8 ม.ค. 2021 เวลา 09:27 • ปรัชญา
ชีวิตของคนเรานั้นไม่ได้ราบรื่นไปตลอดชีวิต บางช่วงก็ทุกข์เพราะการณ์ทั้งหลายไม่เป็นไปตามใจปรารถนา บางช่วงก็สุขเพราะจิตสมหวังดังที่ต้องการ
สุขทุกข์ของคนนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของ "ใจ"
ความต้องการของใจ จึงอาจเป็นสิ่งเดียวกับการ "คาดหวังตั้งเป้าหมาย"
ยามใดที่ความคาดหวังเป็นไปตามศักยภาพของผู้คาดหวังในสถานะการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ยามนั้นความสุขของผู้คาดหวังก็ปรากฏ และในยามนั้นเองที่เราเรียกว่า "โชคดี"
หากยามใดสิ่งที่ต้องการไม่ได้เป็นไปตามความหวัง ยามนั้นเราเรียกมันว่า "โชคร้าย"
ในทางนรลักษณ์เราสามารถดูความโชคดีและโชคร้ายของคนได้ด้วยการดูสรีระที่บอกศักยภาพและความคาดหวังว่า ยามใดเขาจะโชคดี ยามใดเขาจะโชคร้าย
ปกติชีวิตจะมีทุกข์มีสุขคละเคล้ากันไปแต่ไม่ถึงขนาดที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลัก เมื่อไรที่ต้องมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหลัก เราก็เรียกมันใหม่ว่า "วัยจร" โดยกำหนดกันเป็นในแต่ละปีของช่วงอายุนั้นๆ
วัยจร อาจจะเป็นการเปลี่ยนในทางที่ดี หรือ ไม่ดี
วัยจร อาจจะยาวเพียงปีเดียวหรือหลายปี
ในช่วงที่วัยจรเปลี่ยนไปในทางที่ดี เจ้าของนรลักษณ์ก็มักจะจับทำอะไรได้เหมาะสมกับศักยภาพและสภาพการณ์แวดล้อม
ในช่วงที่วัยจรเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี ก็คือช่วงที่เจ้าของนรลักษณ์มักจะอยู่ในวิกฤติของชีวิต ส่วนมากแล้ววิกฤติจะเกิดขึ้นฉับพลันทันใดอย่างไม่คาดฝันจนทำให้เจ้าของนรลักษณ์มืดมนหาทางออกที่อยากได้ไม่เจอ
....แต่ท่านว่าไว้ว่า "ในวิกฤติย่อมมีโอกาส" เพียงแต่ผู้อยู่ในวิกฤติมักจะกระวนกระวายต่อความไม่ได้ดั่งใจจนไม่เห็นโอกาส
โอกาสนั้นอาจจะไม่ใช่เงินทอง แต่อาจจะเป็นโอกาสของการเรียนรู้เพื่อใช้ในการต่อชีวิตไปข้างหน้าอย่างมีความสุข เช่น บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยจนไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ ชีวิตจึงมีเวลาเหลือเฟือ หากเขาใช้เวลาที่เหลือเฟือนั้นมาดูใจ มาหัดนั่งสมาธิ หรือ มาเรียนรู้งานอดิเรกหรืองานใหม่ๆที่ไม่ต้องอาศัยกำลังกายมากนัก ก็ถือว่านั่นคือ "โอกาส" ที่มีอยู่ในวิกฤติ บางคนไม่เคยสนใจลูกหลานแต่เมื่อป่วยไข้มาก็เริ่มมีเวลาเห็นหน้าเห็นตาลูกหลาน เริ่มเห็นการช่วยเหลือของลูกหลาน เริ่มเข้าใจในน้ำใจที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้ ใจที่เคยเหี้ยมห้าวเอาแต่ใจก็ลดน้อยลงจนอาจจะเริ่มมีความเมตตาเกิดขึ้น
หลายคนไม่เห็นโอกาสและอยากรู้วิธีออกจากวิกฤติอย่างเร็ววัน ในทางนรลักษณ์เราแทบไม่สามารถทำอะไรได้เลย เราไม่มีศาสตร์การรดน้ำมนต์ เราไม่มีศาตร์การบังสุกุล เราไม่มีศาสตร์การทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา เพราะเราถือว่านั่นคือวิถีชีวิตที่เราแต่ละคนเลือกใช้เพื่อปลอบใจตัวเองว่าทำแล้วอะไรต่อมิอะไรต้องดีขึ้น
ในทางนรลักษณ์เราสอนให้ "นิ่ง" ในยามวิกฤติ สอนให้ไม่ทำอะไรเลยเพื่อไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติม และรอวันที่วิกฤตินี้จะคลี่คลายด้วยตัวของมันเอง
เมื่อเตี่ยเป็นอัมพาต เตี่ยอยู่ในโรงพยาบาลมิชชั่นถึง 6 ปี และเมื่อกลับมาบ้านเตี่ยก็หัดเดิน เตี่ยตั้งหน้าตั้งตาพยายามฝึกหัดตัวเองให้ช่วยเหลือตัวเองให้ได้โดยที่ไม่เคยตีโพยตีพาย สิ่งใดที่ปรับเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพที่เตี่ยทำงานหาเงินไม่ได้แล้ว เตี่ยรับความช่วยเหลือจากคนรอบด้านและพยายามอย่างยิ่งที่จะตัดค่าใช้จ่ายจนเหลือเพียงความจำเป็นจริงๆ เตี่ยก็ยังเป็นอัมพาตและยังไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน แต่ลูกสาวของเตี่ยทั้งสี่คนไม่ต้องรับผลร้ายจากวิกฤติของเตี่ยมากนัก เราทั้งสี่คนยังหุงข้าวใส่กล่องอลูมิเนี่ยมไปกินที่โรงเรียนทุกวัน เราเรียนหนังสือจนจบในขณะที่เตี่ยกำลังหัดเดินโดยลูกสาวคนนี้ของเตี่ยได้พาเตี่ยเดินทุกเช้าและทุกเย็น
ในวิกฤติหากเรานิ่งไม่ได้ เราจะสร้างผลเสียเพิ่มขึ้น ฉะนั้นจงนิ่งเสียให้ได้ นิ่งรอให้พายุพัดผ่านไป อย่าวิ่งออกมาท่ามกลางพายุ อย่ากระโดดลงไปในสายน้ำที่เชี่ยวกรากเพียงเพราะต้องการข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งให้ได้...จงรอโอกาสใหม่ รอวันใหม่ รอให้ถึงเวลา
ด้วยความปรารถนาดี จากป้าแพมผู้เคยต้องนิ่งอยู่ในวิกฤติมาอย่างน้อย 2 ครั้ง
โฆษณา