27 ธ.ค. 2020 เวลา 03:28 • นิยาย เรื่องสั้น
“นางตะเคียน” วัดนางกุย พระนครศรีอยุธยา
ภาพนางตะเคียนถ่ายจากวัด
ช่วงปี 2532-33 ผมได้รับมอบหมายจากหัวหน้าโครงการเงินกู้ ของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ให้รับผิดชอบโครงการ integrated farm test ซึ่งเป็นโครงการที่ ADB (Asian Development Bank) ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตัวอย่างในจังหวัดต่างๆ จังหวัด ละ 2 คน ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็เป็นหนึ่งในนั้น งานที่ผมทำเป็นการทดสอบ รูปแบบฟาร์มทดลองต่างๆ ตามความเหมาะสมของพื้นที่อำเภอแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นก็กลับมาพักที่หน่วยราชการในตัวเมือง โดยไม่ต้องเสียค่าที่พัก ณ สถานที่แห่งนี้ที่ผมได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงตาแสวง อายุของท่านกว่า 80 ปีแล้วในช่วงเวลานั้น ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนางกุย
ภาพป้ายวัดนางกุย
ที่นี่ผมได้เรียนรู้อะไรต่อมิอะไรจากหลวงตาแหวงมากมาย
หนึ่งในเรื่องราวเหล่านั้นคือเรื่องเกี่ยวกับนางตะเคียนที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟัง
ภาพถ่ายจากวัดนางกุย
ก่อนที่จะเล่าเรื่องราวนางตะเคียนในวัดนางกุยคงต้องบอกเล่าเกี่ยวกับหลวงตาแสวง หรือหลวงตาแหวง ก่อนว่าทำไมนางตะเคียนถึงศรัทธาในตัวหลวงตานัก
บิดาของหลวงตาแสวงรับราชการเป็น”พระยาคชาชีวินทร์ “ (กูเกิ้ลไม่รู้จักคำนี้) ปฏิบัติราชการในกรมคชบาล เวลาออกศึกจะทำหน้าที่รักษาเท้าช้าง หรือจตุรงคบาท นอกจากจะมีฝีมือยิงปืนแม่นแล้วยังมีเชิงดาบเป็นยอด เพื่อคุ้มครองเท้าคชบาลซึ่งเป็นช้างทรงพระมหากษัตริย์ ท่านยังมี ”คาถาบังไพร” ตามกฎให้ตกทอดลงมาเฉพาะแก่ลูกชายเท่านั้น คาถานี้ใช้หลบข้าศึกศัตรูเวลาออกสืบหาที่ข้าศึกซ่อนตัว หรือเป็นกองกำลังออกลอบโจมตี ข้าศึกจะมองเห็นแต่ต้นไม้มิเห็นเรา (ผมลองค้นดูเห็นว่าหลวงพ่อกวยท่านก็ให้คาถานี้ไว้เหมือนกัน
โดยให้หักกิ่งไม้มากิ่งหนึ่ง แล้วเด็ดใบออกทิ้งเสียให้เหลือแต่ใบดี 7 ใบ จิตให้นึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วท่อง นโม 3 จบ นึกถึงครูบาอาจารย์
ใบไม้ใบแรกใช้นิ้วชี้ขวาเขียนอักษรคำว่า “วะ”
ใบไม้ใบสอง ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “สะ”
ใบไม้ใบสาม ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “ทะ”
ใบไม้ใบสี่ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “สะ”
ใบไม้ใบห้า ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “นะ”
ใบไม้ใบหก ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “สะ”
ใบไม้ใบเจ็ด ใช้นิ้วขวาเขียนอักษรคำว่า “ปะ”
ให้มือกับจิตเขียนหัวใจคาถาพร้อมกัน มือซ้ายถือกิ่งไว้ แล้วกลั้นหายใจเขียนครั้งเดียว เสร็จแล้วใช้ใบไม้ปรกที่หัว ศัตรูจะมองไม่เห็นเรา)
ไม้ตะเคียนที่ยืนต้นตาย
หลวงตาแหวงก็ได้คาถาและของดีต่างๆ ของบิดามาติดตัว และได้ไปร่ำเรียนวิชาการต่างๆมากมาย
