29 ธ.ค. 2020 เวลา 00:11 • ท่องเที่ยว
วัดเขาพระอังคาร จ.บุรีรัมย์
“วัดเขาพระอังคาร” … ตั้งอยู่ที่ บ้านเจริญสุข ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ บนยอดเขาพระอังคารซึ่งสูงประมาณ 320 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ตามประวัติลายแทงธาตุพนม กล่าวว่า … เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้วที่เมืองกุสินารา หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว โทณพราหมณ์ได้แจกพระธาตุไป 8 พระนคร อยู่มามีเมือง ๆ หนึ่งไปขอพระธาตุหลังจากพระธาตุได้แจกไปหมดแล้ว โทณพราห์มจึงเอาทะนานทองตวงเอาธาตุพระอังคาร (ขี้เถ้า) มอบให้มา
คนที่ได้พระอังคารธาตุ จึงได้เดินทางกลับมาทางทิศอีสานใต้ พอถึงภูเขาลูกนึงคือ “ภูเขาลอย” มีรูปลักษณะสวยงามรูปร่างเหมือนรูปพญาครุฑนอนคว่ำหน้า จึงมีความคิดว่าน่าจะนำพระอังคารธาตุบรรจุไว้ที่แห่งนี้
มีการสถานที่บรรจุพระอังคารธาตุไว้ที่ไหล่ข้างซ้ายของพญาครุฑ และเปลี่ยนชื่อ “ภูเขาลอย” เป็น “ภูเขาพระอังคาร” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
“ภูเขาพระอังคาร” เป็นแหล่งศึกษาด้านธรณีวิทยาเกี่ยวกับภูเขาไฟและมีความสำคัญเกี่ยวกับโบราณคดี ยังมีทรัพยากรหินที่สำคัญ ทรัพยากรป่าไม้หลากหลายพันธุ์ รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และวิวัฒนาการในการสร้างศาสนสถานด้วยน้ำมือมนุษย์อย่างแท้จริง ในสมัยโบราณของบรรพบุรุษของชาวอีสานใต้
“วัดเขาพระอังคาร” … เชื่อว่าเป็นวัดที่สร้างมานานในยุคที่ขอมเรืองอำนาจในพื้นที่แถบนี้ และน่าจะสร้างในยุคเดียวกันกับปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
ส่วนสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างที่เห็นในวัดปัจจุบัน ส่วนใหญ่สร้างใหม่ทับของเก่า อันเนื่องจากสาเหตุที่สิ่งก่อสร้างเดิมขาดการทะนุบำรุงมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี จนทรุดโทรมลง
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2520 พระอาจารย์ปัญญา วุฒิโส ได้เดินธุดงค์มายังเขาพระอังคาร ก็ได้พบเห็นโบราณวัตถุศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การสักการบูชา คือพระอังคารธาตุ รอยพระพุทธบาทจำลอง ใบเสมาศิลาแลง 8 คู่ 8 ทิศ แผ่นเสมาศิลาแลงแกงสลักเป็นรูปต่าง ๆ รูปเสมาธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ... ตามที่หลวงปู่วิริยะเมฆ นิมิตให้ทุกอย่างจึงได้จัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมเรื่อยมาและมีญาติโยมจากหมู่บ้านใกล้เคียงและต่างจังหวัดมารักษาศีลปฏิบัติธรรมอยู่ประจำเสมอมา
ปัจจุบันเขาพระอังคารได้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานและโบราณวัตถุของจังหวัดบุรีรัมย์อีกแห่งหนึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวพุทธ
สถาปัตยกรรมของโบสถ์และสิ่งก่อสร้างภายในวัดดูสวยงามแปลกตา โดยสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยต่างๆ หลายรูปแบบที่น่าสนใจ
พระอุโบสถ … ออกแบบโดยนำศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคสมัยต่างๆ มาผสมกลมกลืนรูปลักษณ์อุโบสถคล้ายปรางสามยอด มียอดเจดีย์แต่ละองค์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ลดหลั่นกันไป กึ่งกลางของฐานแต่ละชั้นทำเป็นชั้นทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดับอย่างสวยงาม
