4 ม.ค. 2021 เวลา 11:23 • การเกษตร
ถ้าพูดถึงผักเปราะต้องคิดถึงยำกบพริกเผาใส่ผักเปราะเมนูสุดเด็ดถ้าใครได้ลิ้มรสยากที่จะวางช้อนได้ลง....อีกทั้งยังสามารถปลูกเพื่อนำไปขายได้.. วันนี้ผมจะพาไปทำความรู้จักกับเจ้าพื้นต้นเตี้ยติดดินที่มีเชื่อว่า... ผักเปราะหอม.. เผื่อใครที่ยังไม่รู้จักก็มาทำความรู้จักไปพร้อมกันเลยครับ​
ต้นเปราะหอม จัดเป็นพืชล้มลุก มีอายุราวหนึ่งปี ทั้งเปราะหอมขาวและเปราะหอมแดง เป็นไม้ลงหัวจำพวกมหากาฬ มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า "เหง้า" เนื้อภายในของเหง้ามีสีเหลืองอ่อนและมีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีรสเผ็ดขม เป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย มีความชุ่มชื้นพอเพียง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม เจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน พอย่างเข้าฤดูหนาวต้นและใบจะโทรมไป และพบได้มากทางภาคเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดหรือแยกหัว
ใบเปราะหอม มีใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวหรือเหง้าใต้ดินประมาณ 2-3 ใบ และแผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปไข่ป้อม มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบมนหรืออาจเว้าเล็กน้อย บางครั้งอาจพบว่าขอบใบมีสีแดงคล้ำ ๆ มีขนอ่อน ๆ อยู่บริเวณท้องใบ ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบ มีความยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร[
ใบอ่อนเปราะหอม ลักษณะม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วค่อยแผ่ราบบนหน้าดิน ในหนึ่งต้นจะมีประมาณ 1-2 ใบ ลักษณะของใบมีรูปร่างทรงกลมโตและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หน้าใบหรือหลังใบมีสีเขียว ส่วนท้องใบนั้นถ้าหากเป็น "เปราะหอมขาว" จะมีท้องใบสีขาว แต่ถ้าหากเป็น "เปราะหอมแดง" ท้องใบนั้นจะมีสีแดง ใบมีกลิ่นหอม งอกงามในช่วงหน้าฝนและจะแห้งเหี่ยวไปในช่วงหน้าแล้ง
ดอกเปราะหอม ออกดอกรวมเป็นช่อ มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีดอกประมาณ 4-12 ดอก โดยออกดอกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาวหรือสีขาวอมชมพูแต้มด้วยสีม่วง ในแต่ละดอกจะมีกลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ โดยใบและต้นนั้นจะเริ่มแห้งเมื่อออกดอก
ผลเปราะหอม ผลเป็นผลแห้งและแตกได้
สรรพคุณเปราะหอม
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ว่านเปราะหอมหรือเปราะหอม มีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (หัว)
ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ คลายเครียด ด้วยการใช้ทั้งหัวและใบนำมาโขลก ใส่น้ำพอชุ่ม แล้วเอาไปชุบนำมาใช้คลุมหัว หรือจะใช้เฉพาะหัวนำมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้งหรือว่านหูเสือ ก็จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับแก้อาการปวดศีรษะ (หัว, ใบ)
ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ด้วยการใช้หัวผสมลงในยาหอม (หัว)
หัวเปราะหอมนำมาต้มหรือชงกิน จะช่วยในการนอนหลับได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย (หัว)
น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ป้ายคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ (ใบ, หัว)
น้ำคั้นจากใบและเหง้าใช้ล้างศีรษะเพื่อช่วยป้องกันการเกิดรังแค รักษาอาการหนังศีรษะแห้ง (ใบ, หัว)
น้ำมันหอมระเหยจากหัวมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กคลายตัว ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องและช่วยขับลม แก้อาการท้องอืดได้ คนสมัยก่อนจึงนำมาทาที่ท้องเด็กคล้าย ๆ กับมหาหิงคุ์ (หัว)
ใช้เป็นอาหารช่วยบำรุงกระเพาะอาหารและลำไส้ (ใบ)
ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการใช้หัวนำมาโขลกหรือทุบใส่น้ำให้พอชุ่ม นำผ้ามาชุบแล้วใช้พันบริเวณที่มีอาการปวดบวม จะช่วยลดอาการปวดได้ จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นลูกประคบ หรือนำมาเคี่ยวกับน้ำมันไว้ใช้ทาแก้อาการปวดเมื่อย โดยอาจจะใช้ว่านหอมเพียงอย่างเดียวหรือจะผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ ด้วยก็ได้ (หัว)
