31 ธ.ค. 2020 เวลา 03:02 • ความคิดเห็น
เดเร็ค เรดมอนด์ นักวิ่งชาวอังกฤษ มีความฝันสูงสุดคือการคว้าเหรียญโอลิมปิก สักครั้งในชีวิต
ในปี 1985 ด้วยวัย 20 ปี เขาวิ่ง 400 เมตร ด้วยเวลา 44.82 วินาที ทำลายสถิติของสหราชอาณาจักรลงได้อย่างราบคาบ ใครๆก็บอกว่าเขาคือดาวรุ่งอัจฉริยะ
ด้วยผลงานที่ดี ทำให้เรดมอนด์ติดทีมชาติในการแข่งวิ่งผลัดชาย 4x400 เมตร ในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์ยุโรป ในปี 1986 และคว้าเหรียญทองไปได้อย่างสวยงาม
จากนั้นในปี 1988 โอลิมปิกที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เรดมอนด์ เป็นหนึ่งในตัวเต็งที่จะคว้าเหรียญทอง ประเภทวิ่ง 400 เมตรชาย เพราะตอนนั้นเขามีอายุ 23 ปี ร่างกายฟิตเต็มถัง ความมั่นใจก็สูงเต็มเปี่ยม
อย่างไรก็ตามก่อนแข่งแค่ไม่กี่วัน เรดมอนด์โชคร้ายมีอาการเจ็บเอ็นร้อยหวาย โดยแพทย์แนะนำว่าอย่าลงแข่ง แต่เรดมอนด์กัดฟันสู้ เขาฉีดยาแก้ปวดไป 2 เข็มในช่วงเช้า เพื่อให้ความเจ็บทุเลาก่อนลงแข่งขันในรอบแรก แต่สุดท้าย 2 เข็มก็เอาไม่อยู่ เขาลงแข่งไม่ไหว ต้องถอนตัวไปอย่างน่าเศร้า ก่อนการแข่งขันจะเริ่มแค่ 2 นาทีเท่านั้น
"ผมจำได้ว่า ตอนพิธีปิดโอลิมปิก นักกีฬาทุกคนก็จะต้องเดินพาเหรดเข้ามาในสนาม แต่ผมไม่ไปด้วย ผมนั่งเงียบๆอยู่ที่โรงแรม ไม่ดูการถ่ายทอดสดพิธีปิดด้วยซ้ำ นั่นเพราะผมรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับคนอื่น ผมไม่คู่ควรจะไปเดินขบวนในฐานะนักกีฬาทีมชาติ" เรดมอนด์กล่าว
หลังจากไม่ได้แข่งโอลิมปิกที่เกาหลีใต้ เรดมอนด์เจอปัญหาบาดเจ็บรุมเร้าอีกหลายครั้ง จนไม่ได้ติดทีมชาติอีกเลย เขาเข้ารับการผ่าตัดที่เอ็นร้อยหวายถึง 8 ครั้งในรอบ 3 ปี
อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์ก็มีจริง เมื่อก่อนโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลน่าจะเริ่มแค่ 1 ปี เจ้าตัวมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ขึ้น เขากลับมาวิ่งอีกครั้ง และผลงานดีขึ้นชัดเจน ก่อนจะกลับไปติดทีมชาติอีกหน และคว้าตั๋วโควต้า วิ่ง 400 เมตรชาย และ วิ่ง 4x400 เมตร ในโอลิมปิกเกมส์ 1992 ได้อย่างน่าทึ่ง
แม้จะเส้นทางตะกุกตะกัก แต่เรดมอนด์ ก็ยังคัมแบ็กไปสู่โอลิมปิกได้ คราวนี้เขาตั้งใจมากๆ จะไม่ให้พลาดเหมือน 4 ปีก่อนอีกแล้ว