ที่น่าสนใจ คือมีพระประธานพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีความสวยงาม แต่แตกต่างจากโบสถ์วัดทั่วไป เป็นโบสถ์ทรงแปลก ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ รายล้อมรอบด้วยพระพุทธรูปปางมารวิชัย 109 องค์
ภายในโบสถ์ … มีจิตรกรรมฝาผนังภาพพุทธประวัติ และเรื่องราวพุทธชาดก เขียนบรรยายภาพเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากช่างวาดภาพเป็นชาวพม่า
พระอังคารธาตุเป็นสิ่งที่ควรสักการบูชาได้ประดิษฐานไว้บนอุโบสถ
บริเวณวัดเป็นปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว คาดว่าเคยเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสมัยทวารวดี ด้วยเหตุที่มีการพบเสมาหินที่แกะสลักสลักเป็นรูปต่าง ๆ สมัยดังกล่าวหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ... ใบเสมาสมัยทวารวดีเหล่านี้ทำด้วยหินบะซอลท์ซึ่งไม่เคยพบใบเสมาแบบเดียวกันนี้ในประเทศไทยเลย
ใบเสมา 8 คู่ ตั้งอยู่ 8 ทิศ ... ขนาดสูง 108 ถึง 210 เซนติเมตร เป็นศิลปะขอมแบบไพรกเม็ง สันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เกือบทุกหลักสลักเป็นเทวรูปยืนถือดอกบัว แต่งกายตามแบบความนิยมของคนในยุคนั้นคือนุ่งผ้าสั้นมีชายพกด้านขวา เทวรูปส่วนใหญ่มีลักษณะไม่สมบูรณ์เพราะถูกขโมยลักลอบสกัดเอาภาพพระพักตร์ออกไป จึงได้ใช้ปูนปั้นพอกซ่อมแซมไว้
ชอบลักษณะดั้งเดิมของใบเสมาที่แกะสลักเป็นรูปต่างๆที่ไม่ซ้ำกัน ดูคลาสสิกและเปี่ยมคุณค่า
ใบเสมาสมัยทวารวดี ภายในพระตำหนักศักดิ์สิทธิ์ ... ลักษณะใบเสมาที่เก็บไว้ที่นี่ ค่อนข้างสมบูรณ์ บนใบเสมาสลักเป็นรูปทิพยบุคคลหรือเทวรูปในพระพุทธศาสนานิกายมหายานประทับยืนบนแท่นสี่เหลี่ยมด้านหลังมีพัดโบก และมีฉัตรอยู่ด้านบน
... แต่น่าเสียดาย (ความรู้สึกส่วนตัว)ที่มีการปิดทองเหลืองอร่าม ผิดแผกไปจากลักษณะดั้งเดิม
พระพุทธรูปโบราณ … ภายในตำหนักหลวงปูวิริยะเมฆ
เทวรูปเจ้าเมืองขอม … ด้านหนึ่งของตำหนักหลวงปูวิริยะเมฆ
พระนอนขนาดใหญ่ 1 องค์
รูปเสมาธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา สร้างเมื่อสมัยใดไม่มีใครทราบ
พระคันธารราษฎร์ และรอยพระพุทธบาทจำลอง ... รอยพระพุทธบาทจำลองปรากฏชัด สันนิษฐานว่าโบราณวัตถุเหล่านี้น่าจะสร้างในยุคเดียวกับปราสาทหินพนมรุ้ง หรือมากกว่า 2,000 ปี ในปี พ.ศ. 2471 หลวงพ่อก้อน ยโสธโร วัดโพธาราม บ้านผักหวาน ตำบลถนนหัก อำเภอนางรอง ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูโสภณธรรมคุต ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอนางรองได้นำพระภิกษุสามเณรและญาติโยมบ้านผักหวาน มาสร้างศาลาเก็บรอยพระพุทธบาทจำลองเพื่อทำบุญเดือน 6 เป็นประจำทุกปี
ต่อมา ในพ.ศ. 2494 พระครูโสภณธรรมคุตได้มรณภาพลง โบราณสถานวัตถุก็ขาการทะนุบำรุง จะมีแต่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง เช่น บ้านเจริญ บ้านหนองสะแก บ้านป่ารังมาทำบุญตักบาตรเพื่อทำพิธีบวงสรวงขอฝนทุกปี
มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูป ...
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา