8 ม.ค. 2021 เวลา 00:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เผือกมาจากไหน?
มันฝรั่ง มันเทศ มันสัมปะหลัง มีจุดกำเนิดมาจากทวีปอเมริกา ซึ่งก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสจะค้นพบทวีปอเมริกา มนุษย์ในทวีปยุโรป และเอเชียที่เรียกว่า เป็นโลกเก่า ไม่ได้รู้จักพืชอาหารทั้งสามเลย
1
แล้วมนุษย์ในโลกเก่านี้กินอะไร?
คำตอบคือ เผือก
2
เผือก หรือบอน เป็นพืชชนิดเดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ [Colocasia esculenta] โดยเผือกจะเป็นพันธุ์ที่มีก้านใบและเส้นใบเป็นสีม่วง ลงหัวเป็นหัวเผือก ส่วนบอนมีสีเขียวทุกส่วนของลำต้น บางต้นมีการลงหัว บางต้นไม่มีการลงหัว เผือกและบอนดิบกินไม่ได้ เพราะมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งต้องทำให้สุกก่อนถึงจะรับประทานได้ ผลึกส่วนใหญ่เป็นรูปเข็ม ความเป็นพิษน้อยลงเมื่อสุก
1
เผือกเป็นหนึ่งในอาหารหลักที่มนุษย์กินเป็นอาหารก่อนการมาของมันเทศ และมันฝรั่ง โดยเผือกถูกปลูกตั้งแต่ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นของทวีปแอฟริกา แถบเมดิเตอร์เรเนียน เอเชีย และโอชิเนีย โดยเผือกสามารถนำมากินได้หลายส่วนตั้งแต่หัวที่เป็นอวัยวะสำหรับสะสมอาหาร ใบที่เมื่อทำสุกแล้วสามารถกินได้
ใบและลำต้นของเผือก (ที่มา Thierry Caro CC BY-SA 2.5, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=353479)
แล้วเผือกมีจุดกำเนิดมาจากที่ไหน?
แต่เดิมนั้นเชื่อว่า เผือกมีจุดกำเนิดในตอนเหนือของอินเดีย จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถูกนำมาเพาะปลูกเป็นพืชอาหารในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม เราพบหลักฐานเชิงโบราณคดีของการใช้ประโยชน์จากเผือกตั้งแต่โบราณบนเกาะนิวกินี เนื่องจากพบร่องรอยของการเพาะปลูกเผือกในแหล่งโบราณคดีที่ชื่อว่า Kuk Swamp บนเกาะนิวกินี ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรโบราณที่มีอายุระหว่าง 10,000 - 7,000 ปีก่อน ซึ่งมีการพบระบบชลประทานโบราณในพื้นที่แห่งนี้ มีการพบหัวเผือกโบราณที่ถูเพาะปลูกในพื้นที่แห่งนี้ ก่อนที่จะมีการปลูกกล้วย และอ้อยในเวลาต่อมา
1
สีแดงแสดงตำแหน่งของเกาะปาปัวนิวกินี (ที่มา By Rei-arturptenRei-artur blogderivative work: Abhijitsathe (talk), CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=7931668)
ภาพถ่ายทางอากาศของ Kuk Swamp แสดงให้เห็นพื้นที่การเกษตรบนที่ราบสูง (ที่มา By NASA: JPL - http://photojournal.jpl.nasa.gov/catalog/PIA13090, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10379239)
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลจากการศึกษา DNA ใน Chloroplast (Organelle ในเซลล์พืชที่มีไว้สังเคราะห์ด้วยแสง) มายืนยันว่า เผือกและการปลูกเผือกในทางการเกษตรน่าจะเกิดในแผ่นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า เพราะสายพันธุ์ของเผือกที่นิยมปลูกในปาปัวนิวกินีในปัจจุบัน เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่พบในธรรมชาติบนพื้นที่แผ่นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพืชในสกุลเดียวกับเผือก [Colocasia] หลายชนิดก็พบอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่เผือกป่าที่พบในออสเตรเลียและในปาปัวนิวกินีเป็นสายพันธุ์ที่ต่างจากที่ถูกนำมาเพาะเพื่อการเกษตร
2
อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการนำเข้าเผือกสายพันธุ์ที่ปลูกในพื้นทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายังปาปัวนิวกินี และทำให้ชาวปาปัว นิวกินี้มีการเปลี่ยนสายพันธุ์ของเผือกที่ปลูกจากสายพันธุ์พื้นบ้านเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ดีกว่าสายพันธุ์พื้นบ้านเมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีก่อน จากการอพยพของชาวออสโตรนีเชียนก็เป็นได้
1
นอกจากนั้นเผือกอาจจะถูกคัดเลือกพันธุ์จากเผือกป่าในธรรมชาติหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เพื่อนำมาปลูกในการเกษตร เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีเผือกอย่างน้อย 2 กลุ่มที่นิยมนำมาปลูก โดยกลุ่มหนึ่งจะพบกระจายอยู่ทั่วไปอยู่ทั้งในธรรมชาติในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ซึ่งเผือก [Colocasia esculenta var. esculenta] และบอน [Colocasia esculenta var. aquatilis] ที่นิยมปลูกในประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ ในขณะที่เผือกอีกกลุ่มหนึ่งจะพบส่วนใหญ่เฉพาะในเขตกึ่งร้อนไปจนถึงอบอุ่น เช่น ในทวีปแอฟริกา ปากีสถาน เนปาล ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์
โดยการนำเพาะปลูกทางการเกษตรนี้ เผือกจะต้องถูกคัดเลือกพันธุ์มาจากเผือกป่าในธรรมชาติ เนื่องจากเผือกป่าในธรรมชาติจะมีกลิ่นเหม็น ทำให้ไม่สามารถกินได้ การคัดเลือกพันธุ์จะทำให้กลิ่นรสที่รุนแรงนี้จางลง และนำมาเป็นอาหารได้อย่างเผือกที่เรากินในปัจจุบัน
(A) บอน และ (B) เผือก (ดัดแปลงจาก Ahmed et al.,2020)
รู้หรือยังครับว่ามันเทศเป็นญาติกับผักบุ้ง
เอกสารอ้างอิง
1. Ahmed, I, Lockhart, PJ, Agoo, EMG, et al. Evolutionary origins of taro (Colocasia esculenta) in Southeast Asia. Ecol Evol. 2020; 10: 13530– 13543. https://doi.org/10.1002/ece3.6958

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา