5 ม.ค. 2021 เวลา 09:19 • ประวัติศาสตร์
Ep3 : A-10 หมูป่าจอมถึก
สวัสดีมิตรรักที่ติดตามเพจนี้ทุกท่าน เริ่มต้นปี 64 ท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าวิตกสร้างความเครียดตั้งแต่ต้นปี จะอย่างไรก็ขออวยพรให้ทุกท่านผ่านพ้นไปได้ด้วยสติปัญญา ส่วนผมเองตอนนี้กลายเป็นคนตกงานกลายๆ ก็ต้องก้มหน้าก้มตาสู้กันไป ยังดีหน่อยที่พอจะหายใจหายคอได้บ้าง และมีโมเดลนี่แหละครับเป็นเพื่อนแก้เหงาในยามว่าง และนำมาเล่าสู่กันฟังของคนคอเดียวกันผ่านเพจนี้
อย่าได้เสียเวลา ผมเริ่มปีใหม่ด้วยเจ้า A-10 Warthog เครื่องบินโจมตีสัญชาติอเมริกัน เจ้าของสโลแกนอึดทึกทน ที่อยู่คู่กองทัพอากาศสหรัฐฯ มานานนับสิบปี ผ่านศึกสงครามมาอย่างโชกโชน หวุดหวิดหลายครั้งที่จะถูกปลดประจำการ แต่ก็รอดมาได้ทุกครั้ง ล่าสุดพึ่งจะมีข่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วว่า กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการปลดประจำการ แต่รัฐสภาลงมติยับยั้งไว้เหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมา จึงต้องมีดีถึงจะมายืนยังจุดนี้ได้
หน้ากล่อง A-10 ขนาด 1/48 ยี่ห้อ Revell โมเดลมาตรฐานเก่าแก่สัญชาติอเมริกัน แต่ไปผลิตในจีนแล้วตอนนี้
ภายในกล่องชิ้นส่วนละลานตา ขนาดเต็มไม้เต็มมือ
เล่าถึงโมตัวนี้ก่อนแล้วกันเป็นโมเดลที่ออกมาแล้วหลายปี (ไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้วมั้ง) ผู้เขียนได้มาในงานเทกระจาดลดราคา 50 % จากร้านขายโมเดลแถวๆเอกมัย ยี่ห้อ Revell การันตีได้ถึงความเก่าแก่ เป็นโมเดลสัญชาติอเมริกัน แต่ไปผลิตในจีน
ความจริงแล้ว A-10 ในขนาด 1/48 มีหลายยี่ห้อที่ผลิตออกมาที่เห็นบ่อยๆก็คือ Tamiya ยี่ห้อยอดฮิตของนักเล่นโมเดลบ้านเรา แต่เซียนโมหลายคนบอกของ Revell ดูใกล้เคียงของจริงมากกว่า ผู้เขียนจึงถอยออกมา 1 ตัวโดยที่ไม่รู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร เพราะกล่องหุ้มด้วยซีลพลาสติกมิดชิดมาจากโรงงาน เหมือนมัดมือชกคนที่อยาก ได้ให้ซื้อไปก่อนแล้วค่อยไปเสี่ยงดวงเอาเองที่บ้านว่าดี-ไม่ดี ถ้าสวยก็โชคดีไป แต่ ถ้าไม่ดีก็ทำอะไรไม่ได้เพราะซื้อมาแล้ว
ด้วยราคาเต็มเกือบๆ 1500 บาท แต่เมื่อลด 50 % เหลือเจ็ดร้อยกว่าบาท เปิดกล่องดู ไม่ได้สวยอย่างที่หวัง แต่ผู้เขียนไม่อยากคิดอะไรมาก เพราะถือว่าซื้อมาราคาไม่แพงนัก แต่ถ้าต้องถมเงินไป 1500 เต็มๆ คงมีบ่นกันบ้าง เพราะเมื่อลงลึกไปในรายละเอียดที่ให้มาในกล่อง มีสิ่งที่ขัดหูขัดตาเต็มไปหมด คู่มือประกอบดูเผินๆเหมือนละเอียดแต่ไม่ละเอียด พลาสติกเนื้อบางฉีกขาดง่าย ชิ้นส่วนให้มาไม่เยอะนักซึ่งผู้เขียนเองก็รู้สึกพอใจที่ไม่ต้องมาเสียเวลามากในการประกอบ แต่ก็แลกมาด้วยการประกอบที่ไม่ค่อยจะลงตัว (โดยเฉพาะส่วนอาวุธที่เป็นลูกระเบิดแบบต่างๆ) และเศษพลาสติกส่วนเกินที่ต้องมานั่งขัด เหลา โดยเฉพาะชิ้นส่วนเล็กๆ บริเวณฐานล้อหลัก ซึ่งบอบบางอยู่แล้วต้องมาเหลาพลาสติกส่วนเกินให้วุ่นวาย
 