ในปี 1988 ตอนบาดเจ็บก่อนแข่งโอลิมปิกที่กรุงโซล ตอนนั้นเรดมอนด์โทษตัวเองว่า อาจเพราะเขาเดินทางไปเกาหลีช้าไปหน่อย เลยปรับตัวกับเรื่องสภาพอากาศไม่ค่อยได้ แถมยังมีปัญหาเรื่องเจ๊ตแล็ก จนส่งผลต่อการซ้อมและการพักผ่อน ซึ่งอาจเกี่ยวเนื่องให้เกิดอาการบาดเจ็บ ดังนั้นโอลิมปิกคราวนี้เขาจะเตรียมพร้อมยิ่งกว่าเดิม เขาลงทุนไปเก็บตัวในบาร์เซโลน่า ก่อนนักวิ่งทีมชาติคนอื่นๆ จะเดินทางมา ถึง 1 สัปดาห์ คือเตรียมการเอาให้พร้อมที่สุด ไม่ให้มีอะไรพลาดได้
คุณพ่อของเดเร็ค ชื่อ จิม เรดมอนด์ เขาทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวให้เดเร็คตั้งแต่สมัยมัธยม ทั้งคู่เคียงข้างด้วยกันมานาน และฝันถึงความสำเร็จไปด้วยกัน
แน่นอน พ่อลูกต้องเจ็บปวดมาพร้อมๆกัน กับเหตุการณ์บาดเจ็บกะทันหันเมื่อปี 1988 แต่คราวนี้ คุณพ่อจิมมั่นใจว่า ทุกอย่างจะไม่ผิดพลาดเหมือน 4 ปีก่อนแน่ๆ
"พ่อบอกผมว่า ไม่ช้าก็เร็วผมจะพิชิตโอลิมปิกได้" เดเร็คเล่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของ 2 พ่อลูกในโอลิมปิกคราวนี้
สำหรับการชิงเหรียญทอง วิ่ง 400 เมตรชาย ในโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า มีผู้ผ่านเกณฑ์เข้ามาร่วมแข่งขันในโอลิมปิกทั้งหมด 68 คน ดังนั้นจะมีการคัดเลือกกันถึง 4 รอบ เพื่อหา 8 คนสุดท้ายไปวิ่งชิงเหรียญทองในรอบไฟนอล
1 สิงหาคม 1992 เวลา 10.00 น. การแข่งรอบแรก ฮีทที่ 1 เริ่มต้นขึ้น เดเร็ค เรดมอนด์ ออกสตาร์ตในลู่ 4 โดยในฮีทนี้มีนักวิ่ง 8 คน หนึ่งในนั้นคือ เอกธวัช สกุลจันทร์ นักวิ่งชาวไทย เจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ 1991 ที่มะนิลาด้วย
ผลการแข่งในฮีทที่ 1 เรดมอนด์ เจ้าตัวออกตัวอย่างมั่นใจ คอนโทรลเวลาได้ดี และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 45.03 วินาที (ส่วนเอกธวัชเข้าที่ 5 ทำเวลา 46.78 วินาที ตกรอบอย่างน่าเสียดาย)
ในบรรดานักวิ่งทั้งหมด 9 ฮีท จำนวน 68 คน เรดมอนด์ทำเวลาได้เร็วที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง วิ่งได้สมราคาที่ถูกยกย่องว่าเป็นเต็งหนึ่งของรายการ
"ผมตั้งใจว่าจะวิ่งถึงเส้นชัย โดยใช้เวลาราวๆ 45.5 วินาที ไม่ได้คาดคิดว่าตัวเองจะเร็วขนาดนั้น แต่เมื่อเข้าเส้นชัยได้ในเวลา 45.03 วินาที ก็แสดงให้เห็นว่าสภาพร่างกายของผมมันโอเคมากจริงๆ"
วันต่อมา 2 สิงหาคม 1992 เวลา 19.30 น. เดเร็ค เรดมอนด์ลงแข่งขันอีกครั้งในรอบ 2 โดยตอนนี้นักวิ่งจะเหลือ 32 คน ก็จะทำการตัดตัวเอา 16 คนแรกที่ผลงานดีที่สุด เข้ารอบเซมิไฟนอลต่อไป
เรดมอนด์ วิ่งแบบไม่เต็มที่ เขากั๊กพลังเอาไว้บางส่วน คอนโทรลเวลาให้เท่ากับรอบแรก ก่อนเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 45.02 วินาที ก็ยังเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดีในฮีท ทะลุเข้ารอบเซมิฯ ตามความคาดหมาย สมราคาตัวเต็ง
