15 ม.ค. 2021 เวลา 10:38 • ประวัติศาสตร์
กองทัพเรือจีนมีพัฒนาการอย่างไร และปัจจุบันแข็งแกร่งขนาดไหน
ตามประวัติศาสตร์แล้วจีนเป็นมหาอำนาจทางบก (continental power) เพราะการแย่งชิงอำนาจระหว่างราชวงศ์และกลุ่มต่างๆล้วนมาจากการสู้รบบนแผ่นดินใหญ่เป็นหลัก
(Source: AMU Homeland Security Intelligence)
อำนาจทางทะเลของจีนเริ่มรุ่งเรืองในสมัยของราชวงศ์ซ่ง ยุคนี้เป็นยุคแรกที่มีการก่อตั้งกองทัพเรือแห่งชาติ
ราชวงศ์หยวนที่ขึ้นมาแทนที่ซ่ง ก็มีทัพเรือที่ใหญ่โตและแข็งแกร่ง
ราชวงศ์หมิงตอนต้นก้าวหน้ามากในด้านพาณิชย์นาวี มีกิจการต่อเรือและเดินเรือไปต่างประเทศที่รุ่งเรือง เจิ้งเหอ (Zheng He) นักเดินเรือคนสำคัญของโลกก็เป็นคนยุคนี้ ว่ากันว่าเจิ้งเหอค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัสอีก แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดมายืนยัน
รูปวาดเจิ้งเหอ (Source: Channel Islands Maritime Museum)
แผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ (Source: Channel Islands Maritime Museum)
น่าเสียดายว่าต่อมาราชวงศ์หมิงตัดสินใจหยุดการเดินเรือไปต่างประเทศ เหตุผลหลักคือต้องการประหยัดงบประมาณ จะได้เก็บไว้ใช้ในสงครามทางบกกับชาวมองโกลที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ อีกเหตุผลคือ ปัญญาชนและขุนนางส่วนใหญ่ในยุคนี้ศรัทธาลัทธิขงจื้อ ที่ไม่เชื่อเรื่องการค้าขายกับต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ทำให้ความสามารถในการพัฒนากองทัพเรือของจีนเสื่อมถอยลงไปมาก
มาถึงยุคราชวงศ์ชิงของชนเผ่าแมนจู ยุคนี้มีการค้าขายทางทะเลเพิ่มขึ้น แต่กองทัพเรือไม่ได้เก่งกาจเพราะราชวงศ์ชิงให้ความสนใจกับศัตรูบนแผ่นดินใหญ่มากกว่าภัยคุกคามทางทะเล
หลังจากที่จีนแพ้สงครามฝิ่นและต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลให้อังกฤษ จีนก็รู้ตัวแล้วว่าต้องทำอะไรสักอย่าง หลังจากการปราบปรามกบฏไท่ผิงในปี 1864 จีนก็ลุยพัฒนากองทัพเรือเพื่อให้มีความทันสมัยเท่าเทียมกับกองเรือของฝรั่ง
แม้จะมีเรือที่ทันสมัยอยู่ในมือ แต่จีนไร้การฝึกและการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ระบบซ่อมบำรุงก็ไม่ดี ที่สำคัญคือราชวงศ์ชิงตอนปลาย (ยุคซูสีไทเฮานั่นเอง) เต็มไปด้วยการฉ้อโกง มีแต่ขุนนางที่ไม่ได้เรื่อง ไม่มีใครคิดถึงยุทธศาสตร์และนโยบายการทำสงครามทางเรืออย่างจริงจัง สุดท้ายจีนก็แพ้กองเรือของญี่ปุ่นและฝรั่งเศสราบคาบ
ภาพเรือของจักรวรรดิญี่ปุ่นถล่มเรือของจีน ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง ปี 1894-1895 (Source: MIT Visualizing Cultures)
หลังจากระบอบกษัตริย์ล่มสลาย จีนในนาม "สาธารณรัฐจีน" ไม่ได้มีความพยายามที่จะฟื้นฟูกองทัพเรือ เรือที่มีอยู่ก็เป็นของเหลือจากสมัยราชวงศ์ชิง
จะเรียกว่าไม่มีความพยายามก็คงไม่ถูก เพราะจีนภายใต้การปกครองของก๊กมินตั๋งโดนญี่ปุ่นยำเละ แถมยังต้องทำสงครามภายในกับกลุ่มคอมมิวนิสต์อีก
พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง เอาชนะสงครามกลางเมืองได้ในปี 1949 ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเชียงต้องหลบหนีไปไต้หวัน ด้วยความที่เหมาและพรรคพวกมีแค่กำลังทหารบก ทำให้ไม่สามารถตามไปจัดการเจียงได้ ทั้งที่ไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ห่างกันนิดเดียวเท่านั้น
1
พรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อตั้งกองทัพเรือ ที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า People's Liberation Army Navy (PLAN) ในปี 1950 และได้รับความช่วยเหลือจากโซเวียต ทำให้จีนเริ่มมีเรือดำน้ำขนาดเล็ก มีเรือพิฆาต และเรือลาดตระเวน
แต่การพัฒนากองทัพเรือก็ต้องหยุดชะงักเมื่อจีนและโซเวียตแตกหักกัน
พรรคคอมมิวนิสต์จีนเองก็ให้ความสนใจกับการปฏิวัติวัฒนธรรมและการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า
ในช่วงปลายยุค 80s หลังจากที่จีนจัดการปัญหาภายในประเทศ และเริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย จีนถึงได้มาโฟกัสเรื่องการเคลมดินแดนในทะเลใกล้บ้าน...
