3 ม.ค. 2021 เวลา 03:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปัญหาของอาวุธ "โดรน"
ที่พูดถึงโดรนเพราะว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 1 ปีการเสียชีวิตของนายพล Qasem Soleimani ของอิหร่านที่ถูกสังหารโดยโดรนของสหรัฐอเมริกา เหตุการณ์นี้สร้างความสั่นสะเทือนและหวาดวิตกไปทั่วโลก เพราะมันเป็นครั้งแรกที่อเมริกาใช้โดรนในการสังหารนายพลระดับสูงสุดของอีกประเทศหนึ่ง (Soleimani เนี่ย ว่ากันว่ามีอิทธิพลเป็นอันดับที่ 2 ในอิหร่าน โดยที่อันดับ 1 คือผู้นำสูงสุด Ali Khamenei)
อาวุธโดรน หรือ unmanned aerial vehicle (UAV) ที่แปลเป็นไทยว่าอากาศยานไร้คนขับ เป็นอาวุธยอดฮิตในสงครามยุคใหม่ รัฐบาลทั่วโลกต่างชอบโดรนเพราะมันช่วยลดความเสี่ยงในการทำสงครามไปได้เยอะมาก
(Source: Bureau of Investigative Journalism)
1. โดรนมีราคาไม่แพง เพราะการพัฒนาอาวุธโดรนไม่ต้องคำนึงถึงห้อง/อุปกรณ์สำหรับคนขับและคนนั่ง (เช่น ระบบปรับความดัน) ประหยัดพื้นที่ สามารถสร้างได้หลายไซส์
2. สามารถคอยสังเกตการณ์และเล็งเป้าหมายจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำ แถมยังมีชั่วโมงบินที่นานอีก โดรนบางรุ่นสามารถบินได้นานเป็นอาทิตย์
3. ไม่ต้องส่งทหารไปเสี่ยงตาย (อันนี้สำคัญสุดๆ) และภารกิจที่ใช้โดรนมีแนวโน้มจะสำเร็จลุล่วงไปได้ดีมากกว่าการพึ่งคน ในกรณีที่อากาศไม่เป็นใจ นักบินต้องถอยก่อนเพื่อความปลอดภัย แต่โดรนยังลุยต่อได้
อีกอย่างคือคนเนี่ย...เวลาไปอยู่ในสภาพกดดันของสนามรบอาจจะตัดสินใจผิดพลาด มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง พอเห็นว่ามีช่องว่างโจมตีศัตรูต้องรีบบุกทันทีเพราะกลัวเสียโอกาส เกิดคำนวนพลาดขึ้นมาก็ถอยไม่ได้อีก ในขณะที่โดรนซึ่งสอดแนมศัตรูอยู่ตลอดเวลา สามารถ make last minute changes ได้
4. ด้วยความที่โดรนมาพร้อมกับเทคโนโลยี Precision Guided Munitions หรือ PGMs ที่มีความแม่นยำในการโจมตี ทำให้ collateral damage หรือความเสียหายข้างเคียงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับอาวุธสามัญ (conventional weapons) ชนิดอื่น
แต่ในขณะเดียวกัน การใช้อาวุธโดรนก็ตามมาด้วยปัญหาและคำถามเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำสงคราม
ประเด็นแรก คือ หลายคนเชื่อว่าโดรนเป็นตัวกระตุ้นและโปรโมทสงคราม
ซึ่งตามหลักจิตวิทยาก็คงจริงอยู่ การที่เราไม่ได้ส่ง "คน" แต่ส่ง "หุ่น" ที่ไร้ความรู้สึกไปรบทำให้เรารู้สึกลำบากใจน้อยลง พอนานไปก็อาจจะไม่ลำบากใจเลยก็ได้...
