8 ม.ค. 2021 เวลา 06:49 • สุขภาพ
ทำไมควรลง App หมอชนะ ? และเราควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าตัวเองไปทานข้าวร้านเดียวกันกับคนที่ติด COVID-19 ?
ในฐานะคนเขียนผมห่างหายไปจาก Blockdit นานพอสมควร แต่ในฐานะผู้อ่านผมยังคอยติดตามอยู่เสมอ ไม่ได้หายไปไหนนะครับ
แน่นอนว่าช่วงนี้เรื่องที่ฮิตที่สุดก็คือ COVID-19 ซึ่งผมเองก็เพิ่งมีประสบการณ์สด ๆ ร้อน ๆ ในเรื่องนี้เลยมีอะไรบางอย่างที่ได้เรียนรู้ และอยากจะแบ่งปันครับ
เมื่อวันก่อนผมบังเอิญได้เข้าไปดู Timeline ของผู้ติดเชื้อ COVID-19 ชาว กทม. จาก Facebook ของ คุณพงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.
ก็ไปพบโดยบังเอิญว่า ร้านอาหารในจังหวัดหนึ่งที่ผมและครอบครัวไปแวะทานมาเมื่อปลายเดือน ธันวาคม ที่ผ่านมานั้น มีผู้ป่วยโควิดได้ไปใช้บริหารมาในเวลาเดียวกันกับผมถึง 2 คน ซึ่งสองท่านนั้นเป็นคน กทม. ที่ไปเที่ยวจังหวัดนั้นเหมือนกับผม (แต่ครอบครัวเราทั้ง 2 บ้านไม่ได้รู้จักกันนะครับ)
พอทราบว่าครอบครัวผมน่าจะมีความเสี่ยง ก็เลยลองติดต่อไปที่เทศบาลจังหวัดนั้น และได้รายละเอียด Timeline ของผู้ป่วย 2 รายนั้นเพิ่มเติมจากทางเจ้าหน้าที่ของเทศบาล มาเพื่อใช้เปรียบเทียบกับ ​Google Timeline ของผมเองที่เปิดบันทึกไว้
ตัวอย่าง Google Timeline
ซึ่งจาก Timeline 2 ชุด (จากการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และจาก Google) ก็พบว่าครอบครัวผมไปทานข้าวที่ร้านนั้นในเวลาเดียวกันกับครอบครัวนั้นเป๊ะเลย แถมพอทานเสร็จ บ้านเราทั้ง 2 บ้านก็ยังเดินทางไปไหว้พระที่วัดเดียวกันต่อ ในช่วงเวลาเดียวกันอีก
อย่างไรก็ตามพอถามไปทางจังหวัดต้นทางนั้น ก็ทราบว่าทาง สธ. จังหวัดยังถือว่าลูกค้าที่ร้านอาหารนั้น รวมทั้งคนที่ไปที่วัดในช่วงเวลาดังกล่าว เป็น ​Low risk
พอผมลองติดต่อไปที่ รพ. ที่ตัวเองมีประกันสังคมอยู่ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ากรณีนี้ถือ Low risk เช่นกัน ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะร้าน และ วัดนั้น เป็นสถานที่โล่ง และทุกคนในครอบครัวนั้น และในครอบครัวผมก็ใส่หน้ากากตลอดเวลา (แน่นอนว่ายกเว้นตอนรับประทานอาหาร)
แต่เจ้าหน้าที่ของ รพ. ตามประกันสังคมของผม ก็แนะนำให้ครอบครัวผมทุกคนที่ไปทานข้าวที่ร้านนั้น ต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำของเทศบาลจังหวัด
นับถึงวันนี้ ก็ปาเข้าไปวันที่ 11 แล้ว และจะครบ 14 วันวันจันทร์หน้านี้แหละ ซึ่งในช่วง 11 วันที่ผ่านมาผมก็เดินทางไปมาหลายที่ ก็เลยต้องแจ้งคนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน กับที่บ้านที่แวะมาหา ให้เฝ้าสังเกตอาการตัวเองด้วย
อย่างไรก็ตาม ภรรยาผมเขาจะไปตรวจ swab test อีกรอบ เพราะสัปดาห์หน้าเขายังต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ก็เลยขอไปตรวจซะก่อน
ตอนนี้อาการที่บ้านผมทุกคนก็ยังปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีน้ำมูก จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส ก็คิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร ... หวังว่านะ
มันอาจจะดูไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ก็คือ ...
1) ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน เราก็ยังต้องระวังกันอยู่ การ์ดอย่าตกเด็ดขาด มันใกล้ตัวเรากว่าที่คิดจริง ๆ ใครจะไปคิดว่าขับรถไปเที่ยวตั้งไกล ในช่วงที่ยังระบาดไม่หนัก ยังมีคนจากจังหวัดเดียวกันเอาไวรัสไปเที่ยวด้วย
2) ถ้าช่วงนี้เรายังต้องเดินทางไปไหนมาไหน ก็อยากให้คอยติดตามอ่าน Timeline ที่ทางการประกาศ
ถ้าเจอว่าตัวเองมีความเสี่ยง เราสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไปได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะให้รายละเอียดมากขึ้นจากการพูดคุยกับเรา เพราะทุกวันนี้เคสเยอะมาก Timeline ก็เลยออกช้า รายละเอียดก็อาจขาดตกบกพร่องไป
จริง ๆ แล้วการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถลง Timeline ละเอียด มันก็มีอยู่หลายเหตุผลตามที่ ศบค. เคยแจ้งไว้แล้ว แต่สำหรับผมนั้น เหตุผลสำคัญคือ หากลงละเอียดมากเกินไป ประชาชนอาจจะไปวินิจฉัยเอาเองว่าตนนั้นเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง โดยที่ไม่ได้ติดต่อมาที่ จนท. เพื่อสอบถาม ซึ่งมันอันตราย
3) ข้อสุดท้าย คือถ้าสะดวกจะลง App หมอชนะ ไทยชนะ ผมก็อยากให้ลงกันนะ ถ้ารัฐบาลย้ำให้ลงกันเยอะ ๆ ตั้งแต่แรก แล้วสามารถติดตามคนที่มีความเสี่ยงในเชิงรุกได้มากกว่านี้ ผมก็คงจะไม่ต้องมานั่งเทียบ Timeline จากการสัมภาษณ์ และจาก Google เองแบบ Manual
แต่ก็นั่นแหละครับ ถึงวันนี้จะลง App กันอย่างเดียวมันคงไม่ทันการณ์แล้ว และนี่ก็ไม่ใช่เวลามาชี้นิ้วตำหนิใคร เรากลับไปทำตามข้อ 1 และ 2 น่าจะดีที่สุดครับ
เราจะผ่านมันไปด้วยกันครับ
(โอเค นะจ๊ะ)
ปล. ผมเข้าใจว่าหลาย ๆ ท่านไม่มั่นใจในเรื่อง Data privacy ที่ App หมอชนะเก็บเอาไป ซึ่งแรก ๆ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น
มาวันนี้ ก็คิดเล่น ๆ ว่ามันน่าจะดีกว่า ถ้าหน่วยงานรัฐช่วยปรับ Flow ของข้อมูลให้วิ่งออกจากศูนย์กลาง คือเป็นการเอา Timeline จากการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ มาแปลงเป็น Data แล้วส่งข้อมูลหรือ Sync ไปให้ App บนเครื่องของแต่ละคนเอาไปเทียบเองกับ Timeline ของตัวเองที่เลือกได้
ถ้าหากเจอว่าเสี่ยง ก็ค่อยแจ้งผู้ใช้งาน และหน่วยงานสาธารณสุขใกล้เคียงให้เข้ามาช่วยเหลือ
ก็น่าจะได้ความร่วมมือมากขึ้นครับ
ขอบคุณมากครับ
โฆษณา