หลวงตาเกิดก่อน ร.5 สิ้นพระชนม์ 1 วัน และได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติยศสูงสุด คือเป็นมหาดเล็กเฝ้าหน้าห้องบรรทม ร.6 , ร.7 และ ร.8 หลังจากนั้นชีวิตพลิกผันไปเป็นเสือบ้านกอไผ่ มีสมัครพรรคพวกร่วม 100 คน (ปัจจุบันเป็น บ้านกอไผ่ หมู่ 3 ตำบลบ้านยางงาม อำเภอปากท่อ ราชบุรี ประวัติหลวงตาแหวง ผมคงต้องเขียนชีวประวัติอาจารย์ของผมเป็นเรื่องต่างหาก ท่านบวชเมื่ออายุ 80 โดยโยมแม่ขอให้บวช ท่านจึงใช้ชีวิตช่วงเป็นฆราวาสได้มากมาย โลดโผนนัก)
ต้นปัจจุบัน (2563)
ท่านบวชแล้วก็มาจำพรรษาที่วัดนางกุยนี้อยู่หลายพรรษาก่อนจะไปมรณะภาพที่วัดแค ซึ่งอยู่ในเมือง
เย็นวันหนึ่งหลังจากไปปฏิบัติราชการด้านงานฟาร์มนอกเมืองแล้ว ผมพร้อมด้วยลูกน้องจึงได้เดินทางมาพักที่หน่วยงานซึ่งอยู่ในตัวเมือง ด้านหลังที่ตั้งหน่วยงานเป็นบ้านพักของลุงแขก ซึ่งเป็นนักการภารโรง มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำเย็นสบาย ผมกับลูกน้องและคนขับรถ เลือกนอนที่บ้านหลังนี้ เมื่อมองไปยังแม่น้ำ ลุงแขกบอกว่า ฝั่งโน้นคือวัดนางกุยมีพระ 1 เณร 1
อุโบสถวัดนางกุย
เย็นนั้น(ราวปี 2532) หลวงตาพายเรือข้ามแม่น้ามาที่บ้านลุงแขก เป็นกิจวัตรที่หลวงตาจะข้ามฝั่งมาสนทนากับลุงแก เพราะเป็นเกลอกันมาก่อน หลวงตาเป็นคนรูปร่างสูงใหญ่ หู ตาดี ฟันฟางพอมี แข็งแรง ไม่อ้วน ขนาดน้ำเขี่ยวยังพายข้ามลำน้ำดูเหมือนไม่ได้ออกแรงมาก สักพักก็ถึงฝั่ง จัดแจงผูกเรือแล้วลุงแขกก็นิมนต์ขึ้นฝั่งมานั่งที่แคร่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ผมกับคณะก้มลงกราบ พร้อมกับรายงานตัวกับภาระหน้าที่คร่าวๆ ให้ทราบ ก็ไม่ทราบด้วยเหตุผลกลใดที่อยู่ๆ หลวงตาก็บอกว่าเดี๋ยวให้คนออกไปซื้อแผ่นทองตราช้างที่ตลาดหัวรอ มาสัก5-6 แผ่น พรุ่งนี้เช้ามืด อาตมาจะลงของขลังให้ที่หน้าผากให้กับทุกคน ของอาตมาจะมุดรั้ว รอดราวตากผ้าถุง ไม่มีเสื่อม ขอข้อเดียว
“อย่าผิดเมียใคร”
“ถ้าไปทำมา มันจะปรากฎให้อาตมาเห็น”
ส่วนตัวผมเลยถือโอกาสฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ซึ่งตั้งแต่เกิดมานอกจากฝากตัวเป็นศิษย์กับรูปหล่อพระสามพี่น้องที่วัดสระกะเทียม นครปฐมแล้ว ก็ไม่เคยเป็นศิษย์พระเป็นๆ องค์ใดเลย หรือจะเป็นอย่างที่คนมักจะพูดกันว่า ศาสนาพุทธ ไม่มีเรื่องอะไรที่บังเอิญ
การลงแผ่นทองประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ก็ให้มีเรื่องราวแปลกประหลาดระหว่างทำพิธี เรียกว่าเป็นอภินิหารก็น่าจะได้ (ไม่อยากเขียนลงจะเป็นการอวดอุตริเสียเปล่าๆ)
พระพุทธรูปไม้สักในอุโบสถวัดนางกุย
ภาพด้านข้างแสดงให้เห็นเนื้อไม้
รุ่งเช้าเป็นวันหยุด หลวงตาพายเรือมารับผม รุ่นน้อง รวมหลวงตาก็ 3 คน โดยหลวงตาพายเรือเองพาพวกเราไปเยี่ยมชมวัด ผมเดินเท้าไปยังกุฏิที่หลวงตาจำวัด ตัวกุฏิเองกลับบอกเล่าเรื่องราวการสร้างบ้านสมันก่อน โดยกุฏิที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้ามีแต่การเข้าลิ่ม ตอกสลักไม้ ไม่มีการตอกตะปูเลย ลักษณะใต้ถุนสูง เมื่อน้ำท่วมข้าวของบนบ้านจะไม่เสียหาย
“ปลูกเรือนใกล้วัด ไม้ปัดหลังคา หมาเยี่ยมหน้าต่าง” สิ่งเหล่านี้คนโบราณห้ามทำ
