6 ม.ค. 2021 เวลา 00:15 • สุขภาพ
ของหวานนั้นเป็นที่โปรดปรานสำหรับใครหลาย ๆ คน คงจะเป็นการยากที่เราจะไม่ได้ทานน้ำตาลเลยในแต่ละวัน เพราะอาหาร และเครื่องดื่มโปรดของเรา ๆ ท่าน ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีน้ำตาลเป็นส่วนปรุงแต่งแทบทั้งสิ้น ถึงแม้เราจะทราบดีก็ตามว่าของหวานเหล่านั้น หากทานมากเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะอดใจไหว
เหล่าผู้ผลิตจึงได้มีการนำสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาใช้เสริม หรือทดแทน เพื่อลดปริมาณน้ำตาลลงสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ แต่สารเหล่านี้จะดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่ วันนี้เราจะได้รู้ไปพร้อมๆกัน
สารให้ความหวาน (Sweetener) เป็นสารที่ใช้แต่งรสหวาน แต่งกลิ่น ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้ ในการปรุงอาหาร เครื่องดื่ม และเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ แอสปาร์แตม ซูคราโลส หญ้าหวาน เป็นต้น ซึ่งได้มาจากการสังเคราะห์ และแบบที่สกัดจากธรรมชาติ
แอสปาแตม (Aspartame ) น้ำตาลเทียมที่สกัดจากสารเคมี มีความหวานกว่าน้ำตาลธรรมชาติถึง 200 เท่า มีความขมเล็กน้อย มีข้อดีคือไม่ทำให้เกิดภาวะฟันผุ และไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้น เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน
ส่วนข้อเสียของแอสปาร์แตม คือโครงสร้างของแอสปาร์แตมจะเปลี่ยนไปเมื่อโดนความร้อนสูง จึงไม่ควรใช้ปรุงอาหารที่ตั้งไฟร้อนๆ และไม่ควรเก็บไว้นาน
อีกทั้งยังพบว่า แอสปาแตมที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงทำให้มันไปกองรวมกันอยู่ในลำไส้ใหญ่ และมีแบคทีเรียที่สามารถย่อยแอสปาแตมได้ ซึ่งจะผลิตก๊าซออกมาด้วย จึงทำให้มีอาการท้องอืด
ซูคราโลส (sucralose) ไม่ให้พลังงาน หวานกว่าน้ำตาลทรายขาวถึง 600 เท่า มีข้อดีคือเป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย ไม่มีสารสะสมในร่างกาย ไม่มีผลต่อน้ำตาลในเลือด ไม่ทำให้ฟันผุ และละลายน้ำได้ดี ใช้ปรุงอาหารและขนมทุกชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูงได้ ข้อเสียคือ ซูคราโลสทำให้กระเพาะของเราไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในบางคน
หญ้าหวาน (Stevia) เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติและเป็นสารให้ความหวานที่ดีที่สุด ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 250-300 เท่า ให้มีพลังงานน้อยมาก ทนความร้อนได้ ข้อเสียคือมีบางงานวิจัยกล่าวว่าการบริโภคหญ้าหวานในปริมาณมากจะทำให้จำนวนสเปิร์มลดลง และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้
ต่อมาได้มีการทดลองค้นคว้าถึงข้อเสียและพิษของหญ้าหวานซ้ำหลายครั้ง ผลที่ได้พบว่าไม่มีพิษ หรืออาจมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนประเทศสหรัฐ ได้ประกาศและให้การยอมรับว่าหญ้าหวานเป็นพืชที่ปลอดภัย ส่วนในประเทศไทยเองก็มีทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาถึงผลเสียและอันตรายของหญ้าหวาน ซึ่งได้ให้ข้อสรุปว่ามีความปลอดภัย สามารถใช้บริโภคเพื่อทดแทนความหวานของน้ำตาลได้
นอกจากนั้น มีการวิจัยโดย Meghan Azad นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลภายใต้การศึกษาจากอาสาสมัครกว่า 400,000 คน ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า กลุ่มผู้ทดลองที่บริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเป็นประจำกลับอ้วนขึ้นมีน้ำหนักตัวมากกว่าเดิม และมีรอบเอวเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพบความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย
สรุป
จากโทษทั้งหมดข้างต้นไม่ใช่ว่าจะกลัวจนทานไม่ได้ ความจริงคือยังทานได้ต่อไปเพราะระบบในร่างกายของทุกคน สามารถขจัดสารพิษในเบื้องต้นได้ยกเว้นคนที่เป็นโรคฟินิลคิโตนูเลียเท่านั้น อีกทั้งส่วนใหญ่จะกินในปริมาณที่ต่ำมากๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ข้างต้นเพราะน้ำตาลเทียมจึงน้อยมาก สำหรับใครที่คิดว่าอยากจะใช้สารเหล่านี้เป็นตัวช่วยในการลดน้ำหนักก็สามารถทำได้ แต่อาจจะต้องสำรวจตนเองอยู่เสมอ หากมีผลข้างเคียงก็ควรงด เพราะควรกินในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากจนเกินไป แต่สำหรับใครที่อยากลดน้ำตาลลง ทางที่ดีที่สุดก็ควรจะเป็นการฝึกลิ้นตนเองจะเป็นการดีที่สุด โดยการปรุงอาหารให้น้อยลง เช่น การปรุงก๋วยเตี๋ยว หรือดื่มน้ำหวานให้น้อยลง จะเป็นการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ และพฤติกรรมที่ดีที่สุด ร่วมกับการทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง
อย่าลืมกด Like กดติดตาม
เพื่อเป็นกำลังใจให้เรา
และไม่พลาดข้อมูลสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้น
โฆษณา