1 ม.ค. 2021 เวลา 19:22 • สิ่งแวดล้อม
" เห็นช้างตัวเท่าหมู *O* " โดยช้างค่อม และช้างแคระ
ช้างค่อม : ใคร ๆ เขาว่ากันว่า ช้างเป็นสัตว์ตัวสูงใหญ่ น่าเกรงขาม แต่ชาวบ้านบางคนเห็นข้ากลับว่า "ช้างอะไรตัวเท่าหมู” แล้วยังเรียกพวกข้าว่า“ช้างค่อม” ขัดใจเป็นบ้า ตั้งชื่อข้าแบบนี้ ถามข้าหรือยัง?
ช้างแคระ : ใจเย็นนีซซ์ นึง ชั้นก็ถูกเรียกว่า ช้างแคระแห่งเกาะบอร์เนียว อิอิ ถึงพี่ช้างเอเชียจะสูงกว่า 3 เมตร พี่ช้างแอฟริกาสูงถึง 4 เมตร แล้วพวกเราจะสูงกันแค่ 1.6-2.4 เมตร แต่ยืนยันได้ว่า พวกเราก็เป็นช้าง แค่เป็นช้างสายพันธุ์เล็ก น่าร๊าก น่ารัก:)
ช้างแคระแห่งเกาะบอร์เนียว
ช้างค่อม :บอร์เนียวคือบางไหน กันละนี่ ?
ช้างแคระ : บอร์เนียว เป็นเกาะใหญ่มาก อยู่ในเขตปกครองของรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย พื้นที่ที่อุดมด้วยป่าไม้เมืองร้อน แล้วเธอล่ะ มาจากไหน?
ช้างค่อม : สงขลา พวกชาวบ้านเคยพบพวกข้า แถวป่าพรุ ริมหนองน้ำแถวเมืองสงขลา พัทลุง แล้วก็แถวเมืองนครฯ "เคยพบ” ...อืม ช่างเถอะ
ช้างแคระ: อ๋อ อยู่ใกล้ ๆ กันนี่เอง เกาะบอร์เนียว อยู่ทางตะวันออกของไทย
 
ช้างค่อม : ไทย คือสยาม ใช่หรือไม่? ตอบข้าซิ!
ช้างแคระ : ใช่จ้ะ..ใช่ มาดุ เกิดยุคไหนกันล่ะนี่ ?
ช้างค่อม : เออ เจ้ารู้ไหม พวกข้าเคยไปเป็นนักแสดงที่นิว..อ่อ นิวยอร์ค ด้วยนะ
เมื่อปีพุทธศักราช 2427 ฝรั่งหาว่า ตัวของข้าแคระแกรน และมีขนดกแดง น่าจะเป็นทายาทของช้างแมมม็อธ (1)
แมมมอธ Credit : Wikipedia
ช้างแคระ : WoW..เป็นดาราซะด้วย พูดถึงเรื่องดารา หน้าตา ยอมบ่ได้ ทายซิ เราอายุเท่าไร?
ช้างค่อม : .......................…........
ช้างแคระ : ทายไม่ถูกล่ะเซ่.. เพราะไม่ว่าจะอายุมากเท่าไหร่ ช้างบอร์เนียวอย่างพวกเรา ก็มีใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์เหมือนลูกช้าง แถมนิสัยก็อ่อนโยน ไม่ดุร้าย มีน้ำใจใสซื่อ เป็นมิตรมากกับมนุษย์ ตัวกลมอารมณ์ดี ว่ามะ ว่ามะ?
ช้างค่อม : ...................................
ช้างแคระ : อ้าว ไม่ตอบ อึ้ง ทึ่ง ล่ะเซ่..
