20 ธ.ค. 2020 เวลา 10:08 • ประวัติศาสตร์
แอร์สยาม
ถ้าใครเกิดและโตทันในช่วงยุคเซเว่นตี้ส์ คงจำกันได้ว่าเมืองไทยเรานั้นมีสายการบินถึงสามสายการบินด้วยกัน คือการบินไทย สายการบินแห่งชาติสำหรับเดินทางต่างประเทศ หรือ Long Haul Carrier สายการบิน บ.ด.ท. หรือบริษัทเดินอากาศไทย สายการบินในประเทศ และสุดท้ายสายการบินแอร์สยาม หรือ Air Siam ที่เป็นสายการบินเอกชนสำหรับเส้นทางการบินต่างประเทศ สายการบินแรกของเมืองไทย
ตามประวัติ…สายการบินแอร์สยามก่อตั้งขึ้นในพ.ศ. 2508 โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ที่ทรงเคยเป็นนักบินอาสาสมัครในกองทัพอากาศอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และทรงเคยเป็นนักบินให้กับสายการบินไทย ภายหลังจึงได้ทรงหันมาก่อตั้งบริษัทสายการบินของตนเองภายใต้ชื่อ Varan Air-Siam
แอร์สยามเริ่มให้บริการการบินโดยสารเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 เส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพ-ฮ่องกง และใน พ.ศ. 2514 ก็ได้เปิดเส้นทางการบินระหว่างกรุงเทพ - ลอสแอนเจลิส และเปิดเส้นทางการบินไปยังกรุงโตเกียวในเวลาต่อมา
ในช่วงเวลานั้น…แอร์สยาม คือสายการบินนานาชาติที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีฝูงบินที่ทันสมัยที่สุดในเอเซีย ด้วยเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่ล่าสุด เช่นเครื่องบินดักลาส ดีซี-10 แอร์บัส เอ 300 และโบอิ้ง 747 ซึ่งในเวลานั้นแม้แต่สายการบินแห่งชาติอย่างการบินไทยเองยังไม่มีฝูงบินที่ใหม่และทันสมัยแบบนี้ให้บริการแก่ผู้โดยสารเลย ในทีวีซีรีส์อเมริกันเรื่อง Hawaii Five O ในตอนหนึ่ง คนดูจะได้เห็นภาพของเครื่องบินของแอร์สยามแลนดิ้งที่สนามบินไคตั๊กที่มีพระเอกโดยสารมา เมื่อมีภารกิจต้องบินจากฮอนโนลูลูเพื่อไปสืบหาและจับผู้ร้ายที่ฮ่องกง
นอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องของฝูงบินที่ใหม่และทันสมัยแล้ว แอร์สยามในยุคนั้นยังโด่งดังในหมู่คนไทยเพราะได้นางงามและดาราอย่างคุณสุภัค ลิขิตกุล มาร่วมงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน คิดว่าหลายๆท่านคงจำเธอได้ คุณสุภัคเป็นสาวสวยคมแบบไทยๆที่มีความสูงเกินมาตรฐานผู้หญิงไทย ด้วยความสูงถึง 173 ซ.ม.ถึงกับได้รับสมญานามจากสื่อมวลชนว่า ‘นางเอกก้านยาว’
คุณสุภัคชนะเลิศการประกวดมิสบางกอก และได้รับการคัดเลือกให้ไปประกวดมิสอินเตอร์แนชั่นแนล 1971 ที่เมืองลองบีช แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และถ้าจำไม่ผิด เธอสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้ารองอันดับ 1 มาครอง เมื่อกลับมาจากการประกวด เธอได้เบนเข็มเข้าสู่วงการบันเทิง แสดงภาพยนตร์อยู่4-5 เรื่อง ก่อนที่จะอำลาวงการ และได้มาสมัครเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของแอร์สยามในปีพ.ศ.2517 สายการบินที่เป็นสปอนเซอร์ให้เธอเดินทางไปประกวดที่สหรัฐอเมริกานั่นเอง
 
น่าเสียดายที่คุณสุภัคทำงานอยู่ได้เพียงแค่สองปี แอร์สยามก็พบกับมรสุมลูกใหญ่ เนื่องจากธุรกิจการบินในประเทศไทยได้เจริญเติบโตอย่างมาก ส่งผลให้แอร์สยามถูกกดดันอย่างหนักจากนโยบายของทางรัฐบาลไทย ที่จะไม่ให้สายการบินอื่นมาบินในเส้นทางเดียวกันกับสายการบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินประจำชาติ
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แอร์สยามมีต้นทุนที่สูงมากในการให้บริการ ส่งผลให้แอร์สยามเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก และล้มละลายโดนรัฐบาลยึดใบอนุญาตในที่สุด ปิดฉากสายการบินเอกชนของไทยสายการบินแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 และเป็นเหตุให้วังเพชรบูรณ์ที่พระองค์เจ้าวรานนธวัชนำมาจำนองเพื่อใช้เป็นเงินทุนในการก่อตั้งสายการบินต้องโดนยึด ซึ่งในเวลาต่อมาพื้นที่นี้ได้กลายมาเป็นศูนย์การค้าเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ของตระกูลเตชะไพบูลย์ ก่อนจะกลายมาเป็นศูนย์การค้า เซ็นทรัล เวิลด์ ของตระกูลจิราธิวัฒน์อย่างเช่นในทุกวันนี้
เสียดายที่แอร์สยามถือกำเนิดขึ้นมาในยุคที่ธุรกิจการบินยังเป็นโมโนโปลี เลยมีชีวิตที่เหมือนเส้นกราฟ พุ่งถึงจุดสูงสุดสู่ความรุ่งโรจน์และดิ่งถึงจุดตกต่ำเท่ากับศูนย์ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เหลือไว้แต่ตำนานว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยมีสายการบินนานาชาติที่เป็นดาวดวงเด่นกว่าสายการบินไหนๆในเอเซียนามว่า ‘แอร์สยาม’ กับเขาด้วย
โฆษณา