29 ธ.ค. 2020 เวลา 09:15 • หนังสือ
"หนังสือเล่มนี้จะจำกัดช่วงเวลาของการศึกษาอยู่ในระยะเวลา 20 ปี คือระหว่างทศวรรษ 1950-1960 และใช้หลักฐานจากเอกสารลับที่เพิ่งเปิดให้เข้าถึงได้ (declassified) ของสหรัฐอเมริกา เอกสารบางส่วนจากศูนย์เอกสารประเทศไทย และจากการสัมภาษณ์โดยพิจารณาจากตัวแสดงสำคัญ 3 ตัวแสดง คือ 1.สงครามเย็นและบทบาทของสหรัฐอเมริกา 2.รัฐไทยและโครงการพัฒนาชนบทของรัฐ และ 3.บทลาทของนักมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ไทยรุ่นบุกเบิก ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าตัวแสดงทั้ง 3 มีส่วนสำคัญในการประดิษฐ์สร้างความรับรู้และก่อรูปตัวตนของสิ่งที่เรียกว่า "หมู่บ้านชนบทไทย" ในฐานะที่เป็นหน่วยวิเคราะห์ทางสังคมศาสตร์ขึ้นมาในช่วงเวลานี้"
เขียนชนบทให้เป็นชาติ, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตมาจากงานวิจัย มานุษยวิทยาจักรวรรดิ : หมู่บ้านศึกษาและกำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น ที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงที่มาของ "หมู่บ้านชนบท" มากขึ้น ว่าแท้จริงแล้วความเป็นชนบทของไทยนั้นมีที่มาจากไหน อยู่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่ต้นหรือไม่
ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หมู่บ้านชนบทพึ่งถือกำเนิดขึ้นในฐานะหน่วยของการศึกษาวิเคราะห์เมื่อไม่เกิน 60 ปีที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่รัฐไทยอยู่ในช่วงของสงครามเย็น และการพัฒนาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นรัฐไทยค่อนข้างมีนโยบายสนับสนุนการเข้ามาของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การศึกษาชนบทจึงมีความข้องเกี่ยวกับสหรัฐฯ อยู่ด้วย โดยนโยบายขณะนั้นมุ่งเน้นสร้างอัตลักษณ์รากเหง้าความเป็นไทย ภาพชนบทที่เราคุ้นเคยกันจึงเน้นไปที่ทุ่งนา ภูเขา บ้านกระท่อม มีกองฟาง เลี้ยงวัว ควาย อยู่ในจินตนาการเสมอ
เริ่มจากการตั้งต้นพยายามทำความเข้าใจพัฒนาการของความรู้เกี่ยวกับ "หมู่บ้านชนบทไทย" หรือ "ชนบทศึกษา" ของนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา โดยอิงกับบริบทของสงครามเย็นและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในไทย ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทยก็ได้รับอิทธิพลจากสภาวะของยุคสงครามเย็นและบทบาทของสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญด้วย จึงมีลักษณะเป็นมรดกของอเมริกัน ผ่านอุตสาหกรรมการวิจัยชนบทไทย อย่างเช่น การก่อตั้งโครงการ Cornell-Thailand Project ใน ค.ศ.1947 ด้วยทุนของ Carneigie Corporation ที่ทิ้งมรดกสำคัญไว้คือ การทำให้วัฒนธรรมดั้งเดิมและชาวนากลายมาเป็นวัตถุของความรู้ที่ถูกศึกษาได้ และกลายเป็นกรอบคิดชี้นำการทำความเข้าใจสังคมไทยในเวลาต่อมา
รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการเอเชียอาคเนย์ศึกษาของมหาวิทยาลัย Cornell ในค.ศ.1950 และยังมีการเกิดขึ้นของนิด้า (NIDA) ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ
หนังสือเล่มนี้จึงอภิปรายเกี่ยวกับกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับประเทศโลกที่ 3 ของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับหมู่บ้านชนบท ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้น บทบาทของนักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Cornell ของสหรัฐฯ ที่สร้างลักษณะไทยศึกษาแบบอเมริกันขึ้น การกำเนิดสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในประเทศไทย บทบาทและงานวิจัยของนักมานุษยวิทยาไทยยุคแรกที่ได้รับอิทธิพลจากไทยศึกษาแบบอเมริกันในยุคสงครามเย็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นอีกเล่มที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาและทำความเข้าใจทั้งในแง่สังคมหมู่บ้านชนบทของไทย และความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่มีลักษณะพิเศษ
โฆษณา