ในช่วงหลายปีมานี้ หากใครได้อ่านงานวิจัยหรือข่าวที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยบ่อยๆอาจจะสังเกตว่า การอ้างอิงวารสารงานวิจัย นอกจากจะอยู่ในรูปแบบของ ชื่อ เลขฉบับ เลขหน้า หรือตัวเลขอื่นๆ แล้ว เช่น "Phys. Rev. Research 2, 043364" ยังมีที่อยู่บนอินเตอร์เน็ตในรูปแบบของ doi ด้วย เช่น doi.org/10.1103/PhysRevResearch.2.043364
แล้ว เลข DOI คืออะไร? ทำไมจึงใช้กันอย่างแพร่หลาย?
DOI ย่อมาจาก digital object identifier ("ตัวระบุวัตถุดิจิทัล") ซึ่งอาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่า เป็นเลขประจำตัวของเอกสารบนอินเตอร์เน็ต จริงๆ พูดว่าตัวเลขอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะ DOI ประกอบด้วยตัวอักษรและเครื่องหมายอื่นๆ ได้ด้วย
การที่เอกสารบนอินเตอร์เน็ตมีเลข DOI ก็คล้ายๆ กับการที่หนังสือมีเลข ISBN อันที่จริง หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการวางรากฐานให้กับเลข DOI ก็คือบริษัท R. R. Bowker ซึ่งเป็นผู้ออกเลข ISBN ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Corporation for National Research Initiatives องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่กำเนิดมาจาก Internet Engineering Task Force ผู้วางมาตรฐานต่างๆ ให้กับโลกอินเตอร์เน็ตของเรา
เลข DOI คือเลขถาวรที่ตั้งแล้วตั้งเลยไม่มีวันเปลี่ยน โดยองค์กรที่ชื่อว่า International DOI Foundation ("มูลนิธิ DOI ระหว่างประเทศ") หรือเรียกย่อๆ ว่า IDF ทำหน้าที่ดูแลฐานข้อมูลกลางเชื่อมโยงเลข DOI เข้ากับที่อยู่ URL บนอินเตอร์เน็ต ถ้าที่อยู่เปลี่ยน สำนักพิมพ์หรือผู้เผยแพร่เอกสารต้องมาอัปเดตที่อยู่ด้วย