25 ธ.ค. 2020 เวลา 14:55
บทเรียนที่ผมได้จากการทำ 30 day challenge
ก่อนอื่นคงต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าไอเดีย 30 day challenge นี้เกิดขึ้นมาจากกลุ่ม fb : "คนสร้างเวลา The Time Maker" ของพี่บอล ภาคย์ภูมิ ที่ผมได้ตาม podcast คนสร้างเวลาอยู่
(ใครที่อยากลองท้าทายตัวเองดูก็ลองไปเข้ากลุ่มกันดูได้นะครับ)
จึงได้เกิด Everyday's Feed ขึ้นแบบเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นกัน
ที่มาของชื่อ Everyday's Feed มาจากการทำผมอยากลองทำ content ลงทุกวัน(เป็น 30 day challenge ที่ผมตั้งให้กับตัวเอง)รวมเข้ากับอยากให้มันเป็นอาหารสมอง (feed a brain) สำหรับใครที่ไม่ค่อยมีเวลา แต่อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆทุกวัน
ซึ่งตอนแรกที่คิดจะทำมีทั้งในรูปแบบของบทความ(ที่เห็นกันอยู่)และpodcast
แต่ไปๆมาๆทั้ง30วัน กลายเป็นบทความล้วนไปเสียแล้ว
เอาละครับ เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า กับสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการท้าทายตัวเองครั้งนี้
1. "สภาพแวดล้อมมีผลอย่างมาก"
เหตุผลหนึ่งที่มันกลายเป็นบทความทั้งหมดก็คือมันสะดวกกว่า ผมสามารถเขียนที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ในทางกลับกัน podcast (ซึ่งผมเคยทำมาก่อนนะ ในชื่อ "เล่าstory" https://www.blockdit.com/pages/5e4bf4f4a5ea940c692f6c94 แต่สุดท้ายก็ไม่ต่อเนื่องและห่างหายไปในที่สุด) ต้องอาศัยทั้งเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม คือเราไม่สามารถอัดในร้านกาแฟที่มีเสียงรบกวนเยอะได้ จะหาจังหวะจริงๆก็ต้องเป็นที่บ้าน ซึ่งหากเป็นระแวกที่มีผู้คนพลุกพล่าน มีเสียงรถยนต์ดัง ก็ลำบากต้องไปอัดดึกๆตอนเสียงสงบลงอีก จึงทำให้เกิดเป็นข้ออ้างมากมายกว่าจะทำออกมาได้แต่ละชิ้น พอมาเป็นบทความข้ออ้างเหล่านั้นสำหรับผมก็หมดไป เหลือก็แค่ดันตัวเองให้ลงมือทำมันเท่านั้น
รวมถึงการจัดสถานที่ให้เอื้ออำนวยกับสิ่งที่ทำจะช่วยให้อะไรๆง่ายขึ้นเยอะเลยครับ
2. "ถ้าอยากทำสำเร็จ ต้องสร้าง commitment ขึ้นมา"
ในที่นี้คือการโยนตัวเองเข้าไปในกลุ่ม "คนสร้างเวลา The Time Maker" ซึ่งทุกคนเข้ามาเพื่อโพส challenge ของตัวเอง แล้วเข้ามาอัพเดทกันเรื่อยๆ
มันอาจจะเป็นแค่ความรู้สึกส่วนตัวก็ได้ครับ แต่ผมแค่ไม่รู้ว่าถ้าล้มเหลวในวันนั้น จะต้องอัพเดทยังไงดี ทีนี้ไม่ว่ายังไง ไม่ว่าจะดึกแค่ไหน ก็ต้องเข็นตัวเองให้ปั่นจนเสร็จวันละชิ้นให้ได้
3. "การทบทวนตัวเองทุกวันช่วยได้"
อีกสิ่งหนึ่งที่ได้จากการอัพเดทความคืบหน้าของ challenge ซึ่งผมอัพเดททุกวัน คือช่วงเวลาเล็กๆที่ได้มานั่งคุย นั่ง reflect กับตัวเอง ว่าวันนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะแค่การสร้างคอนเทนต์เท่านั้น แต่มันเลยเถิดไปถึงการใช้ชีวิต การทำงานในวันนั้นๆอีกด้วย ทำให้เราเจอว่าอะไรที่ทำให้วันนั้นเป็นวันที่ดี อะไรที่ยังปรับให้ดีขึ้นได้ อะไรคือสิ่งที่ต้องเลิกทำ การได้ทบทวนตัวเองช่วยปรับให้เราพัฒนาขึ้นได้
