9 ม.ค. 2021 เวลา 07:51 • สุขภาพ
"แสร้งทำ" เพื่อดูแลตนเอง
การดูแลตนเอง (Self-care) เช่น งานอดิเรก กิจกรรมบันเทิง การออกกำลังกาย การเข้าสังคม นับว่าช่วยลดความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยที่พบว่าการดูแลตนเองช่วยลดผลจากความเครียดที่มีต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ยิ่งในช่วงระยะที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ได้สร้างความตึงเครียดให้แก่ผู้คนเพิ่มขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขภาพ ด้านการตัดสินใจ ผู้คนมีความเหงามากขึ้น บางรายเผชิญกับความสูญเสีย มีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น การดูแลตนเอง
คอยเติมตนเองท่ามกลางสภาวะดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
ในเชิงเวชศาสตร์ชะลอวัย การพักผ่อนดูแลตนเองช่วยลดระดับฮอร์โมน Cortisol ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความเครียด มีงานวิจัยที่พบว่าผู้ที่เดินหรือนั่งในบรรยากาศธรรมชาติเพียง 20 นาที ก็ช่วยลดระดับ Cortisol ในร่างกายได้ การดูแลตนเองยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังสมองให้รู้สึกมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราดื่มด่ำไปกับกิจกรรมการดูแลตนเองเหล่านั้นมากกว่าทำไปเพราะคนอื่นชวน
โดยปกติแล้วเป็นที่ทราบกันดีว่าเราจะรู้สึกดีขึ้นถ้าเราออกไปเดินข้างนอก ไปเจอเพื่อนเก่า หรือทำอะไรก็ตามที่เราชอบสักพักหนึ่ง เราก็รู้ว่ามันจะช่วยให้เราสงบขึ้น ได้เชื่อมโยงกับผู้คน ทำให้โลกของเราสดใสขึ้นและมีพื้นที่หายใจมากขึ้น แต่ถ้าเช่นนั้นแล้ว เหตุใดเราจึงพบว่าการดูแลตนเองในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้นมันทำได้ยากกว่า ? เพราะอะไรเราถึงถูกดึงดูดให้ตกอยู่ในกิจวัตรเดิม ๆ เช่นทำงานหนักเกินไป ดื่มหนักเกินไป แทนที่จะทำในสิ่งที่ทำให้เราสดใสขึ้น รู้สึกดีมีความสุขมากขึ้น ทำไมเราไม่ทำสิ่งเหล่านี้ ?
การจมอยู่ในความเศร้า ความเสียใจ ไม่สบายใจ ทำให้ทักษะการดูแลตนเองของเรานั้นลดลงไปกว่าเดิม ในช่วงที่มีการระบาดนั้น พบว่าภาวะเศร้าของผู้คนพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีข้อค้นพบจากงานวิจัยว่าเมื่อมีการระบาดของโรค COVID-19 นั้น ผู้คนมีภาวะเศร้าขึ้นในระดับความชุกมากกว่าช่วงเวลาก่อนการระบาดเกินสามเท่า บุคคลในวัยผู้ใหญ่หลายคนตกอยู่ในห้วงความเหงา ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศร้าด้วยถ้าเรารู้สึกไม่ชอบที่จะดูแลตัวเอง เราสามารถแสร้งทำมันได้หรือไม่ ?
1
“การแสร้งทำ (Faking it)” นั้น สอดคล้องกับกลยุทธ์การบำบัดที่ว่าด้วยหลักการกระตุ้นเชิงพฤติกรรม (Behavioral Activation) ซึ่งผลการวิจัยได้ระบุไว้อย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในทางคลินิก ช่วยเพิ่มโอกาสที่เราจะได้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำให้เราได้เจอกับอารมณ์ทางบวก อารมณ์ที่พึงพอใจ หรือกิจกรรมที่ให้ผลดีต่อตัวเราเอง (ในที่นี้คือการดูแลตนเอง) ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกำลังรู้สึกเศร้าอยู่ และไม่อยากจะออกไปเดิน แต่คุณก็ยังออกไปเดิน (ไม่ว่าจะด้วยความจำใจเดิน / สักแต่ว่าเดิน / แสร้งว่าเดิน อย่างไรก็ตามแต่) คุณจะรู้สึกดีขึ้น
หลักการกระตุ้นเชิงพฤติกรรมนี้ เป็นหลักเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ได้ผลดีสำหรับผู้ที่ตกอยู่ในอารมณ์เศร้า สิ้นหวัง เพียงแค่จัดช่วงเวลาให้ตนเองได้ทำพฤติกรรมเหล่านี้และกำกับให้ตนเองทำตามที่วางไว้ ด้วยใจที่อยากจะทำ