"ผมผ่าน 2 รอบแรกไปได้อย่างเพอร์เฟ็กต์มาก ชนิดที่ไม่ต้องออกแรงด้วยซ้ำ และก่อนจะวิ่งรอบเซมิไฟนอล ผมคุยกับคุณพ่อ เราตกลงกันว่า ผมจะเร่งจังหวะเพิ่มขึ้นอีกนิดในรอบต่อไป เพื่อทำเวลาสวยๆหน่อย จะได้ยืนเลนดีๆ ในรอบชิงชนะเลิศ"
"ผมทำทุกอย่างตามรูทีน ผมกินอาหารที่ถูกต้อง นอนพักผ่อนตรงเวลา ผมตื่นมาตอนเช้า กินอาหารเช้า เข้ารับการนวด และวอร์มอัพเบาๆ คือเป็นไปตามแผนทุกอย่าง ดังนั้นผมรู้สึกดีๆ ว่ามีโอกาสเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ในรอบเซมิไฟนอล"
วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 1992 เวลา 19.15 น. ที่สนามกีฬามอนต์จูอิค ท่ามกลางคนดู 75,000 คน การแข่งขันรอบเซมิไฟนัล ฮีทที่ 1 เริ่มต้นขึ้น เดเร็ค เรดมอนด์ อยู่ในลู่วิ่งที่ 5 เขามีสีหน้าสดใส ความมั่นใจเกินร้อย ส่วนคุณพ่อจิม นั่งลุ้นลูกชายอยู่ที่สแตนด์ การเข้ารอบชิงในโอลิมปิกถือเป็นความฝันของพ่อลูกทั้งสองคน
"ผมมั่นใจถึงขนาดว่า ให้ลงแข่งขันมาราธอนผมก็ชนะได้ พ่อของผมก็กระตุ้นว่า ใน 2 รอบที่ผ่านมา ผมวิ่งได้อย่างยอดเยี่ยมราวกับปีศาจ"
เสียงปืนดังขึ้นเป็นสัญญาณออกตัว เดเร็ค เรดมอนด์ เริ่มต้นอย่างมั่นใจมาก 100 เมตรแรก ทุกอย่างไปได้สวย ซึ่งด้วยสปีดระดับนี้ เขาจะเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่งแน่นอน
แต่แล้วเมื่อถึงระยะ 150 เมตร เขาได้ยินเสียง "ปึ้ด" ขึ้นมา (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Pop! Sound)
"เวลาคุณแข่งวิ่ง คุณจะไม่ได้ยินเสียงตะโกน หรือเสียงเชียร์ใดๆหรอก คุณจะได้ยินแต่เสียงลมหายใจตัวเอง แต่ครั้งนั้น หูผมได้ยินเสียงดังปึ้ดขึ้นมา มันทำให้ผมเสียสมาธิไปชั่วเสี้ยววินาที"
เสียงปึ้ด อาจจะเป็นอะไรก็ได้ เป็นลูกโป่งแตก ,มีคนยิงปืนจากที่ไกลๆ หรืออะไรก็ตาม เดเร็ค สมองตอนนั้นสับสนไปหมดแล้ว
"ผมบอกกับตัวเองว่า ไม่เอาน่า เดเร็ค มีสมาธิหน่อย!" แต่หลังจากนั้นแค่ 2-3 วินาที เดเร็คก็เข้าใจว่าเสียงนั้นมันคืออะไร มันคือเสียงกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง หรือแฮมสตริงของเขาฉีกขาดอย่างรุนแรงนั่นเอง
"ผมรู้สึกเจ็บปวดที่ขาด้านหลัง เหมือนใครเอามีดมาเสียบ หรือโดนยิง"
เรดมอนด์ร่วงไปกองกับพื้น มือขวาจับต้นขาด้านหลัง มือซ้ายกุมใบหน้าเอาไว้ โอกาสคว้าเหรียญทองโอลิมปิกอยู่ตรงหน้าแล้วแท้ๆ แต่เขาปล่อยมันหลุดลอยไปอีกครั้ง จากปัญหาเรื่องเดิม คืออาการบาดเจ็บ
"ผมเจ็บทั้งกายและใจ คิดแค่คำเดียวว่า ทำไมต้องเป็นผม?"
