4 ม.ค. 2021 เวลา 01:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมวันในสัปดาห์จึงเรียงลำดับจาก
อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์
#ปริศนาที่คาใจมานาน
มนุษย์เราทุกวันนี้แม้จะอยู่ในยุคที่วิทยาศาสตร์เติบโตจนสร้างวิธีคิดใหม่ๆ และสร้างสรรค์เทคโนโลยีมากมายให้เราได้ใช้งาน แต่หากมองให้ดีจะเห็นอิทธิพลจากวัฒนธรรมและความเชื่อโบราณมากมายหลายอย่างที่ตกค้างมานานหลายพันปี และบางอย่างก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามาเนิ่นนานโดยที่เราไม่รู้เหตุผลเลยว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ดังเช่นคำถามที่ว่า
ทำไมวันในหนึ่งสัปดาห์จึงเรียงจาก อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสฯ ศุกร์ เสาร์ ?
ทั้งที่จริงๆ แล้วระบบสุริยะจักรวาลของเรา เรียงลำดับจากตรงกลางจะเป็นดังนี้คือ ดวงอาทิตย์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสฯ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน
แม้จะลองย้อนกลับไปในสมัยของเพลโต นักปรัชญาชาวกรีกผู้เชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลก็ยังเรียงลำดับวงโคจรไล่จากตรงกลางดังนี้
6
โลก (ศูนย์กลาง)
1
ดวงจันทร์
ดาวพุธ
ดาวศุกร์
ดวงอาทิตย์
ดาวอังคาร
ดาวพฤหัสฯ
ดาวเสาร์
การเรียงลำดับวงโคจรในสมัยโบราณที่สัมพันธ์กับชื่อวัน ที่มา: timeanddate.com
จะเห็นว่าการเรียงลำดับของเพลโตก็ไม่ได้ตรงกับการเรียงวันในสัปดาห์ทุกวันนี้ คำถามคือการเรียงวันในสัปดาห์ที่เราใช้กันมาจากไหนกันแน่ ดังนั้นก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมใน 1 สัปดาห์มี 7 วัน
ก่อนที่มนุษย์จะประดิษฐ์นาฬิกาความแม่นยำสูงใช้กันอย่างทุกวันนี้ สมัยโบราณมนุษย์เราใช้การเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้ามากำหนดช่วงเวลา
เราใช้การขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์มากำหนดระยะเวลา 1 วัน
การเปลี่ยนลักษณะของดวงจันทร์มากำหนดระยะเวลา 1 เดือน
และการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ไปตามกลุ่มดาวจักรราศี กำหนดระยะเวลา 1 ปี
แต่การกำหนดระยะเวลา 1 สัปดาห์นั้นไม่ได้สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของวัตถุท้องฟ้าใดๆ เลย
1
นักโบราณคดีเชื่อว่าการกำหนดสัปดาห์นั้นเริ่มต้นมาจากวัฒนธรรมบาบิโลนโบราณ แล้วค่อยๆ กระจายออกมาจนมาอยู่ในปฏิทินของจักรวรรดิโรมันทำให้กลายเป็นที่ยอมรับทั่วไป
ชาวบาบิโลนตั้งชื่อวันในสัปดาห์ตามชื่อของดาวเคราะห์ที่คนสมัยนั้นรู้จักซึ่งดาวเคราะห์เหล่านี้คือเทพเจ้า แน่นอนว่าต้องเป็นดาวเคราะห์ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะในสมัยนั้นไม่มีกล้องโทรทรรศน์
