7 ม.ค. 2021 เวลา 05:28 • ประวัติศาสตร์
ตํานานบทหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทยได้กล่าวถึงวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา กรีธาทัพช้าง ม้า ไพร่พลเรือนแสน หมายมุ่งเข้ายึดเมืองนายและเข้าตีกรุงอังวะโดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-เมืองกื้ด-เมืองคอง-เมืองแหง-เมืองนาย (พม่า) ก่อนเสด็จสวรรคต ณ บริเวณที่เรียกว่า ทุ่งดอนแก้ว (สถานที่สวรรคตยังไม่แน่ชัด)
ราวปี พ.ศ. 2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ยกทัพไพร่พลจำนวนแสน พร้อมทั้งช้าง ม้า วัว ควาย หวังเข้าตีพระเจ้ากรุงอังวะ โดยแบ่งเส้นทางการเดินทัพเป็นสองเส้นทาง เส้นทางแรก ทัพพระนเรศวรมหาราชเสด็จพระราชดำเนินทางเมืองงาย (อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) และได้ตั้งทัพพักแรมอยู่ที่เมืองงายก่อนจะเดินทัพเข้าสู่เมืองแหง เส้นทางที่สองโปรดให้ทัพพระเอกาทศรถยกทัพไปทางเมืองฝาง (อ.ฝาง จ.เชียงใหม่) ต่อมาสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรและสวรรคต ซึ่งสถานที่ยังคงรอการพิสูจน์กันต่อไปว่าเป็นบริเวณใด กันแน่
อำเภอเวียงแหงเดิมชื่อว่า “เมืองแหง”มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านตามเส้นทางเดินทัพและการค้าระหว่างอาณาจักรล้านนา กับเมืองนาย (พม่า) อีกทั้งยังเป็นเมืองกึ่งกลางเส้นทางตามลำน้ำแม่แตงมีพื้นที่กว้างใหญ่เหมาะแก่การสะสมเสบียงอาหารดังปรากฏในจดหมายเหตุและพงศาวดาร ทั้งของไทย พม่า รวมถึงล้านนา กล่าวไว้หลายยุคหลายช่วงเวลาว่า ในปี พ.ศ. 2101 เป็นเส้นทางเดินทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ทรงกรีธาทัพทหาร 90,000นายเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2108 เป็นเส้นทางเดินทัพของ 19 เจ้าฟ้าไทใหญ่ ไพร่พลอีก 60,000คนที่พระเจ้าบุเรงนองส่งมาช่วยเมืองพิษณุโลกตามคำขอของขุนพิเรนทรเทพ เนื่องจากทางล้านช้างยกทัพมาประชิดเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2148เป็นเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงยกทัพเพื่อไปตีเมืองนาย และในปี พ.ศ. 2317 เป็นเส้นทางหลบหนีของเนเมียวสีหบดีหลังจากถูกกองทัพพระเจ้าตากขับไล่ออกจากเมืองเชียงใหม่ ในปีพ.ศ.2408เป็นเส้นทางรับเจ้าเมืองของพม่ามายังเมืองเชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 6 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปัจจุบัน “เวียงแหง” ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวประสานวัฒนธรรมอย่างแน่นแฟ้น กลมเกลียว
นอกจากด้านประวัติศาสตร์ เวียงแหงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น วัดฟ้าเวียงอินทร์ (วัดสองแผ่นดิน)สร้างขึ้นบริเวณที่เป็นซากเจดีย์เก่าที่สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้น ต่อมาในราวปี พศ. 2511 เจ้ากองเจิน ชนะศึก และชาวไทยใหญ่ได้บูรณะขึ้นใหม่ หมู่บ้านเปียงหลวง ซึ่งเป็นด่านชายแดนไทย-พม่า หรือ ช่องหลักแต่ง ในสมัยก่อนมีการค้าขายสินค้ากันอย่างคึกคักปัจจุบันปิดช่องทางนี้ไปแล้วและวัดพระบรมธาตุแสนไหที่มีความสำคัญด้านพระพุทธศาสนา ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมพระอานนท์ เพื่อทรงจาริกและโปรดสรรพสัตว์
ครั้งเมื่อเสด็จมาถึงชาวกระเหรี่ยงพื้นบ้าน ได้นำแตงโมมาถวาย ขณะเสวยแตงโม พระทนต์ (เขี้ยว) กะเทาะ (แหง) ออกมา จึงให้พระอานนท์มอบให้แก่กระเหรี่ยงเพื่อก่อเป็นสถูปและบรรจุไว้บนยอดเขา จากนั้น พระเจตบุตรเจ้าเมืองแหงได้ทรงทราบความจึงได้ไปนมัสการพระธาตุด้วยความศรัทธาแล้วประกาศให้ชาวเมืองร่วมกันก่อสร้างพระธาตุขึ้นในรัชสมัยของพระนเรศวรมหาราชได้ใช้เมืองแหงเป็นเส้นทางเดินทัพและทรงหยุดพักณเชิงเขาหน้าวัดพระบรมธาตุเจ้าเมืองแหงได้กราบทูลให้ทรงทราบประวัติ แล้วเชิญเสด็จขึ้นไปสักการะ พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นองค์พระบรมธาตุมีสภาพทรุดโทรมจึงโปรดให้ทหารบางส่วนอยู่ทำการบูรณะองค์พระบรมธาตุ ในปัจจุบันเมื่อมองจากบนเนินพระบรมธาตุจะเห็นบ่อน้ำช้างศึก เชื่อกันว่าเป็นบ่อน้ำสำหรับช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชบริเวณดังกล่าวพบหลักฐานหลายชิ้น เช่น พระมาลาเบี่ยง และพระแสงดาบ ซึ่งปัจจุบันเก็บไว้ที่วัดเวียงแหง จากภาพเก่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จมาประกอบพิธีบวงสรวงสังเวยพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2508 ที่ข้าราชการ ทหาร ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมสร้างเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศขององค์พระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณที่สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ตั้งทัพพักไพร่พล โดยเปิดให้บุคคลทั่วไปได้กราบสักการะ และเยี่ยมชม ณ บ้านเมืองงาย ต.เมืองงาย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
เส้นทางที่คดเคี้ยวมากกว่า 200 โค้งลัดเลาะตามไหล่เขา จาก อ.เชียงดาว จนถึง อ.เวียงแหง รวมระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงามแปลกตาราวกับว่าเดินทางอยู่ต่างถิ่นต่างแดนกอปรกับกลิ่นไอความสดชื่นที่ยังไม่ได้รับการปรุงแต่งสายลมที่พัดผ่านทำให้รู้สึกหนาวเย็นตลอดทั้งปี เมืองแหง หรือเวียงแหงนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์เต็มไปด้วยความงามทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ รวมถึงสถูปราชานุสาวรีย์พระนเรศวรมหาราช(คนในพื้นถิ่นเรียกว่า“ข่วง”)มีให้แวะสักการะตลอดเส้นทางจนอดคิดไม่ได้ว่าเมื่อย้อนไปเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว กองทัพ ช้าง ม้า ไพร่พลนับแสนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กำลังเดินทัพจากเมืองงาย เข้าสู่เมืองแหง เดินเรียงรายตามภูเขา ไกลสุดลูกหูลูกตานั้นจะเป็นเยี่ยงไร
โฆษณา