เรดมอนด์เริ่มตั้งสติได้ เขาเผยอตัวขึ้น และเห็นนักกีฬาอีก 7 คนวิ่งเข้าเส้นชัยไปหมดแล้ว ต่อให้เขาวิ่งไปถึงเส้นชัยตอนนี้ ก็ตกรอบอยู่ดี
ตอนนี้ทีมแพทย์ในสนามรีบลงไปดูอาการเรดมอนด์ และเตรียมขอเปลเพื่อแบกเรดมอนด์ออกไปนอกสนาม ในวินาทีนั้น เรดมอนด์ก็คิดขึ้นมาว่า เขายังอยู่ระหว่างการแข่งขัน การพลาดเหรียญก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาจะยอมรับตัวเองไม่ได้ คือ ถ้าเขาวิ่งไม่จบ สถิติจะขึ้นว่า DNF (Did not finish = แข่งไม่จบ) ซึ่งสำหรับนักวิ่งแล้ว มันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังและน่าอาย ดังนั้นต่อให้เขาเจ็บปวดทรมานแค่ไหน เขาก็จะวิ่งเข้าเส้นชัยให้ได้
สำหรับเรดมอนด์ เขาอายุ 27 ปีแล้ว แปลว่าอีก 4 ปีข้างหน้าเขาจะอายุ 31 ปี ซึ่งสำหรับนักวิ่ง อายุที่เพิ่มขึ้น แปลว่าความเร็วจะลดลง ถึงจุดนั้นเขาคิดว่าตัวเองอาจมีอายุมากเกินไปแล้ว ที่จะติดทีมมาแข่งโอลิมปิกอีกครั้ง
ดังนั้นว่ากันตรงๆ นี่คือการวิ่งครั้งสุดท้ายของเขาในโอลิมปิก และเป็นไปไม่ได้เลย ที่เขาจะโดนตราหน้าว่าเป็นผู้เล่นทีมชาติที่วิ่งไม่จบเรซ
เรดมอนด์ลุกขึ้น ปัดความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ทั้งหมด แล้วกระโดดแบบเขย่งด้วยขาซ้ายอย่างเดียว เขาพยายามไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ด้วยตัวเอง
แต่ปัญหาคือ ระยะทางจากจุดที่ล้ม กับเส้นชัย มันไกลกันถึง 250 เมตร คือกับคนบาดเจ็บขนาดนี้ ต่อให้เขย่งไปยังไง มันก็เจ็บมากอยู่ดี อย่าลืมว่าแฮมสตริงของเขาฉีกเลยนะ
คนดูทั้งสนามตอนนี้ไม่สนว่าใครเข้ารอบอีกแล้ว ทุกคนมองดูเรดมอนด์ ว่าจะไปถึงเส้นชัยได้หรือไม่ ซึ่งเขาเขย่งมาได้ไกลถึง 150 เมตร แต่เมื่อเหลืออีก 100 เมตรสุดท้าย ขาของเขาถึงขีดจำกัดแล้ว เรดมอนด์ใกล้จะร่วง แต่ทันใดนั้นก็มีมือมาแตะที่ไหล่ของเขา พร้อมกับเสียงที่เขาคุ้นเคยอย่างมาก
"เดเร็ค นี่พ่อเอง" มันเป็นเสียงของจิม เรดมอนด์ ที่วิ่งลงมาจากสแตนด์
คนที่เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น คือคุณพ่อจิม เขานั่งบนสแตนด์ และรู้สึกใจสั่นทันทีที่เห็นลูกล้มไปกองแบบนั้น ส่วนหนึ่งเขาโทษตัวเองด้วย ว่าถ้าไม่คิดกลยุทธ์เร่งความเร็วขึ้นเพื่อเอาเลนสวยๆในรอบชิง บางทีตัวลูกชายอาจจะไม่เจออาการบาดเจ็บแบบนั้นก็ได้