การประกอบในหลายๆส่วนไม่ลงตัว มีรูโหว่ต้องนำพุตตี้ Tamiya มานั่งอุด นั่งโป๊ว กว่าจะเป็นตัวให้รู้สึกพอใจในระดับที่สามารถลงสีได้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วันเต็มๆ ที่ต้องนั่งจมอยู่กับโมตัวนี้ แต่ก็ดีไปอย่างตรงที่เจอแต่โมต่อง่ายๆมาเยอะ ลองที่ไม่ได้ดั่งใจซะบ้าง ชีวิตจะได้มีรสชาติ
รูปลอกน้ำ ผู้เขียนตัดเฉพาะบางส่วนไปใช้
รูปลอกน้ำ หรือ Decals ของโมตัวนี้นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ขาวสะอาด เก็บไว้นานแต่ก็ไม่เหลืองให้เห็น แต่เป็นลวดลายที่ผู้เขียนไม่ชอบ เครื่องบินโจมตีถ้าเป็นลายขาว-เทาเหมือนหน้ากล่องดูไม่ดุ จะออกลายทะเลทรายเหลืองๆ น้ำตาลๆ ก็ดูไม่ค่อยจะเข้าท่า มันต้องลายพราง 3 สีออกโทนเขียวๆ จึงจะดูสมน้ำสมเนื้อว่าแล้วก็ไปค้น Decals A-10 ที่ประจำการในยุโรป หน้าเครื่องบินวาดรูปนกหัวขวาน Woody the Wood packer เพราะมีให้ติดเยอะดี ดูแน่น
 
ผู้เขียนพราง 3 สีโทนยุโรปของ Mr Color ซึ่งเป็นสีสูตรอคิริก คือ เขียวแก่เบอร์ 302 เขียวอ่อนอมเหลืองเบอร์ 303 และสีเทาออกดำ เบอร์ 301 ซึ่งเขาว่าเป็นสีพรางมาตรฐานนาโต พ่นแบบฟรีแฮนด์ไปเลยไม่ต้องมาปั้นกาวดินน้ำมันบังพ่นให้เสียเวลา ยึกยือไปตามคู่มือลงสี เอาพอใกล้เคียงจะใหญ่ไปบ้าง เล็กไปบ้าง ไม่ได้ซีเรียสเพราะผู้เขียนไม่ใช่ซีเรียส โมเดลเลอร์ ที่ต้องละเอียดทุกเม็ดอยู่แล้ว จะชอบไม่ชอบยังงัย ทุกท่านก็เชิญทัศนา เอาเป็นว่าผู้เขียนพอใจแล้วกัน
ด้านหน้าของ A-10 ใช้ Decals นกหัวขวานที่ต้องซื้อมาเพิ่มต่างหาก
ดูเต็มๆลำ
เล่าประวัติเจ้าหมูป่าให้ฟังเล็กๆน้อยๆแล้วกัน เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ผู้เขียนยังเป็นผู้สื่อข่าวสายการเมือง กลาโหม ได้ยินข่าวว่า ไทยสนใจ A-10 จากอเมริกา นัยๆว่า สหรัฐฯจะขายให้ไทยเพื่อไม่ต้องซื้อ F-16 ผู้เขียนกล้าฟันธงในตอนนั้นว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่ไทยจะมี A-10 ประจำการ เพราะ A-10 เหมาะกับการโจมตี ไล่ล่ารถถังพื้นที่โล่งๆ ซึ่งอเมริกาออกแบบไว้เพื่อไล่ยิงรถถังโซเวียตในยุโรป ถ้ามาเจอภูมิประเทศเป็นป่าเขารกทึบแบบบ้านเรา A-10 แทบไม่มีประโยชน์ ค่าตัวก็ไม่ใช่ถูกๆ และยิ่งต้องมาซื้อกระสุนยูเรเนียมราคาแพงไว้ยิงรถถัง ยิ่งดูห่างไกลความเป็นจริง ซึ่งก็จริงดังคาด ข่าวลือนี้ก็หายไปในเวลารวดเร็ว
อเมริกายังไม่ยอมปลดประจำการ A-10 ง่ายๆแม้ว่ามันมีอายุมากแล้ว เพราะเหมาะกับภารกิจการสนับสนุนทางอากาศอย่างใกล้ชิดให้แก่ทหารภาคพื้นดิน ซึ่งเครื่องบินโจมตี-ขับไล่ที่มีอยู่ไม่เหมาะกับภารกิจนี้นักเนื่องจากมีความเร็วมากเกินไป