หัวนำมาตำใช้พอกบริเวณที่เป็นฝี จะช่วยลดอาการอักเสบได้ (หัว)
ช่วยฆ่าเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
เปราะหอมใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาเขียวหอม ซึ่งช่วยแก้ไข้ แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
สรรพคุณของเปราะหอมขาว
ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง (หัว)
ช่วยแก้เด็กมีอาการนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา (ดอก)
หัวและใบนำมาใช้อังไฟให้ร้อนและสุมหัวเด็ก ช่วยแก้อาการหวัดคัดจมูก (หัว)
ช่วยแก้เสมหะ (หัว)
ช่วยแก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ (หัว)
ช่วยขับเลือดเน่าเสียของสตรี (ต้น)
หัวใช้รับประทานช่วยขับลมในลำไส้ (หัว)
สรรพคุณของเปราะหอมแดง
ช่วยเจริญธาตุไฟ แก้ลงท้อง (หัว)
ช่วยรักษาโรคตา (ดอก) แก้ตาอักเสบ ตาแฉะ (ดอก)
ช่วยแก้อาการไอ (หัว)
ช่วยแก้เสมหะ (หัว)
ช่วยขับลม แก้อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ (หัว, ใบ, ต้น)
ช่วยขับเลือดและหนองให้ตก (ต้น)
ช่วยแก้เกลื้อนช้าง (ใบ)
ช่วยแก้ลมพิษ (หัว)
ช่วยแก้ผดผื่นคัน (หัว)
ช่วยรักษาบาดแผล
ประโยชน์ของเปราะหอม
หัวและใบสามารถนำมาใช้ปรุงเป็นอาหารได้ ใบใช้รับประทานเป็นผักแกล้ม มีกลิ่นหอม หรือใช้ทำหมกปลาหรือใส่แกงปลา ส่วนหัวนำมาใช้ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับทำแกงหรือนำมาตำใส่เครื่องแกง หรือนำมาหั่นใส่ผัดเผ็ด หรือใช้เป็นส่วนผสมของน้ำราดข้าวมันไก่ ส่วนทางภาคใต้นิยมใช้หัวใส่ในน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมในน้ำพริกเผาเพื่อช่วยทำให้มีกลิ่นหอม
เปราะหอมมีกลิ่นที่หอม สามารถช่วยในการผ่อนคลาย เหมาะสำหรับใช้เป็น Aroma therapy
ต้นเปราะหอมทั้งแดงและขาวสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงาม
คนไทยโบราณเชื่อว่าเปราะหอมเป็นว่านศักดิ์สิทธิ์การปลูกเปราะหอมไว้หน้าบ้าน หรือใช้เปราะหอมนำมาแช่น้ำให้ผู้ป่วยรับประทาน จะช่วยปัดเป่าภูตผีปีศาจและขจัดมารออกไปได้ และยังมีความเชื่อว่าเปราะหอมเป็นไม้มงคลที่ใช้สำหรับใส่ลงไปในน้ำสำหรับสรงน้ำพระหรือน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ และยังใช้ผสมในพระเครื่อง รวมไปถึงการนำมาใช้เป็นว่านมหาเสน่ห์สำหรับชายหนุ่ม โดยนำว่านมาปลุกเสกด้วยคาถาแล้วนำมาเขียนคิ้ว หรือใช้ทาปากเพื่อให้ได้รับความเมตตา รักใคร่เอ็นดู หรือใช้ในงานแต่งของชาวอีสาน ด้วยการนำเปราะหอมไปแช่ไว้ในขันใส่น้ำสำหรับดื่มเพื่อความเป็นสิริมงคล
ด้วยความหอมจากเปราะหอม จึงมีการนำมาใช้เป็นเครื่องสำอาง แป้งฝุ่น แป้งพัฟผสมรองพื้น เจลแต้มสิว สบู่เปราะหอม แชมพู ครีมนวดผม เป็นครีมกันแดด หรือใช้ทำเป็นน้ำยาบ้วนปาก
สำหรับเครื่องสำอางจากเปราะหอมที่ใช้ทาหน้าจะช่วยแก้สิว แก้ฝ้า ทำให้ผิวหน้าดูสดใส และช่วยรักษาผิวพรรณ
ใช้เป็นยาสระผม โดยใช้ว่านหอมผสมกับใบชมวง (ส้มโมง), แน่งหอม (เร่วขน), ขมิ้น, ต้มกับน้ำมวก และใช้น้ำที่ได้ไปสระผม จะช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้ผมดกดำเงางามและมีกลิ่นหอม
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. "เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [18 พ.ย. 2013].
รายการสาระความรู้ทางการเกษตร ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. "เรื่อง เปราะหอม". บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร ประจำวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
ว่านและสมุนไพรไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร. "ว่านเปราะหอม". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.skc.rmuti.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
RUM มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. "เปราะหอม...มหัศจรรย์สมุนไพรไทย". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rum.psu.ac.th. [18 พ.ย. 2013].
อภัยภูเบศร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.abhaiherb.com. [18 พ.ย. 2013].
โฆษณา