"ตอนผมเห็นเดเร็คหยุดวิ่ง ผมคิดว่าตัวเองตาฝาด คือเราซ้อมกันมาอย่างดี ทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์หมด มันไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดเรื่องนี้ได้ ผมจำได้ว่าตัวเองฝากกล้องถ่ายรูปให้กับ โทนี่ แฮดลีย์ โค้ชของทีม แล้วรู้ตัวอีกทีผมก็วิ่งลงไปบนแทร็คแล้ว" จิม เรดมอนด์กล่าว
คุณพ่อจิมเห็นลูกชายพยายามกะเผลกเข้าเส้นชัย และรู้ว่าสภาพจิตใจของเดเร็ค น่าจะสิ้นเรี่ยวแรงมาก เขาอยู่กับลูกมาตลอด เห็นความทุกข์ใจของลูกที่โอลิมปิกที่กรุงโซล ดังนั้นคราวนี้ เมื่อเห็นลูกต้องเจ็บด้วยเรื่องเดิมเป็นครั้งที่ 2 พ่อรู้ทันทีว่าเขาต้องไปอยู่ตรงนั้น ไปอยู่ใกล้ๆลูกให้เร็วที่สุด
ตอนแรกการ์ดสนามจะไม่ให้จิมเข้า แต่จิมไม่สนใจ เขาตะโกนใส่การ์ดว่า "นั่นลูกชายผม ผมต้องไปช่วยเขา!" แล้ววิ่งแหวกการ์ดออกมา
เมื่อถึงตัวเดเร็ค เขาเอามือสัมผัสลูกชายแล้วพูดขึ้นมาว่า "เดเร็ค ลูกไม่ต้องทำแบบนี้ก็ได้" ในความคิดของเขา ยังมีวิ่งผลัด 4x400 เมตรรออยู่ ในอีก 5 วันข้างหน้า ถ้าฝืนกะเผลกไปทั้งๆแบบนี้ อาจจะเจ็บเพิ่มก็ได้
แต่เดเร็คปฏิเสธคุณพ่อ บอกว่ายังไงก็ตาม เขาต้องไปถึงเส้นชัยให้ได้ ซึ่งถึงตรงนี้คุณพ่อจิม ก็พอเดาได้แล้วว่า อาการบาดเจ็บของลูกต้องหนักมากๆ จนวิ่ง 4x400 ไม่ไหวแน่ๆ ดังนั้น กับวินาทีนี้ อาจเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเดเร็คแล้ว และลูกชายของเขา อย่างน้อยก็คงอยากเข้าเส้นชัยให้ได้
เดเร็คบอกพ่อว่า ช่วยประคองเขากลับไปที่ลู่วิ่ง 5 หน่อย เขาจะวิ่งให้จบเรซ ซึ่งคุณพ่อตอบว่า "โอเค ถ้าลูกอยากวิ่งเข้าเส้นชัย เราจะวิ่งไปพร้อมกัน" ตอนนั้นจิมเห็นสภาพร่างกายของลูกชายถึงขีดจำกัดแล้ว เอาจริงๆ เขาเชื่อว่า แม้แต่เขย่ง เดเร็คก็คงไม่ไหวแล้วถ้าไม่มีเขาช่วยประคอง คงยากมากที่จะไปถึงเส้นชัยได้
การ์ดสนามรีบ มาห้ามคุณพ่อไม่ให้แทรกแซงการแข่งของนักกีฬา เพราะในประวัติศาสตร์ไม่เคยเกิดเรื่องอะไรแบบนี้จริงๆ ซึ่งจิม ก็ไล่การ์ดออกไป บอกว่ายังไงเขาต้องจบเรซนี้กับลูกให้ได้
สองพ่อลูกประคองกันไป จนระยะเหลือ 80 เมตร เดเร็คเขย่งไม่ไหวแล้ว เขาได้แค่ลากขาช้าๆเท่านั้น ก่อนที่เขาจะโผซบคุณพ่อและร้องไห้อย่างไม่อายใครเลย