ผู้นำในกองทัพสหรัฐฯหลายๆคนไม่ค่อยปลื้ม A-10 เพราะ มันมีรูปร่างอัปลักษณ์และเชื่องช้า แต่ก็ดูอคติเกินไปเมื่อมันมีจุดเด่น คือ ความอึดทึกทน บรรทุกอาวุธได้เยอะทั้งระเบิดแบบมาตรฐาน ระเบิดเพลิง ระเบิดดาวกระจาย ระเบิดนำวิถี จรวดมาเวอริก หรือแม้แต่จรวดแบบไซด์ไวน์เดอร์ที่เอาไว้ส่อง ฮ ของฝ่ายตรงข้ามเล่นๆ
ดูการติดอาวุธใต้ท้อง เริ่มจากซ้ายไปขวา ระเบิดนาปาล์ม(สีเงิน) ระเบิดดาวกระจาย ระเบิดมาตรฐานแบบ Mk84 และขวามือสุดสีเขียวขี้ม้า คือ กระเปาะอิเลคทรอนิคส์ไว้คอยรบกวนสัญญาณเรดาร์ฝ่ายตรงข้าม ส่วนตรงกลางลูกใหญ่ที่สุดไม่ใช่ระเบิดแต่เป็นถังน้ำมันสำรอง
เห็นความละเอียดของรูปลอกน้ำมั้ยครับ ทำลวดลายมาได้ละเอียดประณีตทีเดียวประดับอยู่ที่เครื่องยนต์ทั้ง 2 ข้างของโมเดล
ดูผลงานของ A-10 ตัวนี้ในยุทธการ Iraqi Freedom (ปลดปล่อยอิรัก) ทำลายเรดาร์ 4 ฐาน จรวดสกั๊ด 1 ฐาน ปืนใหญ่ 6 กระบอก รถถัง 5 คัน รถเกราะสนับสนุนการรบ 3 คัน และรถบรรทุกอีก 9 คัน สบายมากสำหรับเจ้า Warthog
ความสำเร็จส่วนหนึ่งของ A-10 มาจากกระสุนยูเรเนียมที่เพียงนัดเดียวรถถังระเบิดทั้งคัน
ด้านบนของเจ้าหมูป่าเห็นชัดเจนในการพราง 3 สีมาตรฐานนาโต
A-10 ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพียงให้มีอำนาจการทำลายล้างอย่างล้นเหลือ แต่สามารถเอาตัวรอดในสมรภูมิได้ดีมากอีกด้วย นักบินนั่งอยู่ในค๊อคพิทที่มีเกราะกันกระสุนล้อมรอบตัวป้องกันจากการระดมยิงจากพื้นดิน เครื่องบินยังสามารถบินต่อไปได้แม้หางหลังถูกยิงกระจุยไป 1 หาง และการออกแบบแผ่นหางก็อยู่ในตำแหน่งเหมือนเป็นโล่ห์ป้องกันเครื่องยนต์จากจรวดนำวิถีด้วยความร้อน เครื่องยนต์เทอร์โบแฟนก็ถูกออกแบบมาให้วางอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าหางช่วยลดความเสี่ยงการถูกทำลายโดยกระสุนปืนต่อสู้อากาศยาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ในยุทธการพายุทะเลทราย และอิรัก ฟรีดอม A-10 ทำผลงานยิงทำลายรถถังของกองกำลังรีพับลิกัน การ์ดของอิรักได้หลายร้อยคัน โดยที่มันสามารถบินกลับฐานได้อย่างปลอดภัยชิวๆ แม้มีร่องรอยกระสุนอยู่ทั่วตัวชนิดที่ถ้าเป็นเครื่องบินรบแบบอื่นก็ต้องสละเครื่องไปนานแล้ว
หมูป่าโดยยิงพรุนแต่ยังกลับบ้านได้แบบชิวๆ
เครื่องยนต์โดยยิงเละขนาดนี้ก็ยังกลับบ้านได้เช่นกัน ขอบคุณ MLIVE.COM
ผู้เขียนไม่อยากเชื่อว่า A-10 คือเครื่องบินที่ทำเสร็จตัวแรกของปี 64 ที่ไม่เชื่อตัวเองก็เพราะเหตุผลที่เอ่ยมาข้างต้น แต่มองในแง่ดี โมที่อยู่ในกล่องไม่สวย แต่เมื่อจับมาต่อ มาลงสีก็สามารถทำให้สวยขึ้นมาได้ไม่แพ้โมรุ่นใหม่ๆที่ผลิตมาได้สวยงามตามความทันสมัยของเทคโนโลยี และเป็นสิ่งยืนยันอีกว่า โมเดลทุกตัวที่ได้ลงมือทำอย่างตั้งใจจะสวยเสมอในสายตาของเรา ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม Happy New Year ครับ
โฆษณา