“ดูเรือนอาตมา สูงเท่าไดโนเสาร์เลย” หลวงตาสัพยอก
“ขอดูข้างบนหน่อยครับ”
“เอ้า...เขิญตามสบาย ไอ้หนุ่มคนนั้นด้วย” หลวงตากวักมือเรียกลูกน้องผมให้ขึ้นไปชมด้วยกัน
“ดูไว้ ข้างหน้าจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว” หลวงตาคะยั้นคะยอลูกศิษย์ใหม่หมาดๆ ให้ชมของล้ำค่า
ภาพกุฏิบูรณะใหม่
บันไดทางขึ้นลง
ตัวกุฏิได้รับการบูรณะ
(กุฏิที่เห็นในรูปเป็นการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด แต่ไม่มีการพักอาศัย)
ผมขึ้นไปดูกุฎิที่หลวงตาจำวัด ดูห้องนอน เตียงนอน ประตู หน้าต่าง ทุกอย่างเรียบง่าย สมถะ
สมควรแก่เวลา
“อาตมาได้เวลากินหมากแล้ว”
“ไปลงเรือ เถอะ ฉันจะพายไปส่ง”
“ครับ หลวงตา” ผมสองคนรับคำ
สักพักพวกเราก็มาถึงบ้านลุงแขก
ลุงแขกจัดแจงหมาก พลู ปูนแดง ยาเส้น แล้วใช้ตะบันตำหมากให้พอดีคำ หยิบหมากที่ตำเสร็จประเคนให้หลวงตารับหมากใส่ปากเคี้ยว แล้วยัดยาเส้นใต้เหงือกราวกับคนโดยผึ้งต่อยปากตุ่ย
“หลวงตาครับ ตัวเลขข้างผากุฏิเยอะแยะไปหมด มันเลขอะไรครับ” ผมถามขึ้น
“แกคงคิดว่าข้าเล่นหวยล่ะซี”
“จะเล่าให้ฟังก็แล้วกัน” หลวงตาหันไปบ้วนน้ำหมากลงกระโถน
“แกสองคนเห็นต้นไม้ใหญ่ ที่ยื่นกิ่งก้านคลุมหลังคาศาลาการเปรียญไหม”
“เห็นครับ” เราสองคนรับปากพร้อมกัน
“นั่นต้นตะเคียน..ร้อยวันพันปีกิ่งก้านมิเคยได้หล่นลงหลังคาศาลาวัดเลย”
“มีแต่ตกลงข้างๆศาลา” หลวงตาผินหน้าไปทางวัด
“วันดีคืนดีก่อนหวยออก วัน สอง วัน อยู่ๆ ก็มีเลขขึ้นบนฝากระดาน”
“ที่แกสองคนเห็นนั่นแหละ ไม่ใช่ฝีมือฉัน”
“เขาคงอยากลองใจว่าอาตมาจะโลภไหม”
“หลวงตาเล่นไหมครับ” ผมพนมมือขึ้นถาม
“ไม่เคยแม้แต่จะไปบอกใครต่อใคร”
“ตาแขกฉันก็ไม่บอก”
“หลวงตานะหลวงตา คราวหน้าซื้อหมากมาเองนะ” ลุงแขกพูดทำนองประชด
“เออ..ตาแขก หลานแกหายดี สติ-สตัง กลับมารึยัง” หลวงตาเอ่ยถาม
“ พอจะพูดรู้เรื่องครับหลวงตา”
“อะไรกันเหรอครับ” ผมพนมมือไปทางหลวงตา
“ตาแขกเขาจะให้หลานขายบวชพระที่วัดนี้” หลวงตาหยิบกระโถนแล้วคายหมาก
“ ก็เลยให้เขามาพักที่กุฏิหลวงตา”
“ตาแขกก็สั่งแล้วว่า มาพีกที่นี่ห้ามนอนบนเตียงหลวงตา และอย่าเอาเลขข้างฝาผนังไปแทงหวยเด็ดขาด” หลวงตาทบทวนให้พวกเราฟัง
นางตะเคียนแกะสลักจากไม้ตะเคียนทั้งต้น
นางตะเคียนทองวัดนางกุย
“เกิดอะไรขึ้นครับ”
“ก็สิ่งที่ห้าม มันทำทุกข้อ”
“ก็เลยเจอดี”
“คืนนั้นหลวงตากลับดึก เพราะวัดโน้นพระไม่พอ เขาจึงมานิมนต์ไปสวดงานศพ”
“กลับมาเห็นหลานตาแขก นั่งตาค้างมองหน้าต่างบานที่เปิดไปทางต้นตะเคียน”
“อาตมาก็เลยต้องถอน ให้ขวัญเจ้าหลานชายกลับมา”
“แล้วแกถามมันได้ความว่าไง ตาแขก)
“มันบอกว่ามันเอาหนังสือปกขาวไปนอนอ่านบนเตียงหลวงตา” ลุงแขกหยุดสักครู่
“แล้วจู่ๆ ก็มีลมพัดแรงมาก หน้าต่างเปิดออก กำลังจะเอื้อมมือไปปิดหน้าต่าง”
“ทันใดนั้นก็มีใบหน้าของผู้หญิงเลื่อนลงมาจากข้างบนหลังคา มาบังเต็มบานหน้าต่างทั้งสองบาน” ลุงแขกเล่าถึงตอนนี้ หลวงตาดูเหมือนจะสรุปปิดท้ายว่า
“ฉันผลักบานประตูกุฏิเข้ามา เจ้าหลานชายแก พนมมือค้างอยู่อย่างนั้น ตัวสั่นเป็นลูกนกตกน้ำ...เลยถอนให้”
“ตาแขก แกอย่าลืมให้หลานไปขอขมาแม่นางตะเคียนล่ะ“///\\\
โฆษณา