แต่จริง ๆ แล้ว ความเป็นมิตร ก็กลับมาทำลายพวกเรา จากนายพรานใจร้ายอยากได้งา แล้วก็พวกชาวบ้าน ที่จู่ ๆ ก็เข้ามาปลูกป่าปาล์มกันซะใหญ่โต**** ทั้งที่ดั้งเดิม บรรพบุรุษช้างของเรา เคยย่ำหากินป่าแถบนี้อยู่หลายร้อยปี
อยากตะโกนบอกพวกมนุษย์จังว่า
"ป่าไม่ได้มีไว้ให้ มนุษย์พันธุ์เดียวนาา.."
ช้างค่อม : ………………………........
ช้างแคระ : อ้าว เงียบอีก... ชิ!
แล้วรู้ปะ? ทุกวันนี้ ช้างไซด์เล็กแบบพวกเรา หลงเหลืออยู่แค่ 1,000 ตัว(2) ก่อนโน้นน..เขาบอกว่า ช้างตัวเล็กอย่างพวกเรา กระจายอยู่เต็มแถวทางใต้ของ แหลมมลายู และตามเกาะต่าง ๆ แถบนี้
แต่.. ตอนนี้เห็นพวกเราได้ แค่บนเกาะบอร์เนียวแห่งนี้ เท่านั้น เอ๊ะ! แล้วเจ้าล่ะ
............ : .................................
ช้างแคระ : อ้าว..หายไปไหนละ โอ๊ะโอ...
1
ช้างค่อม ในภาพขบวนเสด็จฯ พระราชินีรายอฮีเยา (Raja Ijau) ผู้ปกครองปัตตานี พศ.2127-2159 จากบันทึกการเดินทางของ Jacob van Neck ชาวดัตช์ที่เดินทางเข้ามาปัตตานี ราว พ.ศ. 2145
100 กว่าปีก่อน หนังสือเกี่ยวกับงาช้างของ George Frederick Kunz เมื่อปี 2459 ระบุว่า “ป่าทึบใกล้ชายฝั่งทะเลของนครศรีธรรมราช จนถึงสงขลา ในประเทศสยาม เป็นที่อยู่อาศัยช้างสายพันธุ์เล็ก...”
ย้อนกลับไปเมื่อ 60-70 ปีก่อน ชาวบ้านเก่าแก่ ก็มักเล่ากัน (สอดคล้องกับข้อมูลในหนังสือที่กล่าวมาข้างต้น) ว่า ผืนทุ่งหญ้าป่าพรุอันกว้างใหญ่ ตั้งแต่ ทุ่งระโนด จ.สงขลา, อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปจนถึงอ. ชะอวด และ อ. เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะ พื้นที่รอบๆ "ทะเลน้อย" และ
”ทะเลหลวง (ทะเลสาบสงขลา)"
มีช้างค่อมอยู่มากมาย โขลงหนึ่งจะมีช้างอยู่ประมาณ 20-30 ตัว
อเนก นาวิกมูล นักเขียนและนักวิชาการ ได้บันทึกไว้ว่า แถวริมคลอง อำเภอระโนด ยังมีชื่อเรียก ทางช้างปรากฎอยู่หลายแห่ง เช่น ทอนสำโรง ทอนสามไห ทอนระนาก ทอนกง โดย"ทอน" แปลว่า ทางขึ้น-ลง ของช้าง
นอกจากนี้ เอกสารเก่า ๆ ยังระบุไว้ว่า ช้างค่อมในสยาม มีได้เห็นกันก่อนปี พ.ศ.2458 หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (3)
ช้างค่อม เป็นช้างภูเขาที่มีขนาดเล็ก มีส่วนสูงประมาณ 160-170 ซม. สูงเท่าลูกช้าง บางตำนานท้องถิ่นบอกว่า ตัวของมันเท่าหมู