พอประชาชนไม่คัดค้าน รัฐบาลก็สามารถก่อสงครามได้อย่างไม่ต้องกังวล
ขอยกสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (ก่อนโดนโจมตีที่ Pearl Harbour) และสงครามเวียดนาม คนอเมริกันส่วนมากแอนตี้สงครามเพราะไม่อยากส่งลูกหลานไปเสี่ยงตาย ยิ่งในสงครามเวียดนามที่แผ่นดินอเมริกาไม่ได้ถูกโจมตีโดยตรง ประชาชนยิ่งต่อต้าน หลายคนไม่สนใจว่าอเมริกาจะ "แพ้" แค่ขอให้เอาลูกหลานชาวอเมริกันกลับบ้านก็พอ สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องถอนทหารออกมา
กองทัพสหรัฐเริ่มใช้อาวุธโดรนครั้งแรกในสงครามอ่าวปี 1991 ในตอนนั้นโดรนถูกใช้เป็นเครื่องมือการสอดแนมและลาดตระเวน เทคโนโลยีที่เหนือกว่าทำให้อเมริกาสามารถเอาชนะอิรักได้อย่างรวดเร็วและสูญเสียทหาร (ฝั่งตัวเอง) น้อยมาก
การใช้โดรนติดอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคของรัฐบาลโอบามา (2008-2016) ทำให้มีการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของโดรนมากขึ้น
ผลวิจัยของหลายสำนักพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับได้ (บางคนก็สนับสนุนด้วยซ้ำ) กับการโจมตีด้วยอาวุธโดรน ไม่ใช่แค่ในสงครามต่อต้านก่อการร้ายเท่านั้น แต่รวมไปถึงสงครามประเภท "การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรม" (เช่น ที่ลิเบีย) ด้วย
การใช้อาวุธโดรนยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีกในยุคของทรัมป์ โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลทรัมป์ใช้อาวุธโดรนในการโจมตี 360 ครั้งต่อปี....ก็คือโจมตีแทบจะทุกวันเลย
ปัญหาอีกข้อ คือ โดรนเป็นตัวขยาย conflict zones หรือพื้นที่ความขัดแย้ง
อย่างที่เราทราบกันดี โดรนที่มีความแม่นยำในการโจมตีนั้นเอื้อต่อการฆ่าที่ระบุเป้าหมาย (targeted killings) โดรนจึงมักจะถูกใช้ในภารกิจไล่ล่าผู้ก่อการร้าย
แต่ผู้ก่อการร้ายมักจะแฝงตัวอยู่ในชุมชนเหมือนคนธรรมดา พูดง่ายๆก็คือใช้คนบริสุทธิ์เป็นเกราะกำบัง เพราะฉะนั้นต่อให้โดรนแม่นยำขนาดไหนก็ไม่แคล้วลากประชาชนทั่วไปเข้ามาซวยด้วย
คราวนี้แหละ...ความเกลียดชังในหมู่ประชาชนที่ถูกโจมตีด้วยโดรนก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนที่ตอนแรกวางตัวเป็นกลาง ตัดสินใจเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย
เอ้า....กลายเป็นสร้างศัตรูเพิ่มไปอีก
(Source: The PRI)
ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงมีสมาชิกใหม่โผล่มาเรื่อยๆ ฆ่าเท่าไหร่ก็ไม่ตาย
ปัญหาต่อมา คือ การใช้อาวุธโดรนไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎหมายระหว่างประเทศ และช่องว่างนี้ก็เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆพัฒนาและใช้อาวุธโดรนได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และจริยธรรมทางการทหารหลายข้อ เช่น...
การใช้อาวุธโดรนโจมตีเป้าหมายในต่างแดน ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยหรือไม่?
แล้วการโจมตีแต่ละครั้ง มีสาเหตุและจุดมุ่งหมายที่ชอบธรรมแล้วหรือ?
รัฐบาลสหรัฐได้ให้เหตุผลว่าการใช้โดรนล่าหัวผู้ก่อการร้าย คือการ "ป้องกันตัว"
ตามหลักแล้ว การจะชิงโจมตีก่อนเพื่อไม่ให้ศัตรูทำร้ายเราได้ (pre-emptive strikes) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างแดน ต้องใช้กับ imminent threat หรือภัยคุกคามซึ่งหน้า เท่านั้น
ทีนี้ก็มาถึงคำถามต่อไป ใครเข้าข่ายเป็น imminent threat บ้างล่ะ? กลุ่มผู้สนับสนุนทางการเงิน ท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มก่อการร้าย ด้วยหรอ?
แล้วในกรณีโจมตีซ้ำสองในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายเข้าไปช่วยกู้ร่างประชาชนที่เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งแรกล่ะ? การโจมตีซ้ำสองแบบนี้ ในวงการทหารเรียกกันว่า "follow-up strike" หรือ "double tap"
มีเคส follow-up drone strike ที่น่าจดจำคือการสังหารสมาชิกระดับสูงของกลุ่ม Al-Qaeda นามว่า Abu Yahya Al-Libi เขาเสียชีวิตพร้อมกับประชาชนอีกหลายคนขณะออกไปช่วยเหลือคนที่บาดเจ็บจากการโจมตีในครั้งแรก
แบบนี้ถือว่าเป็นการใช้โดรนก่ออาชญากรรมสงครามหรือเปล่า?
Reference List:
Annis, Franklin C. “Drones and the Legality and Ethics of War”. Small Wars Journal. Last modified February 20, 2020. https://smallwarsjournal.com/jrnl/art/drones-and-legality-and-ethics-war.
Carment, David. “Increased use of drones by Trump’s regime signals a disturbing change in military policy”. Hamilton Spectator. Last modified January 14, 2020. https://www.thespec.com/opinion/contributors/2020/01/14/increased-use-of-drones-by-trump-s-regime-signals-a-disturbing-change-in-military-policy.html.
Keene, Shima D. Lethal and Legal? The Ethics of Drone Strikes. Pennsylvania: U.S. Army War College Press, 2015.
Walsh, James Igoe., and Schulzke, Marcus. The Ethics of Drone Strikes: Does Reducing the Cost of Conflict Encourage War?. Pennsylvania: U.S. Army War College Press, 2015.
Warrell, Helen. “From Desert Storm to Soleimani: how US drone warfare has evolved”. Financial Times. Last modified January 9, 2020. https://www.ft.com/content/6346dd78-322d-11ea-9703-eea0cae3f0de.
โฆษณา