7 ม.ค. 2021 เวลา 02:29 • ข่าว
มาแล้ว! เรือเฟอร์รี่ สงขลา - ชลบุรี
จุผู้โดยสารได้ 586 คน
รถบรรทุก 80 คัน
รถยนต์ส่วนตัว 20 คัน
เริ่มทดสอบ 7 ม.ค. 64 นี้
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ร่วมตรวจสอบโครงการเดินเรือเฟอร์รี่ระหว่างจ.ชลบุรี-จ.สงขลา เพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ ที่อู่เรือ บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด จำกัด และตรวจท่าเรือต้นทาง (ท่าเรือจุกเสม็ดสัตหีบ)
เพื่อเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยในทุกด้าน เช่น ตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยในเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกที่จะรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก มาตรการป้องกันรถเคลื่อนตัวขณะขนส่งตลอดจนมาตรการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุกลางทะเล
นายวิทยา เปิดเผยว่า บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ได้เสนอแนวคิดในการประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมการขนส่งภายในประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ เพื่อลดปัญหา ความแออัดของการจราจร และลดการเกิดอุบัติเหตุท้องถนน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
อีกทั้งสามารถประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนนของภาครัฐ โดยในระยะแรกจะให้บริการในเส้นทางชลบุรี(สัตหีบ) – สงขลา เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก กับเขตเศรษฐกิจภาคใต้พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว
สำหรับเรือเฟอร์รี่ ซีฮอร์ส (นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เดิมชื่อ Blue Dolphin ) มีขนาด 7,003 ตันกรอสส์ ความยาว 136.6 เมตร รองรับรถบรรทุกได้ประมาณ 80 คัน รถยนต์ส่วนตัว 20 คัน ผู้โดยสารประมาณ 586 คนกรมเจ้าท่าร่วมกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ให้บริการจากท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) -ท่าเรือเซ้าท์เธิร์น โลจิสติกส์ 2009 จ.สงขลา ด้วยระยะทาง 330 ไมล์ทะเล (611 กม.) ใช้เวลาเดินทาง 18-20 ชม. เร็วกว่าทางบกที่ระยะทาง 1,130 กม. ช่วยร่นระยะทาง 519 กม. ไม่ต้องหลังแข็งขับรถ 23-24 ชม. ใช้เวลานอนพักผ่อนบนเรือได้อย่างเต็มที่
โครงการนี้ผู้ประกอบการลงทุน100% โดยซื้อเรือเฟอร์รี่มือสองมาจากเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นเดินทางถึงเมืองไทยแล้ว อยู่ระหว่างซ่อมบำรุงที่อู่เรือบริษัท ยูนิไทยชิปยาร์ด จำกัด เตรียมแผนทดสอบระบบการเดินเรือและทดลองเปิดบริการเพื่อรับรถของลูกค้าบริษัทก่อนประมาณวันที่ 7 ม.ค. นี้ จากนั้นคาดว่าจะเปิดบริการอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปภายในเดือนม.ค. หรืออย่างช้าเดือนก.พ.
นายวิทยา กล่าวด้วยว่า บริษัทฯยังไม่ได้เสนอรายละเอียดอัตราค่าโดยสารเนื่องจากกำลังจัดทำรายละเอียดของต้นทุนในการเดินเรือนำเสนอและรอผลการทดสอบก่อน แต่ได้ให้ข้อแนะนำว่าควรกำหนดอัตราที่ผู้ประกอบการรถบรรทุกและประชาชนรับได้
รวมทั้งเน้นย้ำถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรือ ท่าเรือตัวเรือ อุปกรณ์ความปลอดภัยประจำเรือ คนประจำเรือ และการจัดการแผนเผชิญเหตุการณ์ต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ และเป็นไปตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในการพัฒนาศักยภาพ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและ โลจิสติกส์ในประเทศไทยให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
 
นายวิทยา กล่าวต่อว่า ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (ท่าเรือจุกเสม็ด) เป็นท่าเทียบเรือที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกองทัพเรือโดยแบ่งส่วนพื้นที่เพื่อใช้สำหรับเป็นท่าเทียบเรือเฟอร์รี่จำนวน 2 ท่า มีความยาว 75 เมตร ความกว้างหน้าท่า 30 เมตรความกว้างหน้าแลมป์ 30 เมตร ระดับน้ำลึกหน้าท่า วัดจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้านนอกลึก 10 เมตร และด้านในลึก 8 เมตร โดยท่าเรือมีขีดความสามารถ ปลอดภัย และมีความพร้อมรองรับการจอดเรือเฟอร์รี่ ในระยะต่อไปจะเพิ่มจุดจอดที่ อ.ปราณบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์ ด้วย บริษัทกำลังเจรจาหาท่าเทียบเรือ
ที่มาข้อมูล: เดลินิวส์
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเพจคนรักสิบล้อ
โฆษณา