4 ม.ค. 2021 เวลา 15:37 • ไลฟ์สไตล์
ผมเพิ่งเชื่อว่า “โซเชียลมีเดียเป็นสื่อล้ำยุค” เพราะได้อ่านหนังสือเรื่อง “บางครั้งเราก็ลืมรักตัวเอง” ของวินทร์ เลียววาริณ
ทั้ง ๆ ที่กำลังเขียนถึงสื่อล้ำยุค แต่ผมกลับนึกได้ว่าตัวเองเหมือนคนตกยุคเพราะเพิ่งจะมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Social Dilemma ทางเน็ตฟลิกซ์ทั้งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉายมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 นับถึงตอนนี้ก็ครบหนึ่งปีพอดีพอดิบ
สั้น ๆ ย่อ ๆ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น เค้าเล่าถึงเรื่องราวผ่านปากคำและการให้สัมภาษณ์ของอดีตบุคลากรระดับท้อปหรือระดับสูงของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดีทั้ง กูเกิล เฟสบุ๊ค และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งมาเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของวิธีการต่าง ๆ ที่บริษัทเหล่านี้พยายามล่อหลอกให้เราใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแอปพลิเคชันนั้น ๆ ให้ได้นานที่สุด
มีบางประโยคจากคำให้สัมภาษณ์ที่บอกว่า แอปเหล่านี้ใช้หลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการส่ง Notification หรือการใช้วิธี Tag รูปภาพ รวมถึงการส่งข้อความเตือนเมื่อคนที่อยู่ในโซเชียลมีเดียอยู่ใกล้เราในชีวิตจริง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้ใช้งานละความสนใจจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วก้มหน้าก้มตาไถฟีด (Feed) ต่อไป
เรื่องนี้คล้ายกับที่วินทร์ เลียววาริณเขียนไว้ในหนังสือชื่อเดียวกับที่ผมอ้างถึงตอนต้น เค้าบอกว่าโซเชียลมีเดียเป็นสื่อที่ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับอดีต ไม่ว่าเป็นอดีตของเราเองหรืออดีตของคนที่เราเป็นเพื่อนอยู่ในโซเชียลนั้น ๆ เพราะบรรดาโพสต์หรือรูปที่เราเห็นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นเหตุการณ์ในอดีต และบางครั้งมันยังทำให้เราพะวงถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึงเช่น จะมีใครมากดไลค์เรารึเปล่า
แต่ทั้งหมดนั้นทำให้เราละความสนใจจากปัจจุบัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เราเรียกสื่อเหล่านี้ว่าเป็นสื่อล้ำยุค เพราะมันทำให้เราล้ำหน้าและล้าอยู่ในยุคหรือเหตุการณ์ที่ไม่ใช่ยุคปัจจุบันนั่นเอง
โซเชียลมีเดียจึงทำให้เราถลำล้ำไปกับความคาดหวังข้างหน้า และชวนให้เรายึดโยงหลังล้าอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งหลายครั้งเราอาจมีความสุข แต่หลายครั้งเราก็อาจจะพลาดความสุขกับหลายเหตุการณ์ที่มันอาจจะเกิดขึ้นต่อหน้าเราอยู่
ถ้าไม่ใช่เพราะเรามัวแต่ก้มหน้า...ติดจอ
โฆษณา