มีหัวและเท้าเล็ก หูกว้าง หัวช้างปกด้วยขนหนาสีแดง ผิวหนังออกเป็นสีน้ำตาลแดง ตัวกลมท้องป่อง หาง บางคนระบุ ว่าช้างค่อมมีงายาว ประมาณ 1 ฟุต มีนิสัยดุร้าย ไม่กลัวคน
ชอบกินจูดหนู และเต่าร้าง(พืชตระกูล กก/กระจูด และปาล์ม ตามลำดับ)
“ช้างค่อม มีรูปร่างเท่าควายบ้าน ”จากบันทึกของนาย แพทย์บุญส่ง เลขะกุล (ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งนักอนุรักษ์สัตว์ป่าไทย) ซึ่งเคยค้นพบช้างแคระ 2 ครั้ง ครั้งแรกพบ 7 ตัวครั้งที่สองพบ 4 ตัวพบบริเวณทุ่งเหนือทะเลสาบสงขลา
หากดูจากขนาดและความสูง ญาติที่สนิทที่สุดของช้างค่อม ก็น่าจะเป็นช้างแคระ แห่งบอร์เนียว (ตามประวัติศาสตร์มีบันทึก สุลต่านแห่งซูลู ได้นำเอาช้างจาก เกาะชวา ใต้สุดของแหลมมลายู เข้ามารักษาพันธุ์ไว้บนเกาะบอร์เนียว ตั้งแต่
คริสต์ศตวรรษที่ 18)
ช้างแคระบอร์เนียว เมื่อเทียบกับขนาดคน (Credit : cedeprudente.blogspot )
เอกสารเก่า ๆ ของชาวต่างชาติ เรียกช้างค่อม ว่า dwarf elephants หรือ pygmy elephants และระบุว่า เคยมีการนำช้างค่อมลงเรือ ไปแสดงตัวถึงเมืองนิวยอร์ค
สหรัฐอเมริกา โดยได้กล่าวถึงช้างค่อม ไว้ใน 2 ประเด็นน่าสนใจ
1. ช้างค่อม มีขนดก ยาวและมีสีแดง น่าจะมีบรรพบุรุษเป็นช้างแมมมอธ ท
2. เมื่อเทียบจากซากช้างแคระที่พบในเกาะซิซิลี เกาะไซปรัส ในยุโรป ช้างค่อมสงขลา หรือรวมถึงช้างแคระบอร์เนียว ถูกสันนิษฐานว่า อาจมีบรรพบุรุษเป็นที่เป็น ช้างแคระยุคดึกดำบรรพ์ ตระกูล Palaeoloxodonที่สูญพันธุ์ไปนานแล้ว
ช้างแคระในเกาะใหญ่ของยุโรป น่าจะเคยตัวใหญ่ก่อน ต่อมาเมื่อพวกมันอพยพมายังตามที่ต่าง ๆ แล้วเส้นทางเชื่อมต่อก็ถูกน้ำทะเลท่วมและแผ่นดินก็กลายเป็นเกาะ ทำให้เกิดอาการแคระ *เนื่องจากวิวัฒนาการในเกาะ (Insular dwarfism)
เช่น ช้างแคระแห่งบอร์เนียว ที่มีขนาดตัวเล็ก เพราะติดเกาะมานาน
ช้างค่อมสงขลา ก็เคยถูกจำกัดพื้นที่ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุลได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า เดิมนั้น ช้างค่อม เคยเป็นช้างตามป่าเขาส่วนกลางของแหลมมลายู แล้วลงมาท่องเที่ยว หากินตามท้องทุ่ง แถวชายทะเลน้อยที่อุดมสมบูรณ์ในฤดูร้อน
แล้วไม่ได้กลับไปที่ภูเขาหลวง แต่ขึ้นไปทางเหนือ แถบควนโมง ควนขนุน เขาพังไกร แต่พอแถวนี้ มีหมู่บ้านคนมากขึ้น มีคนรุกเข้าครอบครองที่ดินมากขึ้น
