9 ม.ค. 2021 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
LVD95: 5 วิธีการสู่เป้าหมายแบบไม่ล้มเลิกกลางคัน
สวัสดีครับทุกท่าน สัปดาห์แรกของปีวัว 2021 ของทุกท่านเป็นยังไงบ้างครับ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการคิดถึงการเปลี่ยนแปลงตัวเอง และตั้งเป้าหมายใหม่ๆเพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆที่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส หลายท่านน่าจะตั้ง New Year Resolution ของตนเองเรียบร้อยแล้ว หลายท่านก็อาจจะยุ่งๆกับสถานการณ์ที่ไม่ค่อยปกติเท่าไรในปีนี้ ขอเอาใจช่วยจริงๆครับ วันนี้ผมก็ยังขอมาชวนคุยเรื่อง New Year Resolution กันต่อครับ ซึ่งไม่ได้ชวนคุยว่าจะตั้งเป้าแบบไหนนะครับ แต่อยากจะชวนคุยถึงขั้นตอนที่ยากและสำคัญกว่ามาก คือ การทำตามเป้าหมายที่วางไว้โดยไม่ล้มเลิกกลางคัน ลองตามมาคุยกันครับ
คือมันอย่างนี้ครับ...
เราทุกคนล้วนมีประสบการณ์การตั้งเป้าหมายส่วนตัวใช่ไหมครับ และผมก็เชื่ออีกเช่นกันว่าเราแทบทุกคนที่ตั้งเป้าหมายส่วนตัวมีประสบการณ์การล้มเลิกเป้าหมายนั้นๆ บางครั้งเรารู้ตัวและบางครั้งเราก็ไม่รู้ตัว เราแค่เหนื่อยเกินไปหรือไม่ก็หลงลืมมันไปเฉยๆ จากสถิติในอเมริกาบอกว่า 50% ของผู้คนตั้งเป้าหมาย New Year Resolution แต่มีแค่ไม่ถึง 10% ที่สามารถทำเป้าหมายนั้นได้อย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น การลุกมาตั้งเป้าหมายที่ว่ายากแล้ว ยังเทียบไม่ได้กับการรักษาเป้าหมายที่ยากยิ่งกว่ามาก วันนี้ผมเลยอยากสรุปเนื้อหาสั้นๆเกี่ยวกับการสร้างพฤติกรรมใหม่เพื่อให้เราเดินทางสู่เป้าหมายโดยไม่ล้มเลิกมาแชร์และคุยกัน เนื้อหาในวันนี้ ผมเอาส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ Atomic Habit (เป็นเลิมแรกที่ผมเลือกมาอ่านในปีนี้ แต่ยังไม่จบครับ) และบทความใน www.jamesclear.com ซึ่งก็เป็น blog ของคุณ James Clear ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habit นั่นเอง
5 วิธีการและวิธีคิดสู่เป้าหมายยังไง ไม่ล้มเลิกกลางคัน
1. เริ่มให้เล็กมากๆ จนยากจะปฎิเสธ ( Start with an Incredibly Small Habit)
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่คนมักจะอ้างเพื่อไม่ยอมเริ่มพฤติกรรมใหม่ๆ คือ ไม่มีแรงจูงใจหรือไม่มีแรงบันดาลใจ เมื่อพูดถึงแรงจูงใจหรือ Motivation เราก็ต้องพูดถึงผลของแรงจูงใจก็คือ Willpower หรือกำลังใจในการทำอะไรซักอย่าง เมื่อเรามีแรงจูงใจมาก เราก็จะมี willpower มาก และเมื่อมีแรงจูงใจน้อย willpower ก็น้อยแบบนี้เป็นต้น
ปัญหาคือ การสร้าง willpower ไม่ได้ต่างกับการสร้างกล้ามเนื้อ คือ มันต้องฝึกฝนและเมื่อเราฝึกฝนหนักๆ บางครั้งกล้ามเนื้อก็อ่อนล้า ไม่ต่างกับ willpower ที่น้อยลงจากแรงจูงใจที่อ่อนล้า เราเรียกสิ่งนี้ว่า “Motivation Wave” ที่เป็นเส้นคลื่นของแรงจูงใจที่เพิ่มขึ้นและลดลงไม่คงที่ตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาความล้าของ will power และ Motivation Wave คุณจึงควรทำให้พฤติกรรมที่คุณตั้งใจจะเริ่มต้นทำ มันง่ายชนิดที่แทบไม่มีแรงจูงใจก็สามารถลุกมาทำได้ ดังนั้น ไม่ว่า Motivation Wave จะลงมาต่ำขนาดไหนคุณก็ยังลุกขึ้นมาวิดพื้น 5 ครั้งได้อยู่ดี จำไว้ว่าสำหรับการเริ่มต้น หัวใจคือความสม่ำเสมอไม่ใช่ผลลัพท์
“Make it so easy you can’t say no.” - Leo Babauta
2. พลังของความพยายามเล็กๆแต่สม่ำเสมอ (Power of tiny gains)
ข้อนี้คุณ James อธิบายแบบคณิตศาสตร์ ได้อย่างน่าสนใจมากๆ มันคือความแตกต่างระหว่างพลังของการพัฒนา 1% ทุกวันอย่างต่อเนื่อง กับการถดถอย 1% ทุกวันอย่างต่อเนื่อง ลองคิดว่าการพัฒนาอะไรซักอย่าง 1% อาจจะไม่ใช่เรื่องยากมาก มันก็แค่เพิ่มจำนวนการอ่านหนังสือแค่วันละครึ่งหน้าจากการอ่านวันละ 40 หน้า สิ่งที่เกิด คือ พลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น ตามสูตรด้านล่างคือ