ในสมัยนั้น ดาวเคราะห์มีทั้งหมด 7 ดวง ตามชื่อของวันในสัปดาห์ ทุกวันนี้เรารู้ว่าดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ไม่ใช่ดาวเคราะห์ เพราะดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ส่วนดวงจันทร์นั้นเป็นดาวบริวารของโลก แต่คนโบราณมองว่าดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ เนื่องจากสมัยก่อนมีการแบ่งวัตถุท้องฟ้าเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ดาวเคราะห์และดาวฤกษ์
1
ดาวฤกษ์นั้นจะมีตำแหน่งเทียบกันและกันแล้วเหมือนเดิม ทำให้เราสามารถกำหนดเป็นกลุ่มดาวที่ชัดเจนลงไปได้ ส่วนดาวเคราะห์คือวัตถุท้องฟ้าที่เคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปบนกลุ่มดาวฤกษ์อีกที ดังนั้นคนสมัยนั้นจึงให้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์รวมทั้งรู้ว่าดาวฤกษ์ที่เรียงรายเป็นกลุ่มนั้นอยู่ห่างไกลจากโลกเรากว่าดาวเคราะห์มากๆ โดยลำดับที่เพลโตเรียงนั้นมาจากความเร็วของการเปลี่ยนตำแหน่งไปบนดาวฤกษ์พื้นหลังในแต่ละคืน ดาวเคราะห์ดวงไหนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตำแหน่งเร็วก็แปลว่าดาวดวงนั้นอยู่ใกล้โลก ส่วนดาวดวงไหนที่เปลี่ยนตำแหน่งช้าก็แปลว่าดาวดวงนั้นอยู่ห่างไกลจากโลกออกไป
2
คนบาบิโลนสมัยโบราณยังเชื่ออีกว่า แต่ละชั่วโมงนั้นมีเทพเจ้าดาวเคราะห์คอยกำกับดูแลอยู่โดยจะเรียงจากไกลมาใกล้ เช่น
1
วันนี้เวลา 06:00 น. เทพเจ้าดวงอาทิตย์คุม
เวลา 07:00 น.เทพเจ้าศุกร์คุม
เวลา 08:00 น. เทพเจ้าพุธคุม
เวลา 09:00 น. เทพเจ้าจันทร์คุม
เวลา 10:00 น. เทพเจ้าเสาร์คุม
เวลา 11:00 น. เทพเจ้าพฤหัสบดีคุม
เวลา 12:00 น. เทพเจ้าอังคารคุม
1
พอคุมกันจนครบก็จะวนกลับมาที่เทพเจ้าอาทิตย์อีกที่เวลา 13:00 น.
เมื่อไล่เรียงแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าที่เวลา 06:00 น. ซึ่งเป็นชั่วโมงแรกของวันจะถูกคุมเรียงดังนี้
3
วันนี้เวลา 06:00 น. เทพเจ้าดวงอาทิตย์คุม
วันพรุ่งนี้เวลา 06:00 น. เทพเจ้าจันทร์คุม
วันมะรืนนี้เวลา 06:00 น. เทพเจ้าอังคารคุม
5
กล่าวคือคนในสมัยโบราณเรียกชื่อวันตามชื่อเทพเจ้าที่คุมชั่วโมงแรกของวันนั้นๆ การเรียงวันในลำดับเช่นนี้ได้ตกทอดมาจนถึงปัจจุบันที่พวกเราใช้กัน ซึ่งสามารถเขียนสรุปอีกแบบได้โดยการนำดาวเคราะห์มาเรียงลำดับจากใกล้มาไกลบนวงกลมแล้วลากเส้นเชื่อมจนกลายเป็นดาว 7 แฉก ซึ่งการเรียงวันใน 1 สัปดาห์ก็จะเรียงจากการลากเส้นเป็นรูปดาว 7 แฉกนั่นเอง
ที่มา : Wikipedia
หลายอย่างบนโลกใบนี้แม้จะดูไม่มีเหตุผล แต่พอศึกษาอย่างละเอียดเราอาจพบเหตุผลอยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้น
แต่เราต้องไม่ลืมว่าการค้นพบเหตุผลนั้นไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถทำใจรับเหตุผลนั้นได้เสมอไป
โฆษณา