4. "1 วัน เรามีเวลา 24 ชม เท่านั้น ถ้าอยากจะทำอะไรเพิ่ม ก็ต้องตัดบางอย่างทิ้ง"
นี่เป็นหนึ่งในแก่นที่ได้จาก challenge ครั้งนี้เลยครับ เวลาเรามีเท่าเดิมไม่ว่ายังไงก็ตาม ดังนั้นการเพิ่ม task บางอย่างเข้ามาในแต่ละวันหมายถึงว่า เราจำเป็นต้องตัด หรือไม่ทำ บางอย่างแทน เวลาในชีวิตเราเป็นเหมือน zero sum game ที่พอเอาทุกอย่างที่ทำไปมารวมกันแล้ว เวลาก็กลายเป็น 0 ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ทำให้รู้ว่าจริงๆแล้วชีวิตเราเสียเวลาไปกันเรื่องหลายเรื่องที่ไม่ก่อประโยชน์อะไร หรือมีประโยชน์น้อยกว่าถ้าเทียบกับอีกอย่าง
5. "ชั่งน้ำหนักระหว่างความสุขตอนนี้ กับความสำเร็จในระยะยาว"
เรื่องนี้คือวินัยเลยครับ การหักห้ามใจตัวเองที่จะทำอะไรบางอย่างแล้วรู้สึกดี แต่พออีก 10 นาทีข้างหน้า เราอาจต้องรู้สึกเสียดายเวลาตรงนั้น สิ่งที่ช่วยย้ำเตือนได้คือเป้าหมายแรกเริ่ม ว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม ถ้าในระยะยาวแล้วมันจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ถ้าเป้าหมายเราชัดพอ มันจะช่วยเราเอาชนะแรงต้านของความเคยชินและความสุขชั่วคราวไปได้ครับ
ลองคิดดูว่าถ้าเราเก่งขึ้นแค่วันละ 1% ในหนึ่งปีเราจะเก่งขึ้น 37.8 เท่า นี่เป็นพลังของการค่อยๆพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
6. "เอาชนะแรกเฉื่อย แล้วอะไรๆจะง่ายขึ้น"
เป็นการสร้างพฤติกรรมใหม่ขึ้นมาครับ นั่นคือเราต้องเอาชนะ pattern การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แล้วแทนที่มันด้วยสิ่งใหม่ที่เราอยากทำเข้าไป ช่วงแรกจะมีแรงต้านแน่ๆครับ แต่ถ้าผ่านไปได้ แรงต้านจะค่อยๆน้อยลง จนในที่สุดมันจะง่ายและกลายเป็นความเคยชินแบบใหม่ (ไม่แน่ใจว่าเป็นกับทุกอย่างไหม แต่นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับ challenge ของผม)
7. "ความคิดเราอาจทำงานโดยไม่รู้ตัว"
เหมือนกับเวลาเราเปิดโปรแกรมบางอย่างทิ้งไว้แล้วสลับแท็ปไปใช้โปรแกรมอื่น โปรแกรมแรกก็ยังคงรันอยู่เหมือนเดิม สำหรับการคิดงานหรือคอนเทนต์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเริ่มต้นตั้งคำถามหรือค้นหาข้อมูลต่างๆก่อนแล้ว ระหว่างวันที่สลับไปทำอย่างอื่น ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ เราจะยังคงคิดถึงเรื่องนั้นๆอยู่ ระหว่างพัก ระหว่างเดิน กิน อาจเกิด AHA moment ขึ้นมาก็ได้ มาสรุปแล้วจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร หรือจะทำคอนเทนต์อะไรออกมาในรูปแบบไหน
