24 ธ.ค. 2020 เวลา 13:45 • การตลาด
ใครๆ ก็บินได้ (Low Cost Airlines)
บินมาจากเชียงใหม่เมื่อสักครู่ ก็ยังมีเวลาเหลือพอร่างบทความนี้ก่อนเข้าประชุม เหมือนกับนั่งรถประจำทางในกรุงเทพฯ ความสะดวกอันเกิดจากค่าตั๋วเดินทางเครื่องบินที่ต่ำมากๆ ในปัจจุบัน ทำให้ “ใครๆ ก็บินได้” สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ก็คือ กลยุทธ์ราคาต่ำ ที่ทำให้ Low Cost Airline ทั่วโลกใช้กันมากมายนั้น มีโมเดลที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก สายการบินเหล่านั้น เขาบริหารต้นทุนได้อย่างไรกัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก
1
เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ (Herb Kelleher) ซีอีโอของสายการบินต้นทุนต่ำ เซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ (Southwest Airline) ได้เขียนหนังสือชื่อว่า “NUTS” ซึ่งนัยหนึ่งหมายถึง “ถั่ว” ที่แจกกันในสายการบินต้นทุนต่ำค่ายอื่นๆ แต่เซาท์เวสต์ไม่แจก หรืออีกนัยหนึ่ง หมายถึง “ความบ๊อง แหก แปลกประหลาด” ที่ซีอีโอคนนี้ใช้บริหารสายการบินอย่างแหวกแนว โดยเริ่มในปี 1973 ขายตั๋วเครื่องบินในราคาเพียง 13 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่คู่แข่งขายอยู่ 62 เหรียญสหรัฐ จนทำให้ผู้ถือหุ้นห่วงว่าจะขาดทุน แต่เฮอร์บบอกว่า “เราไม่ได้แข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ที่มีอยู่ แต่เรากำลังแข่งกับรถโดยสารและรถยนต์ส่วนตัว”
1
ด้วยความคิดอันแหวกแนวนี้ เซาท์เวสต์จึงเริ่มต้นด้วยการบินระยะสั้นๆ พร้อมกับลดค่าโดยสารลงมาให้ใกล้กับค่าโดยสารรถประจำทางระหว่างเมืองใกล้ๆ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว
ค่าโดยสารของเซาท์เวสต์ถูกสุดๆ ได้อย่างไร?
เซาท์เวสต์ “ลดเวลาที่เครื่องบินจอดอยู่บนพื้นดินให้เหลือน้อยที่สุด” โดยใช้นโยบายหลัก 4 ประการ คือ
1) ใช้เครื่องบินโบอิ้ง 737 ชนิดเดียวเท่านั้น การซ่อมบำรุงและสับเปลี่ยนนักบินและพนักงานจึงสะดวกขึ้น นอกจากนั้นนักบินยังไม่ต้องเสียเวลาไปฝึกบินกับเครื่องหลายชนิด
2) ใช้สนามบินที่มีสายการบินอื่นใช้น้อย ยังผลให้ไม่ต้องเสียเวลารอขึ้นลง
3) ไม่บริการอาหารในเครื่องบิน ยกเว้นเครื่องดื่มและไม่ขนย้ายสัมภาระไปให้สายการบินอื่น
4) ไม่กำหนดที่นั่งให้ผู้โดยสารล่วงหน้า ผู้มาเข้าแถวรอขึ้นเครื่องก่อนเลือกที่นั่งได้ก่อน ยังผลให้การขึ้นเครื่องเสร็จอย่างรวดเร็ว
2
เซาท์เวสต์ประสบความสำเร็จ
เพราะสไตล์การบริหารของผู้นำองค์กร
DNA ของผู้นำองค์กรนี้ มีทั้งความน่าเชื่อถือและความเอื้ออาทร เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ และผู้บริหารระดับสูงทุกคนได้รับความไว้วางใจจากพนักงานระดับปฏิบัติการ เพราะทำงานแบบเปิดเผย โปร่งใสมีความเสมอต้นเสมอปลายติดต่อกันเป็นเวลานาน เปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงได้ตลอดเวลาและรับฟังพวกเขาด้วยความเคารพอย่างจริงใจ โดยเฮอร์บเองทำตัวเป็นตัวอย่างความเอื้ออาทรของเซาท์เวสต์ แสดงออกมาให้พนักงานเห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายสำคัญยิ่ง นั่นคือ จะไม่มีการปลดพนักงานออกเมื่อธุรกิจซบเซา ผู้บริหารรุ่นแล้วรุ่นเล่าถ่ายโอนอุดมการณ์ของบริษัทจากรุ่นแรกไปถึงรุ่นหลังทำได้โดยง่าย
ช่วงเหตุการณ์ 11 กันยายน สายการบินทุกสายจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงเป็นจำนวนมาก ยกเว้นเซาท์เวสต์! ทั้งที่ถูกมองว่าเป็นการเดินทวนกระแสจากผู้เชี่ยวชาญ แต่ผู้บริหารของเซาท์เวสต์ถือว่าพันธสัญญาที่ตนให้ไว้กับพนักงานมีความสำคัญยิ่ง
เบื้องหลัง 40 ปีของเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์จึงเต็มไปด้วยความกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ที่ท้าทายและแข่งขันได้ สร้างสรรค์ด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับกำไร ถือเป็นโมเดลต้นแบบของ Low Cost Airlines ในโลกปัจจุบัน
1
“ไทย ไลอ้อน แอร์” สายการบิน Low Cost
น้องใหม่ของประเทศไทย สัญชาติอินโดนีเซีย
นายรุสดี คีรานา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานอำนวยการของกลุ่มสายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ (Thai Lion Air) มาตั้งแต่ปี 2000 ชูจุดขายกึ่งกลางระหว่าง “แอร์เอเชีย” (Ultra Low-Cost) กับ “นกแอร์” (Premium Low-Cost) ไทยไลอ้อน แอร์ เป็น “Brand Character” ของคนทำงาน ดูดี มีเสน่ห์ แต่งตัว ใช้อุปกรณ์ทันสมัย ไม่หวือหวา
ปัจจุบันมีมิวสิค มาร์เก็ตติ้งมาเป็นเครื่องมือการตลาด โดยเลือก “สิงโต นำโชค” มาแต่งและร้องเพลง โดยให้เหตุผลว่า ชื่อของสิงโตนั้นนำโชคให้กับแบรนด์ไลอ้อน แอร์ ซึ่งให้ความหมายดี เพลงที่แต่งจะนำไปใช้สร้างการรับรู้ไปยังสื่อต่างๆ เช่น เป็นเพลงประจำเครื่องบิน มิวสิควิดีโอบน Youtube ตลอดจนการจัดอีเวนต์ต่างๆ
ส่วนกลยุทธ์การตลาดเน้นเรื่องราคา โดยมีนโยบายอย่างแข็งกร้าว แม้ว่าถ้าคู่แข่งตัดราคามาจะตัดราคากลับไป เพราะต้นทุนที่ต่ำกว่า นับเป็นจุดเริ่มจุดเริ่มต้นสงครามราคาของโลว์คอสต์ แอร์ไลน์อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินโลว์คอสต์ แอร์ไลน์เสนอว่าตอนเช็คอินไลอ้อน แอร์ให้เลือกที่นั่ง 20F หรือ 20A เป็นที่นั่งตรงประตูฉุกเฉิน เพราะไลอ้อนแอร์ใช้ 737 เหมือนกันทุกลำกว่า 700 ลำ คอนเซ็ปท์ Low cost แบบเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์
1
โฆษณา