"ผมพยายามเก็บกลั้นความรู้สึกตั้งแต่ตอนล้มลงไป จนถึงลุกขึ้นมาเขย่ง แต่เมื่อเจอคุณพ่อ มันเป็นความรู้สึกที่เก็บไม่ไหว จากนั้นผมก็ร้องไห้ออกมา" เดเร็คกล่าว "ผมรู้ว่าผู้ชายไม่ควรเสียน้ำตากับเรื่องแบบนี้ แต่ตอนนั้น มันกลั้นไม่ได้จริงๆ"
 
"เพราะพ่อจะคอยอยู่เพื่อซัพพอร์ทผมเสมอ เขาสละเวลาไม่รู้กี่ปี คอยยืนให้กำลังใจ และสอนผมอยู่ข้างสนาม ไม่ว่าจะหน้าร้อน หน้าหนาว เขาจะอยู่เสมอ"
เดเร็คเสียใจกับตัวเอง และเสียใจกับคุณพ่อ ที่ความฝันที่ทั้งคู่ตั้งใจไว้ต้องพังทลายไปด้วยกัน
ในระหว่างที่พยายามเดินเข้าเส้นชัย เจ้าหน้าที่สนามเดินมาบอกว่า ต่อให้คุณไปถึง ก็จะไม่มีสถิติเพราะการมีคนมาช่วยประคองมันผิดกติกา และสถิติจะไม่ขึ้นเวลาให้ จะระบุแค่ Disqualified อยู่ดี แต่คุณพ่อไล่การ์ดออกไป เขารู้ว่าตอนนี้เป้าหมายของเดเร็คคือไปให้ถึงเส้นชัยให้ได้ แค่นั้น
เมื่อเหลืออีกไม่กี่เมตรจะถึงเส้นชัย พ่อปล่อยตัวเดเร็ค ให้เขากระเผลกเข้าเส้นชัยด้วยตัวเองคนเดียว จากนั้นพอผ่านเส้นชัยไปได้แล้ว พ่อรีบเอามือประคองอีกครั้ง ซึ่งเดเร็คตอนนี้ยังร้องไห้ไม่หยุด โอลิมปิกของเขาจบสิ้นแล้ว
จิม ปลอบใจลูกชายว่า "ลูกไม่มีอะไรต้องพิสูจน์แล้ว ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวโอกาสหน้าก็ยังมี" แต่แน่นอนทั้งเขาและลูกชายพอจะรู้ว่า นี่คือโอกาสสุดท้ายที่จะได้มาแข่งโอลิมปิกแล้ว
นี่คือการเข้าเส้นชัยของวิ่ง 400 เมตร ที่ใช้เวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิกเกมส์ นั่นคือ 3 นาที กับอีก 30 วินาที ซึ่งแม้จะเข้าถึงเส้นชัยช้าขนาดนี้ แต่แฟนกรีฑาในสนามมอนต์จูอิค ลุกขึ้นปรบมือให้กับจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ของเรดมอนด์อย่างสนั่นหวั่นไหว
หลังจบการแข่งขัน เดเร็ค ขอตัวอยู่เงียบๆไม่พูดจากับใคร โดยคนที่ออกมาแถลงข่าวแทนคือคุณพ่อ โดยจิมกล่าวว่า "ผมภูมิใจในตัวเขายิ่งกว่าการได้เหรียญทองเสียอีก เพราะมันต้องใช้ความกล้า และความตั้งใจอย่างมากจริงๆ ถึงจะทำในสิ่งที่เขาเพิ่งทำลงไปได้"
หลังจบเหตุการณ์วิ่ง 400 เมตรรอบเซมิไฟนอล อีกสองวันต่อมา ก็เป็นการแข่งรอบชิง โดยผู้ชนะเหรียญทองคือควินซี่ วัตส์ จากสหรัฐฯ แต่เชื่อว่าน้อยคน จะจดจำได้ เพราะถ้าพูดถึง 400 เมตรชายในโอลิมปิกครั้งนี้ ทุกคนจะคิดถึงภาพประทับใจที่เกิดขึ้นกับพ่อลูกตระกูลเรดมอนด์อย่างอัตโนมัติ
