23 ธ.ค. 2020 เวลา 16:36 • การศึกษา
กว้าง vs ลึก .. ?
Malcolm Gladwell เคยเขียนไว้ในหนังสือ Outliers ว่า
"เราทุกคนสามารถที่จะมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งได้ หากเราใช้เวลากับมันอย่างต่ำ 10,000 ชั่วโมง"
นั่นหมายความว่ายิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี
เพราะจะเราได้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆได้ไวขึ้น
แต่นั่นอาจจะไม่ได้ถูกเสียทีเดียว...
เด็กชายคนหนึ่งเกิดมา พ่อของเขามีความรู้สึกว่าเด็กคนนี้คือคนพิเศษ คือผู้ที่ถูกเลือก
เมื่อตอนที่อายุได้ 6 เดือน เด็กชายสามารถทรงตัวอยู่บนฝ่ามือของพ่อได้
อายุ 7 เดือน เขาได้จับไม้กอล์ฟเป็นครั้งแรก
อายุ 2 ขวบ ขณะเด็กเด็กคนอื่นกำลังเรียนรู้ที่จะเล่นกับลูกบอลเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของร่างกาย เด็กชายคนนี้ออกรายการทีวีระดับประเทศ กำลังจับไม้กอล์ฟความสูงระดับไหล่ และหวดลูกกอล์ฟอยู่
อายุ 8 ขวบ เขาเอาชนะพ่อของเขาได้เป็นครั้งแรก
เขาขึ้นเป็นหนึ่งในนักกอล์ฟที่เก่งที่สุดในโลกได้เมื่ออายุ 21 ปี
Tiger Woods เป็นแบบอย่างความสำเร็จของกฎ 10,000 ชั่วโมงได้เป็นอย่างดี เมื่อคนเราเลือกที่จะฝึกฝนบางสิ่งบางอย่าง อย่างจริงจังและทุ่มเท คนๆนั้นก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก
ที่นี้ลองมาฟังเรื่องของเด็กอีกคนหนึ่งกันครับ
เด็กชายคนนี้เกิดมาโดยที่แม่ของเขาเป็นโค้ชเทนนิส
แต่เธอก็ไม่เคยโค้ชให้เขาเลย
ตอนเขาเริ่มหัดเดิน เขาชอบที่จะเตะลูกบอลไปรอบๆ
เด็กชายมักจะเล่นสควอชกับพ่อในวันอาทิตย์
เขาสนใจกับการเล่นสกี มวยปล้ำ ว่ายน้ำ และสเก็ตบอร์ด
เขาเล่นบาสเก็ตบอล แฮนด์บอล เทนนิส ปิงปอง และฟุตบอลตอนอยู่ที่โรงเรียน
เขาบอกว่าชอบอะไรก็ตามที่มีลูกบอลเข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อแม่ของเขาตัดสินใจที่จะสอนเทนนิส
ไม่นานหลังจากนั้นเธอก็เลิก
เธอบอกว่าเขาคงจะทำให้เธออารมณ์เสียอยู่ดี
เพราะเขาเอาแต่ลองจังหวะแปลก ๆ ทุกครั้ง
และไม่เคยส่งบอลกลับมาแบบปกติเลย
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เด็กชาย เริ่มหันมาสนใจเทนนิสอย่างเอาจริงเอาจัง
แม้ว่าเด็กชายจะมีฝีมือ แต่เมื่อครูสอนเทนนิสอยากย้ายเขาไปเล่นกับกลุ่มที่มีอายุมากกว่า
เขาปฏิเสธ และขอให้ย้ายกลับ เพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเพื่อน ๆ
อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของความสนุกก็คือที่การได้อยู่กับเพื่อนๆหลังซ้อมเสร็จ
เมื่อเวลามาถึง เขาเลิกล้มกีฬาชนิดอื่น แล้วหันมาทุ่มเทให้กับเทนนิสอย่างจริงจัง
แม้ว่าเด็กคนอื่นๆจะจริงจังกับเทนนิสมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว
แต่นั่นของไม่ใช่อุปสรรคใดๆสำหรับเขา
ในช่วงอายุ 30 กลางๆ แม้ว่าจะเป็นช่วงอายุที่ผู้เล่นในตำนานก็ต้องเกษียณอายุ
Roger Federer ก็ยังคงครองอันดับ 1 ของโลกอยู่
จะเห็นได้ว่าแม้ปลายทางความสำเร็จอาจจะคล้ายกัน
แต่เส้นทางของ Roger Federer กับ Tiger Woods ไม่ได้เหมือนกันเลย
รูปจาก https://bleacherreport.com/
Tiger Woods คือตัวแทนของความสำเร็จ จากการเริ่มเร็ว ทุ่มเท พยายาม ดูเป็นสูตรสำเร็จที่ตายตัว ที่ว่ายิ่งฝึกมากก็ยิ่งเก่งมาก
ทว่าในทางกลับกัน Roger Federer คือตัวแทนของเป็ด เป็ดที่ชอบทำไปหมดเสียทุกอย่าง เขาได้ใช้ชีวิตช่วงต้นในการสำรวจ ลองผิดลองถูก จนถึงวันหนึ่งที่เขาตัดสินใจที่จะทำในสิ่งที่เขาชอบ แม้เวลานั้นจะมีคนมากมายนำหน้าเขาไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เขาก็กลายเป็นมือหนึ่งได้ แม้จะเริ่มช้ากว่าหลายๆคน
เมื่อนักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบ
สิ่งที่พวกเขาพบ คือ ในนักกีฬาที่โดดเด่นส่วนใหญ่ พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ใช้เวลาฝึกซ้อมในสิ่งที่พวกเขาจะเชี่ยวชาญในเวลาต่อมามากเท่าไรนักในช่วงแรก
แต่กลับกัน พวกเขาใช้เวลาไปกับ "sampling period" หรือช่วงทดลอง
พวกเขาเล่นกีฬาที่หลากหลาย คุ้นเคยกับการใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย
เรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถและความถนัดของตัวเอง
ก่อนที่จะไปโฟกัสกับเรื่องเดียว
แม้ว่าการเริ่มก่อนอาจจะทำให้ดูมีข้อได้เปรียบ
แต่มันอาจจะเป็นผลเสียในระยะยาวหรือเปล่า
ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้เหมาะกับเราจริงๆ
บางครั้งการใช้เวลาสำรวจ ทดลอง ในทางที่หลากหลาย
อาจช่วยให้เราค้นพบ ในสิ่งที่ชอบและเหมาะกับเรา
สิ่งที่เราจะทุ่มเทให้กับมันในเวลาต่อมาก็เป็นได้ ...
อ้างอิง
ผมได้ดูจาก TED เรื่อง Why specializing early doesn't always mean career success โดย David Epstein [ https://www.youtube.com/watch?v=B6lBtiQZSho ]
ซึ่ง David Epstein ได้เขียนหนังสือชื่อ Range: Why Generalists Triumph in a Specialized World ซึ่งจะอธิบายเรื่องนี้โดยตรงเลย ถ้าใครสนใจลองไปหามาอ่านกับดูนะครับ
โฆษณา