Tami Forman ได้เขียนไว้ว่า “การดูแลตนเองไม่ใช่เรื่องของการตามใจตนเอง หากแต่เป็นเรื่องของวินัย” ซึ่งวินัยในที่นี้เกี่ยวข้องกับการทำพฤติกรรมที่ดูแลตัวเองในรูปแบบของการสักแต่ว่าทำไปก่อน ซึ่งจะมีผลในการลดภาวะเศร้าและลดผลกระทบจากความเครียดได้
Jayashree Rajagopalan ได้อธิบายเกี่ยวกับการดูแลตนเองไว้ใน 6 ประเภท ได้แก่
1.การดูแลตนเองเชิงกายภาพ (Physical Self-Care) เช่น การดื่มน้ำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกาย การดูแลใส่ใจทางด้านร่างกาย
2.การดูแลตนเองทางอารมณ์ (Emotional Self-Care) เช่น การบอกเล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟัง การเข้ารับบริการปรึกษากับนักวิชาชีพ
3.การดูแลตนเองทางสังคม (Social Self-Care) เช่น การติดต่อกับผู้อื่น การโทรหาบุคคลอันเป็นที่รัก
4.การดูแลตนเองเชิงจิตวิญญาณ (Spiritual Self-Care) เช่น การใช้เวลากับตนเองตามลำพัง ท่ามกลางธรรมชาติ หรือการฝึกภาวนา หรือการเชื่อมโยงกับพระเจ้า
5.การดูแลตนเองในเรื่องงาน (Work Self-Care) เช่น การตั้งขอบเขตการทำงานอย่างเหมาะสม การฝึกฝนทักษะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ
6.การดูแลตนเองในด้านจิตใจ (Psychological Self-Care) เช่น ให้เวลากับงานอดิเรก การเขียนรายการของสิ่งที่คุณอยากจะทำ
ในขณะที่เรามักจะพูดถึงสิ่งที่จะต้องทำเพื่อดูแลตนเองบ่อย ๆ (เช่น เข้านอนเร็ว ไปออกกำลังกาย) การสำรวจว่าสิ่งที่จะต้องละเว้นก็เป็นผลดีต่อเราในอีกทางหนึ่งด้วย เช่น ละเว้นจากการทำงานที่หนักหน่วงเกินไป ละเว้นจากนิสัยที่เป็นผลเสียต่อตัวเรา การละเว้นเหล่านี้เรียกว่า “Detox Self-Care” โดยมีตัวอย่างจากงานวิจัยต่าง ๆ ดังนี้
- เมื่อผู้เข้าร่วมการวิจัยงดเล่น Facebook เป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดระดับฮอร์โมน Cortisol ได้
- ผู้ที่พักจากการดื่มแอลกอฮอล์มีระดับพลังงานในการทำสิ่งต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
- การพักเที่ยงจากการทำงานเพื่อทานอาหารกลางวันช่วยเพิ่มระดับพลังงานให้มีมากขึ้น
- การใช้วันหยุดพักผ่อนจากงานในระยะสั้น ๆ ช่วยลดความเครียดและเพิ่มระดับการมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น
การดูแลตนเองมิใช่เพียงแค่การดูแลตนเองในแบบภายนอกเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการดูแลตนเองแบบภายในด้วย ในที่นี้คือความกรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion) ซึ่งมีงานวิจัยที่พบว่าความกรุณาต่อตนเองนั้นเกี่ยวข้องกับการมีอารมณ์ที่ดีกว่าและเกี่ยวข้องคุณสมบัติเชิงบวกหลาย ๆ ประการในตัวบุคคล โดยEmma Seppala ได้กล่าวขยายความไว้ว่า ความกรุณาต่อตนเองมีลักษณะดังต่อไปนี้
* ใจดีต่อตนเอง ปฏิบัติต่อตนเองเสมือนเพื่อนคนหนึ่ง
* ระลึกถึงความเป็นมนุษย์โดยทั่ว ๆ ไปที่มีผิดมีพลาดได้ ไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำผิดพลาด
* คอยรับรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง โดยไม่ไปตัดสินถูกผิดให้กับมัน
ท้ายที่สุดแม้ว่าอารมณ์จะทำให้เราไม่อยากทำสิ่งต่าง ๆ ก็ตาม แต่การฝืนดูแลตนเองไปก่อน สักแต่ว่าทำมันไปก่อน(เข้าทำนองที่ว่า “Faking it till we make it.” จะเพิ่มความสุข ลดผลกระทบจากความเครียด และช่วยลดโอกาสที่เราจะหมดไฟในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้ เลือกกิจกรรมการดูแลตนเองมาสักหน่อย และทำ ๆ มันไป ก็จะช่วยให้เราก้าวไปได้อีกไกล
******************************************************************************
เนื้อหาจากบทความเรื่อง Why You Might Have to Fake Self-Care This Winter โดย Erin Leyba, L.C.S.W., Ph.D. จากเว็บไซต์ https://www.psychologytoday.com/intl/blog/joyful-parenting/202012/why-yo...
โฆษณา