เมื่อการแข่งขันจบลง เดเร็คกลับบ้านที่เมืองนอร์ธแฮมป์ตัน และเข้ารับการรักษากับศัลยแพทย์ และได้รับคำตอบว่า อาการบาดเจ็บของเดเร็ครุนแรงมากจริงๆ ซึ่งการรักษาจะกินเวลานานมาก และคงเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่เขาจะติดทีมชาติสหราชอาณาจักรอีก ดังนั้นการวิ่งในวันนั้น ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้ลงแข่งโอลิมปิกอย่างที่คิดไว้จริงๆ
อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางนักวิ่งจะจบลง แต่ชีวิตของเดเร็ค เรดมอนด์ ไม่ได้ย่ำแย่แต่อย่างใด ตรงกันข้าม สิ่งที่เขาทำลงไปในวันนั้น ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง จนแฟนกีฬาทั่วโลกส่งจดหมายมาหาเขา บอกว่าเขาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ ให้ฮึดสู้ เพราะต่อให้ล้มไปแล้วแต่เขาก็ยืนหยัดขึ้นมา โดยไม่ยอมแพ้
หลังอำลาอาชีพนักวิ่ง เรดมอนด์ผันตัวไปเป็นนักพูดเชิงสร้างแรงบันดาลใจให้กับคน ถูกเชิญเป็นนักพากย์กรีฑา ออกรายการโทรทัศน์บ่อยครั้ง แถมเขียนหนังสือของตัวเองวางขายอีกต่างหาก
ขณะที่คุณพ่อจิม ก็ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก กับการช่วยเหลือลูกชายให้เข้าเส้นชัย จนในเวลาต่อมารัฐบาลอังกฤษ ใส่ชื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมถือคบเพลิง สำหรับจุดในพิธีเปิดโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพด้วย
สำหรับเรื่องราวที่บาร์เซโลน่าในวันนั้น ส่งผลให้เดเร็ค เรดมอนด์ กลายเป็นอีกหนึ่งไอคอนที่สำคัญที่สุดในวงการกรีฑาของโอลิมปิกเกมส์
สิ่งที่เขาทำ มันตอบโจทย์กับสโลแกนของโอลิมปิกที่ใช้คำว่า The most important thing is not to win, but to take part
แปลว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการมาแข่งโอลิมปิก ไม่ใช่การชนะ แต่คือการได้มีส่วนร่วมและลงแข่งอย่างเต็มที่ เต็มสปิริตต่างหาก ซึ่งเรดมอนด์ทำแบบนั้นจริงๆ แม้ไม่ได้เหรียญ แต่แค่ทำเต็มที่เขาก็รู้สึกภูมิใจแล้ว
หลังเหตุการณ์ผ่านไปได้สักระยะ มีนักข่าวไปถามว่า เดเร็คทราบไหมว่าการกระทำของคุณเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนลุกขึ้นมามีแรงใจต่อสู้กับชีวิตขนาดนี้