1.01 ^ 365 = 37.78 หมายถึงว่า จากวันแรกที่เริ่มต้นเราจะพัฒนามากขึ้นได้ถึง 37 เท่า เป็นการพัฒนาที่แทบไม่น่าเชื่อเลย จากการเร่งพัฒนาต่อเนื่องทุกวันเพียงวันละ 1% เอาจริงๆผมคิดว่าในทางปฎิบัติการพัฒนาทุกวันวันละ 1% ฟังดูเรียบง่ายแต่ก็ไม่ง่ายในการทำจริง แต่สิ่งที่เราควรระลึกถึงมากๆคือ พลังทำลายล้างของการถดถอย 1% ทุกวันมากกว่า
0.99 ^ 356 = 0.03 หมายถึงว่า ถ้าคุณยอมให้พฤติกรรมที่คุณอยากทำถดถอยลงแค่ 1% ทุกวัน ความสามารถของคุณจะแทบหายไปหมดสิ้นหรือตามสูตรคณิตศาสตร์จะเหลือแค่ 0.03 จากเดิม 100 ซึ่งการที่คุณขี้เกียจและปล่อยให้พฤติกรรมคุณถดถอยลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นง่ายมากๆ คุณแค่ลดการวิ่งจากวันละ 1 กิโลเมตร เหลือ 990 เมตร และลดลงแบบนี้เรื่อยๆเท่านั้นเอง ซึ่งมันง่ายมากที่เราจะตกหลุมพรางนี้และทำให้เราล้มเลิกในที่สุด
3. แบ่งออกเป็นย่อยๆ (Break Big Habit Down)
หลังจากที่เราเริ่มพฤติกรรมเล็กๆ และค่อยๆพัฒนาทีละนิดๆได้แล้ว หลังจากนี้คือการรักษา Momentum ด้วยการรักษาความสม่ำเสมอผ่านพฤติกรรมที่ง่ายเพียงพอ เทคนิคที่เรียบง่ายที่สุด คือ การแบ่งเป้าหมายเป็นเป้าหมายย่อย เช่น ถ้าอยากอ่านหนังสือให้ได้ซัก 40 หน้าต่อวัน ก็แบ่งการอ่านเป็น 4 เวลา ครั้งละ 10 หน้าก็ได้ อยากวิดพื้น 50 ครั้งต่อวัน ก็อาจจะแบ่งเป็นครั้งละ 10 ที 5 ครั้งก็ได้ แบบนี้ก็จะทำให้เราทำเป้าหมายได้ต่อเนื่องง่ายขึ้น
4. ต้องรู้ตัวและกลับตัวอย่างรวดเร็วเมื่อหลุดจากเป้าหมาย (When you slip, get back on track quickly)
สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกไว้ในการเดินทางสู่เป้าหมาย คือ ความผิดพลาดทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจเกิดขึ้นได้ และอาจจะเรียกได้ว่าแทบจะแน่นอนที่ต้องเกิดความผิดพลาดขึ้นแน่ๆ การที่เรามี Mindset แบบนี้มีประโยชน์หลายอย่าง
a. เราจะไม่เซ็งมากเมื่อหลุดจากเป้าหมาย เมื่อรักษาระดับอารมณ์ได้ปกติก็สามารถกลับมาสู่เส้นทางสู่เป้าหมายได้ไวขึ้น
b. เมื่อเรายอมรับว่า เราอาจผิดพลาดได้ เราก็จะคิดถึงมันและมีแผนรองรับได้
c. เรามีโอกาสจะเรียนรู้จากความผิดพลาดได้มากขึ้น
เมื่อหลุดจาก Track ต้องรู้ตัวแล้วกลับมา on track ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ อย่าเซ็งแล้วล้มเลิกครับ
5. อดทนและหาจังหวะการก้าวสู่เป้าหมายที่ใช่สำหรับคุณ (Be patient and stick to a pace you can sustain)
เมื่อเราอยู่บนเส้นทางการไปสู่เป้าหมาย เราต้องมั่นเรียนรู้นิสัยตัวเองว่าระดับไหนที่เราสามารถทนได้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถอดทนอยู่กับการเดินทางสู่เป้าหมายได้นานที่สุด ให้ระลึกอยู่เสมอว่าความอดทนต่อความสม่ำเสมอ คือ กุญแจสู่เป้าหมายอย่างแน่นอน การหักโหมเกินไป เช่น วิ่งครั้งเดียว 30 กิโลเมตร แทนที่จะเป็นครั้งละ 6 กิโลเมตร 5 ครั้ง ก็จะทำให้ร่างกายรับไม่ได้และ burn out ได้ แต่ถ้ากิจวัตรนั้นมันง่ายเกินไปมันก็กลายเป็นความขี้เกียจ และขาดแรงจูงใจในที่สุด
จริงอยู่ว่าเริ่มต้นควรจะเริ่มง่ายๆ แต่เมื่อเริ่มได้แล้วก็ควรเริ่มเพิ่มการพัฒนาต่อเนื่องทีละนิด แบ่งงานแต่ละวันเป็นกิจวัตรย่อย เรียนรู้จากความผิดพลาด และอดทนเดินตามจังหวะอย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ก็น่าจะทำให้คุณเดินไปสู่เป้าหมายได้มั่นคงไม่ล้มเลิกกลางคัน สำหรับหนังสือ Atomic Habit ถือเป็นหนังสือที่เหมาะกับการอ่านช่วงต้นปีมากๆ อยากชวนเพื่อนๆมาอ่านด้วยกัน คิดว่าเมื่ออ่านจบก็น่าจะมาเล่าเกร็ดที่ได้ให้ฟังอีกเรื่อยๆนะครับ Stay healthy ครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา