ์ได้โดยรับพลังงานบางอย่างจากวัตถุเป้าหมาย เช่น ไม้หาแหล่งน้ำ (dowsing rod) ซึ่งเชื่อว่าจะหมุนชี้ลงพื้นเองถ้าเดินอยู่บนบริเวณที่ขุดแล้วจะเจอแหล่งน้ำ หรือเครื่องทอฟต์เนส (Toftness) ซึ่งมีหน้าตาเป็นกระป๋องแบบมีด้ามจับ
2
แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็พบบางอย่างร่วมกัน คือ จิตใจคาดหวังว่าจะเกิดผลไปในทางใดทางหนึ่ง แล้วความคาดหวังนั้นสามารถไปส่งผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อให้ตอบสนองเล็กๆ น้อยๆ ตามแนวทางนั้นโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ จนเกิดผลลัพธ์ที่รู้สึกราวกับว่า มาจากพลังเหนือธรรมชาติ หรือแรงที่มองไม่เห็น
1
table-turning
วิลเลียม เบนจามิน คาร์เพนเตอร์ (William Benjamin Carpenter) แพทย์ชาวอังกฤษ ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า ideomotor action
ในงานวิจัยหนึ่ง ทำการศึกษาผู้เชื่อเรื่องผีถ้วยแก้ว (จริงๆ ถ้วยแก้วเป็นแท่นชี้ที่เรียกว่า planchette) โดยให้เล่นเป็นคู่สองคน แล้วตรวจจับการกลอกตาของผู้เล่น ผลพบว่า ในตอนเริ่มต้น ตาไม่สามารถทำนายได้ว่าถ้วยแก้วจะเคลื่อนที่ไปหาตัวอักษรใดบนกระดานบ้าง แต่พอเริ่มสะกดไปเรื่อยๆ ตาก็เริ่มเล็งไปเฉพาะตัวอักษรตัวต่อไปที่เป็นไปได้
4
การกลอกตาแบบไร้ทิศทางในช่วงต้นช่วยยืนยันว่า คนเหล่านี้รู้สึกจริงๆ ว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนขยับแก้ว พอเชื่อมั่นอย่างนี้แล้ว จึงไม่รู้สึกถึงความคาดหวังที่ทวีขึ้นมาขับเคลื่อนในช่วงหลัง แต่คณะนักวิจัยรู้ เพราะพบการกลอกตาที่มีทิศทางมากขึ้น
3
การศึกษาผีถ้วยแก้วหรืออะไรก็ตามที่เกิดจาก ideomotor action นอกจากจะช่วยคลายข้อเคลือบแคลงทางความเชื่อได้บ้างแล้ว ยังช่วยให้ศาสตร์ทางจิตวิทยาเข้าใจมากขึ้นด้วยว่า ปัจจัยต่างๆ ที่มนุษย์พึ่งพิงในการตัดสินใจและเดาคำตอบ มีอะไรบ้าง เพราะท้ายที่สุดแล้ว คำตอบต่างๆ ก็ไม่ได้มาจากที่ใดอื่น แต่ออกมาจากหุบห้องความคิดของคนๆนั้นนั่นเอง
ตารางสำหรับการเข้าทรงรูปแบบหนึ่ง
สนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
1
โฆษณา