ประกอบกับ รัฐบาลก็ตัดรถไฟลงปักษ์ใต้ ยิ่งกีดกันไป ไม่ให้ช้างกลับขึ้นเขาได้ง่าย
จึงต้องอยู่ประจำถิ่น ตามท้องทุ่งเหนือทะเลสาบสงขลา
ไม่ได้เดินทางกลับไปมา การออกกำลังกายจึงน้อยลง ดินโป่งในป่าที่เคยได้กิน ไม่ได้กิน อาหาร อากาศผิดจากเดิม รูปร่างและขนาดลำตัวจึงขนาดเล็กลง ย่อลง
แถวอำเภอเชียรใหญ่ หลวงปรามประทุษฐราษฎร์ (น้อย ณ นคร) ได้เคยสร้างคอกจับช้างค่อมจากท้องทุ่งมาเลี้ยง จับได้ 4 เชือกเพื่อมาฝึก และชาวบ้านบางคน ก็เคยจับมาฝึกเลี้ยง หัดทำงานเหมือนช้างภูเขา แต่พละกำลังไม่เท่า ใช้งานหนักไม่ได้
อีกทั้งน้ำที่กิน ก็มักเป็นน้ำกร่อย ช้างค่อมปรับตัวไม่ได้ เลี้ยงอยู่ได้ไม่นาน จึงล้มตายเสียก่อน เพราะผิดหญ้าผิดน้ำ
สาเหตุหลักๆ ของการหายไปของช้างค่อม คือ ถูกมนุษย์ไล่ล่าและรุกราน
เพราะเมื่อพื้นที่ป่าทุ่งที่ช้างค่อมเคยอยู่อาศัย ถูกมนุษย์เข้ามาจับจอง แย่งที่ทำมาหากินของช้าง โดยมนุษย์เข้ามาเปลี่ยนทุ่งให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
แล้วพอช้างแคระมาเหยียบย่ำไร่นา เพื่อหากินเหมือนเดิม
ช้างค่อม จึงถูกชาวบ้านขับไล่ออกพื้นที่ บางทีชาวบ้านถึงกับไล่ฆ่าพวกมัน โดยวิธีการขับไล่ วิธีการหนึ่งก็คือ การขุดหลุมลึก 2-3 เมตร แล้วใช้โคมไฟไล่ให้ช้างตกไปในหลุม
หรือไม่ก็ถูกชาวบ้านจับกินเป็นอาหาร (4) เพราะชาวบ้านมองว่า เป็นช้างที่ไม่มี ประโยชน์ต่อพวกเขา นอกจากทำลายพืชผลแล้ว ยังมีนิสัยดุร้าย อันตรายถ้าเข้าใกล้นำมาฝึกไว้ใช้งานก็ไม่ได้ น่าจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ช้างค่อม มีจำนวนลดลง
หนังสือของ George Frederick Kunz ยังระบุไว้อีกว่า "พวกมันเป็นช้างพวกเดียว ในสยาม ไม่มีกฎระเบียบที่เข้มงวดคอยป้องกันจากการล่า” **
สาเหตุสำคัญอีกประการ คือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี พศ. 2485 ซึ่งมีช้างค่อมจำนวนมากในที่ลุ่ม หนีน้ำขึ้นสู่ที่สูงทุ่งระโนดไม่ทัน ทำให้ช้างจมน้ำ และล้มตายจำนวนมาก ปีนั้น ถึงกับเรียกปีนั้นว่า “ปีช้างลอย"
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงราวปี พ.ศ.2500 น่าจะเป็นช่วงสุดท้ายของพวกมัน เพราะในปี พ.ศ.2506 ได้มีการออกสำรวจอีกครั้ง
แต่ไม่มีใคร พบช้างค่อมอีกเลย***
1
................กวีธารา..................