จีนสมัยใหม่เริ่มปฏิรูปกองทัพเรืออย่างจริงจังกลางยุค 90s ครั้งนี้จีนไม่ได้คิดจะพัฒนาอาวุธที่ทันสมัยอย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มความหลากหลายของอาวุธ แก้ไขเรื่องระบบซ่อมบำรุง สร้างการฝึกที่มีคุณภาพ และกําหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานให้ชัดเจนด้วย
ด้วยความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนสามารถพัฒนาแบบก้าวกระโดด จนตอนนี้จีนมีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของจำนวน!
มาดูกันว่าตอนนี้กองทัพเรือจีนมีอาวุธอะไร (ที่เด่นๆ) อยู่ในมือบ้าง
เรือดำน้ำ
จากสถิติปี 2020 จีนมีเรือดำน้ำ 66 ลำ ในขณะที่อเมริกามี 68 ลำ (คาดว่าเกาหลีเหนือมีเรือดำน้ำเยอะกว่าทั้งจีนและอเมริกาอีก! ประมาณ 71 ลำ แต่ในแง่ของคุณภาพนั้นเทียบกันไม่ได้)
ในจำนวนนี้จีนมีเรือดำน้ำนิวเคลียร์ 12 ลำ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นภายในระยะเวลา 15 ปี ตั้งแต่ประมาณปี 2005 ถึง 2020
เรือดำน้ำนิวเคลียร์ Type 093A Shang II Class ที่ทรงพลังที่สุดในกองเรือดำน้ำของจีน (Source: EurAsian Times)
เรือดำน้ำของอเมริกาเป็นแบบนิวเคลียร์ทั้งหมด แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป สำหรับภารกิจในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ที่น้ำค่อนข้างตื้น เรือดำน้ำส่วนใหญ่ของจีนซึ่งเป็นประเภทดีเซล-ไฟฟ้า (diesel-electric submarines) จะเหมาะกว่า เพราะมีขนาดเล็กและสามารถโจมตีในระยะใกล้ได้อย่างแม่นยำ
เรือผิวน้ำ (surface combatants)
ตอนนี้จีนมีมากกว่า 130 ลำ ประกอบไปด้วย เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี (guided-missile cruisers) เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี (guided-missile destroyers) และเรือรบขนาดเล็ก (corvettes)
เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี Type 055 Renhai Class ที่เริ่มเอามาใช้งานตั้งแต่ต้นปี 2020 (Source: National Interest)
ก่อนหน้านี้จีนต้องพึ่งพาระบบป้องกันภัยทางอากาศบนชายฝั่งเพื่อสกัดขีปนาวุธที่ยิงมาจากเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำ นั่นหมายความว่าระบบป้องกันของจีนครอบคลุมแค่ภายในพื้นที่ใกล้แผ่นดินใหญ่ การพัฒนาเรือผิวน้ำรุ่นใหม่จึงเป็นการยกระดับการป้องกันของจีนให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วยให้กองทัพเรือจีนสามารถทำภารกิจในน่านน้ำที่ไกลออกไปได้
เรือบรรทุกเครื่องบิน
เรือบรรทุกเครื่องบิน Shandong (Source: National Interest)
ปัจจุบันจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินประจำการอยู่ 2 ลำ
ลำแรกคือ Liaoning ที่ดัดแปลงมาจากเรือบรรทุกเครื่องบิน Kuznetsov Class ของสหภาพโซเวียต
ลำที่สองคือ Shandong ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่สร้างในจีน 100% เข้าประจำการเมื่อปลายปี 2019 Shandong ก็คือ Liaoning เวอร์ชั่นอัพเกรด ดีไซน์แทบจะเหมือนกันแต่มีระบบเรดาร์ดีกว่า และมีพื้นที่จอดเครื่องบินเยอะขึ้น
ตอนนี้จีนกำลังพัฒนาเรื่องบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้งานได้ในปี 2024 และมีแพลนจะสร้างลำที่ 4 เร็วๆนี้
เช่นเดียวกับเคสเรือดำน้ำ เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ แต่ของจีนเป็นแบบธรรมดา
แน่นอนว่าแบบนิวเคลียร์ได้เปรียบตรงที่ไม่ต้องเติมน้ำมัน สามารถแล่นได้อย่างไม่มีข้อจำกัด แต่ข้อได้เปรียบนี้จะไม่เด่นชัดในกรณีที่จีนปะทะกับอเมริกาในช่องแคบไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ เพราะเรือของจีนไม่จำเป็นต้องเดินทางระยะไกลไปเติมน้ำมัน/resupply
อีกอย่างคือเรือนิวเคลียร์แพงกว่าแบบธรรมดามากก
แม้คุณภาพและเทคโนโลยียังตามหลังอเมริกา และจีนยังไม่มี real combat experience แต่ถ้ามีการรบกันในเอเชียตะวันออก กองทัพเรือจีนก็มีศักยภาพพอที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่กองทัพเรืออเมริกา
พูดอีกอย่างก็คือ อเมริกาไม่สามารถเอาชนะจีนได้ง่ายๆอีกแล้ว
Reference List:
Cole, Bernard D. “The History of the Twenty-First-Century Chinese Navy”. Naval War College Review 67, no. 3 (2014): 43-62.
Department of Defense. Annual Report to Congress: Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China. Virginia: Office of the Secretary of Defense, 2020.
Larson, Caleb. “China’s Aircraft Carriers: Bark or Bite?”. Real Clear Defense. Accessed January 14, 2021. https://www.realcleardefense.com/articles/2020/04/17/chinas_aircraft_carriers_bark_or_bite_115213.html.
Sutton, H.I. “U.S. Navy Submarine Fleet To Be Overtaken By China Before 2030”. Naval News. Last modified December 13, 2020. https://www.navalnews.com/naval-news/2020/12/u-s-navy-submarine-fleet-to-be-overtaken-by-china-before-2030/.
โฆษณา