ซึ่งเดเร็คตอบว่า "ผมดีใจที่สิ่งที่ตัวเองทำ ช่วยผลักดันให้คนอื่นๆ มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมนะ"
"แต่เอาจริงๆแล้ว ตอนที่ผมตัดสินใจลุกขึ้นสู้ ผมไม่ได้คิดจะทำเพื่อใครทั้งนั้น ผมทำเพื่อตัวเอง ใครจะคิดว่าผมโง่ หรือจะเป็นฮีโร่ ผมไม่ได้สนใจตรงนั้น เพราะสุดท้ายแล้วถ้าผมวิ่งไปไม่ถึง คนที่จะอยู่กับความรู้สึกผิดหวังตลอดชีวิตก็คือตัวผมเอง ดังนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะเจ็บปวดแค่ไหน จะช้ากว่าคนอื่นเท่าไหร่ แต่ผมแค่อยากจะไปถึงเส้นชัยได้ด้วยตัวเอง"
แน่นอน นิยามความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจคิดว่าชัยชนะได้เป็นอันดับ 1 คือความยิ่งใหญ่สูงสุด
แต่กับบางคน ความสำเร็จอาจไม่ใช่การเอาชนะคนอื่นๆ แต่เป็นการเอาชนะอุปสรรคขวากหนามที่เผชิญหน้า และถึงเส้นชัยที่ตั้งใจไว้ ด้วยพลังของตัวเอง
#REDMOND
<ad> โฆษณาส่งท้ายปี 2020 กับหนึ่งในแบรนด์รถยนต์ที่ยอดขายสวยงามที่สุดในนี้ นั่นคือ Suzuki นั่นเอง
รู้ไหมครับระหว่างเดือนมกราคม ถึงพฤศจิกายน รถอีโคคาร์ที่ขายดีที่สุดคือ Swift ที่จำนวน 8,723 คัน คือแน่นอนว่าเทียบกับอีโคคาร์ด้วยกัน เป็นอันดับหนึ่งใสๆอยู่แล้ว หรือถ้ารวมกับ รถบีเซ็กเมนต์ด้วย ก็ยอดขายเป็นรองแค่ ยาริส กับแจ๊ซซ์ เท่านั้น จะเห็นได้เลยว่า ความนิยมของ Swift นั้น ครองใจคนอยากได้รถรุ่นเล็กอย่างแท้จริง
ขณะที่รถครอสโอเวอร์ที่มาแรงมากๆ ในปีนี้ เราต้องพูดถึง All New Suzuki XL7 สุดยอดรสครอสโอเวอร์ 7 ที่นั่ง ที่ใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ
XL7 มีพื้นฐานมาจาก Ertiga แต่ปรับแต่งให้มีความสูงเพิ่มขึ้น และมีรูปลักษณ์ที่ดุดัน เข้ม คูล ขณะที่เบาะที่นั่งแถวหลังสุด สามารถ "นั่งได้จริง" ไม่ใช่แค่มีไว้ประดับเฉย กับ room ช่องขากว้างพอตัว ที่ผู้ใหญ่จะนั่งได้อย่างไม่อึดอัด ตอบโจทย์มากๆ สำหรับคนครอบครัวใหญ่
ราคา XL7 ตอนนี้อยู่ที่ 779,000 บาท ซึ่งกับราคาไม่ถึง 8 แสน ได้รถคุณภาพครบขนาดนี้ ปีใหม่มาต้องจัดโลดดด
สำหรับใครที่อยากจะซื้ออีโคคาร์ แน่นอนว่าต้อง Swift ส่วนถ้าเป็นรถครอบครัวพิจารณา XL7 ไว้ในใจนะครับ สามารถลองเทสต์ไดรฟ์ และ ฟังข้อเสนอได้ที่ศูนย์ซูซูกิทั่วประเทศไทยครับผม
ขอขอบคุณบทความจากเพจ สิเคราะห์บอลจริงจังใน FB
โฆษณา