ในวันที่ผมเริ่มต้นหาข้อมูลเขียนคอนเทนต์ตั้งแต่เนิ่นๆก็เช่นกัน พอมาถึงเวลาที่ลงมือเขียน (ซึ่งมักจะทิ้งห่างตอนเริ่มต้นมาพอสมควร อาจจะเริ่มคิด เริ่มหาข้อมูลตอนเช้า แล้วมาเริ่มเรียบเรียง เริ่มเขียนตอนเย็น) มันจะง่ายและลื่นขึ้นมาก จะรู้สึกว่าใช้เวลาในการหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือเรียบเรียงใจความไม่มาก กลับกัน ถ้าวันไหนวุ่นจนไม่ได้ทำมันเลย แล้วค่อยมานั่งคิดทีเดียวว่าจะเขียนอะไรตอนดึกๆ จะรู้สึกว่าใช้เวลากับคอนเทนต์วันนั้นมากเป็นพิเศษ และบางครั้งอาจเรียบเรียงมันออกมาไม่ค่อยดี ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ระยะเวลาหาข้อมูล และนำไปเขียน อาจเท่ากันทั้งสองวันก็เป็นได้ แต่ในวันที่เริ่มก่อน ช่วงเวลาที่สลับไปทำอย่างอื่น ในหัวของเรายังคงค่อยๆปรับปรุงมันให้ดีขึ้น แต่ในวันที่มาทำทีเดียว สิ่งเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น เพราะต้องเริ่งทำให้เสร็จก่อนนอน ดังนั้น "การเริ่มเร็ว แต่ปิดงานช้า" อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ก็เป็นได้
8. "ต้องรู้ว่าทำไปทำไม"
จริงๆแล้วอาจฟังดูเหมือนข้ออ้าง แต่ความตั้งใจแรกของ challenge นี้คือการทำตอนเทนต์ โดยไม่ได้สนใจว่าจะมีใครเข้ามาอ่านหรือไม่แต่อย่างใด รวมถึงเป็นการโฟกัสที่ความสม่ำเสมอมากกว่าการขัดเกลาคุณภาพให้ถึงที่สุด ดังนั้น ถ้าต้องเลือกระหว่างปล่อยคอนเทนต์ที่อาจจะยังไม่ถูกใจ กับเก็บมันไว้ เกลาจนพอใจ ผมจึงเลือกปล่อยออกไปเสมอ พอเราเข้าใจจุดมุ่งหมายของสิ่งที่ทำจริงๆ จะทำให้เราไม่ได้ทุกข์หรือกระวนกระวายมากนักเมื่อไม่เห็นยอดคนดูเพิ่มขึ้นเท่าไร นี่เป็นวิธีการรับมือของผม
9. "Dream big. Start small. But most of all, START !"
เหมือนอย่างที่ Simon Sinek พูดไว้ครับ สุดท้ายแล้วไม่ว่าสิ่งที่เราอยากทำมันจะง่ายหรือยากแค่ไหน เราจะมองมันในรูปแบบไหน หรือเราจะเป็นคนคิดลบ คิดบวกแค่ไหน สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรอยู่ดี ถ้าเราไม่เริ่มลงมือทำ "ฝันให้ใหญ่ เริ่มเล็กๆ แต่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่ม" ดังนั้นต้องเริ่มให้ได้ครับ กำจัดข้ออ้างต่างๆที่เคยขัดขวางเรา มั่นใจในตัวเอง แล้วลงมือทำ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวก็ไม่เป็นไรครับ บางครั้งเราแค่ต้องเลิกคิดมากแล้วลงมือทำเท่านั้นเอง
พอมานั่งทบทวนตัวเองดู จริงๆแล้วสิ่งที่ได้ทำใน challenge มันเหมือนกับเป็นบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวันเลยทีเดียว แถมยังเป็นการบังคัมตัวเองให้ต้องรู้อะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นเพื่อมาเขียน เรียกว่าถ้าใครอยากที่จะเรียนรู้เรื่องอะไรเพิ่ม แต่ยังไม่เคยทำได้สักที การเอามาตั้ง challenge ให้ต้องสื่อสารกับคนอื่น จะเป็นการบังคับให้เราต้องเรียนรู้สิ่งนั้นๆเพิ่มขึ้นไปโดยปริยายเลยครับ
สุดท้าย ถ้าเกิดใครได้เข้ามาอ่าน แล้วอยากจะพูดคุยหรือ feedback ตรงไหน ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง บอกได้เลยไม่ต้องเกรงใจนะครับ
ตอนนี้ยังไม่แน่ใจ ว่าจะรักษาความถี่เท่าเดิม หรือเปลี่ยนไปโฟกัสกับอย่างอื่นแทนดี
แต่ยังไงก็ขอขอบคุณทุกคนที่อยู่ด้วยกันมาตลอด 30 day challenge นะครับ
แล้วพบกันใหม่เร็วๆนี้
โฆษณา