24 ธ.ค. 2020 เวลา 17:03 • การศึกษา
"เมื่อเราพูดโดยไม่ใช้ศัพท์เฉพาะ มันจะปลดปล่อยเราจากการซ่อนอยู่เบื้องหลังความรู้ที่เราไม่มี ... "
(When we speak without jargon, it frees us from hiding behind knowledge we don’t have.)
- Richard Feynman
cr รูปจาก caltech.edu
หลายครั้งที่เรามักถูกทำให้งงงวย ด้วยศัพท์เฉพาะ หรือ jargon มากมาย
หลายครั้งที่การใช้คำเหล่านั้นอาจฟังดูเท่ ดูมีความรู้
แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆหรือเปล่า?
หรือเป็นเพียงเปลือกนอก ที่ช่วยซ่อนเราจากแก่นความรู้ ปิดบังสิ่งที่เราไม่รู้เอาไว้
Richard Feynman เป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ ที่ทรงคุณค่าและมีอิทธิพลมากที่สุดของโลก
ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี ค.ศ. 1965
ทว่าภายใต้ความเก่งกาจ Feynman ยังเป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย
จน Bill Gates ซื้อสิทธิ์ในการบรรยายของเขาและเผยแพร่ต่อสาธารณะ
รวมถึงเรียก Feynman ว่าเป็น “the greatest teacher I never had.”
และสิ่งที่ผมจะนำมาแชร์ในวันนี้ก็คือ
เทคนิคการเรียนรู้แบบ Feynman หรือ The Feynman Technique
ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอนที่ฟังดูง่าย
1. เลือกเรื่องที่อยากเรียนรู้ขึ้นมาก่อน
2. ให้ทำเหมือนว่ากำลังสอนเรื่องนั้นให้เด็กอายุ 12 ขวบอยู่
3. หาช่องว่างของสิ่งที่ยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจ แล้วก็ศึกษามันเพิ่ม
4. ทำให้มันง่ายขึ้น แล้วออกไปเล่าให้คนอื่นฟัง
ที่นี้เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับ
ว่าการรู้ว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร ไม่ได้แปลว่าเราจะเข้าใจมันจริง
สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่รู้ว่าจะเรียกวันว่าอะไร
แต่คือการทำความเข้าใจองค์ความรู้นั้นจริงๆ
มาลองขยายความสิ่งที่ต้องทำกันนะครับ
ก่อนอื่นคือหากระดาษเปล่ามาสักแผ่นนึก
เขียนหัวข้อที่อยากจะเรียนรู้
แล้วลงมือเขียนทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้เกี่ยวกับมันลงไป
แต่ต้องอย่าลืมนะครับว่าเรากำลังจะเอามันไปสอนเด็กอายุ 12 อยู่
เราจะได้เลิกหลอกตัวเองด้วยการใช้ศัพท์ยากๆ
แล้วหันไปสนใจกับคอนเซ็ปพื้นฐาน และการอธิบายความสัมพันธ์ของแนวคิดแบบง่ายๆแทน
ทีนี้เราจะชนเข้ากับสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือเข้าใจมันดีพอ
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นตรงนี้แหละครับ
กลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
จนกว่าเราจะสามารถอธิบายมันอย่างง่าย
โดยปราศจากศัพท์เฉพาะได้
จากนั้นก็เอาสิ่งที่รู้มาเรียบเรียง
ในแบบที่เข้าใจได้ง่าย
อาจจะลองอ่านออกเสียงดูก็ได้
ว่ามันฟังแล้วงงไหม
หลังจากมั่นใจแล้ว อาจจะลองหาเด็กอายุ 12
หรือไม่ก็คนรู้จักที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องนั้น
จากนั้นก็ลองเล่าให้พวกเขาฟังดู
การทดสอบว่าเราเข้าใจอะไรจริงหรือเปล่า สามารถทำได้โดยสอนคนอื่นให้รู้เรื่องนั้นครับ
บางครั้งการเรียนรู้เองอย่างเดียวอาจไม่ท้าทายพอ
การตั้งความคาดหวังว่าจะต้องสอนต่อให้คนอื่น อาจเป็นตัวช่วยผลักดัน
ทำให้เราเรียนรู้ได้เร็วและเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นก็เป็นได้
โฆษณา