* Insular Dwarfism คือ การที่สัตว์นั้นๆ มีขนาดย่อลงเมื่อผ่านหลายชั่วอายุคน จากการกำจัดของพื้นที่ เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
** พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ประกาศใช้ในไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2503
***ปี พศ. 2538 มีรายงานการพบช้างแคระอีกครั้ง และเป็นฝูงสุดท้ายที่กิ่งอำเภอกาบัง ยะละ และอำเภอสะบ้าย้อย สงขลา
****ปี พศ 2562 มาเลเซีย เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 37.4 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นปีก่อนมากกว่า 2 เท่า ด้วยการขยายล่วงล้ำเข้าไปยังพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่า
กวีธารา เป็นร้านค้าแนวอนุรักษ์ขายโปสการ์ด&ถุงผ้า และรับทำถุงผ้า+screenโลโก้
ภาพลิขสิทธิ์ งาน Handmade อยู่ตลาดน้ำลัดมะยมโซน7 ตลิ่งชัน กทม
**ขณะนี้ ร้านปิด เนื่องจากภาวะโควิท**
สนใจสั่งทำถุงผ้า ติดต่อ Line ID 3514653 หรือแวะชมอุดหนุน
โปสการ์ด ถุงผ้าภาพสวย ๆ กันได้ที่ https://shopee.co.th/kwtara
ภาพช้างเด็กเต้นระบำ บนโปสการ์ดและถุงผ้า ของกวีธารา (ภาพใหม่ พบกันเร็ว ๆนี้)
ในฐานะ กวีธารา เป็น Elephant F.C. รายได้ส่วนหนึ่งจากการจำหน่ายโปสการ์ด ถุงผ้ารูปช้างของเรา ร่วมสมทบช่วยเหลือช้าง สัตว์ใหญ่ใจดี ที่ชมรม ช ช้างชรา(Elephant World)อ. เมือง จ. กาญจนบุรี
แต่หากชื่นชอบในบทความและต้องการสนับสนุน ขอเป็นช่วยกันบริจาคทำบุญให้ช้าง/ให้อาหารช้างไทยได้ที่ ชมรม ช ช้างชรา หรือศูนย์อนุรักษ์ช้างต่าง ๆ ทั่วประเทศ
มีบทความอื่น ๆ ที่ทางเรา กวีธารา ตั้งใจเขียน รวบรวมไว้และเนื้อหาน่าสนใจ ไม่แพ้กันเช่นกันนะคะ ติดตามได้ที่ https://www.blockdit.com/kaweetara
กวีธารา ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงเป็นอย่างยิ่ง:
(1) หนังสือ Geological Studies ของ Alexander Winchell (หน้า 462)
(2) “Extinct Javan elephants may have been found again - in Borneo”,
WWF, posed on 17 April 2008
(3) “จับช้างป่า” บทความโดย ถ.น.ช. ในหนังสือผดุงวิทยา ปีที่ 3 เล่มที่ 4
เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2458 ค้นหาโดยคุณอเนก นาวิกมูล
(4) - รายงานจากสมาคมนิยมไพร“ช้างไทย” ที่ทำการสำรวจช้าง กลางปี พ.ศ.2503
-"ช้างไทย" บทความ, อ.อำนวย คอวนิช เขียน, วนสาร ฉบับ ม.ค.-มี.ค. พศ.2537
- ช้างแคระไทย”บทความในวรสาร ปาริชาติ เขียนโดย อ.สมชาย เลี้ยงพรพรรณ,
ภาคภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรจน์ ภาคใต้
- บันทึกในโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ โรงเรียนสตรีพัทลุง
- ช้างแคระบอร์เนียว” ช้างน้อยน่ารักบนเกาะบอร์เนียว MGR Online: 16 มี.ค.2557
- Lok Kawi Wildlife Park, Penampang, Sabah.
- "ตำนานช้างแคระที่สงขลา ตัวเท่าหมู ญาติช้างบอร์เนียว" บทความจากสำนักข่าว
สวัสดีปีใหม่ผู้ติดตามอ่านทุกท่านนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา