9 ม.ค. 2021 เวลา 13:45 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"หนักพอๆ COVID ย้อนวิกฤติ Y2K" by MathisPie
เหตุการณ์ที่สร้างความหวั่นวิตกแก่คนทั้งโลก ครั้งหนึ่งไม่ได้มีสาเหตุจากไวรัสระบาด หรือคำทำนายจากหมอดูที่ไหน?
แต่มันเกิดจากปัญหาทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ที่เมื่อมองในปีนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันเป็นเรื่องวินาศสันตะโรเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
สถานการณ์ในครั้งนั้นเป็นช่วงปลายศตวรรษที่ 20 (ค.ศ. 1900-1999) ผู้คนต่างรอฉลองปีใหม่ซึ่งเป็นปีที่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21
แต่มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่หวั่นวิตกกับการเข้าสู่ศตวรรษใหม่ พวกที่รู้เรื่องการจัดเก็บข้อมูลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ทั้งหลายแหล่นั่นเอง
สมัยก่อนระบบการจัดเก็บข้อมูลสำหรับใช้สร้างโปรแกรมนั้น มีข้อจำกัดหลักๆ ในเรื่องของต้นทุน เนื่องด้วยมีราคาที่สูงมาก หนำซ้ำการจัดเก็บข้อมูลเพียงเล็กน้อย ด้วยเทคโนโลยีเท่าที่มีในสมัยนั้น โปรแกรมเล็กๆ อาจกินพื้นที่เป็นจำนวนมากได้อีกด้วย
โปรแกรมส่วนใหญ่จึงจัดเก็บเลขปีเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น จากทั้งหมด 4 ตัว!!!!
เช่นปี ค.ศ. 1975 โปรแกรมจะเก็บแค่ '75' เป็นอันเข้าใจว่าเป็นปี 1975
แต่พอวันที่ 31/12/99 โปรแกรมเมอร์ต่างก็เหงื่อตกครับ เพราะโปรแกรมที่สร้างขึ้นมันก็ไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น ในวันรุ่งขึ้นมันจะถูกเซ็ตวันที่ใหม่เป็นวันที่ 01/01/00 แต่ปี '00' ที่ว่าไม่ได้ถูกตีความว่าเป็นปี 2000 เหมือนกับที่เราคิด แต่เป็นการย้อนกลับไปเป็นปี 1900 ต่างหาก!!!!!!
ซึ่งนั้นหมายความว่า การทำกิจกรรมที่เราทำกันเป็นประจำทุกเดือนหรือทุกปี จะมีความคลาดเคลื่อน รวมทั้งระบบบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ก็จะมีปัญหาตามมาอีกด้วย
อ้างอิงภาพ: https://www.birminghammail.co.uk/news/midlands-news/gallery/new-years-eve-1999-how-8303515
เคราะหฺซ้ำกรรมซัดที่ปี 2000 เป็นปีอธิกสุรทิน (ปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) แต่ปี 1900 ไม่ใช่!!! ขืนปล่อยให้โปรแกรมรันต่อเนื่องคงมีผลกระทบมากมายมหาศาลแน่นอน
สำหรับธุรกรรมทางธนาคาร การกู้ยืมเงินย่อมต้องมีดอกเบี้ยซึ่งจะคิดจากอัตราดอกเบี้ยแบบวันต่อวัน ระบบโปรแกรมที่บันทึกเลขแค่ 2 ปี เมื่อขึ้นปี 2000 อัตราดอกเบี้ยจะถูกคำนวณเป็นเวลา -100 ปี เอ๊ะ! แบบนี้ดอกเบี้ยของเราก็ติดลบอะดิ คนกู้คงยิ้ม แต่ธนาคารคงน้ำตาตกละมั้งครับ
เช่นกันกับอุตสาหกรรมแหล่งพลังงานที่จะต้องมีการตรวจซ่อมบำรุงเป็นประจำ เช่นการตรวจสอบแรงดันของน้ำของเขื่อนผลิตไฟฟ้า หรือระดับกัมมันตรังสีรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
หากไม่ได้รับการดูแลตรงเวลา อาจเป็นมหันตภัยในอนาคตได้ ซึ่งมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองอิชิกาวะ เครื่องตรวจจับกัมมันตรังสีได้หยุดการทำงานชั่วขณะ แต่โชคดีที่ไม่ได้รับผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างมากมายอะไร
อ้างอิงภาพ: https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/japan-fukushima-nuclear-plant-to-be-shut-down/1545855
ระบบการขนส่งก็มีปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะท่าอากาศยานเครื่องบิน ไฟต์การบินต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในโปรแกรม หากตีความกลับไปในปี 1900 ตารางบินตอนนั้นคงจะโล่งน่าดู เพราะสายการบินพาณิชย์แห่งแรกของโลกอย่าง DELAG ก่อตั้งปี 1909 นี่เอง
แถมตอนนั้นเขาไม่ได้ใช้เครื่องบินด้วย แต่เป็น "เรือเหาะ"!!! ที่ลอยตัวด้วยลมร้อนต่างหาก สนุกล่ะคราวนี้~~~~
แต่สถานการณ์ดังกล่าวถูกแก้ไขได้อย่างง่ายดาย โดยการยอมบันทึกเลขปีเพิ่มขึ้นเป็น 4 หลักเสียที ซึ้งทั้งโลกใช้งบประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวก็ใช้งบไปกว่าแสนล้านดอลลาร์เข้าไปแล้ว
ปัญหาเรื่องการจัดเก็บก็จบลง แต่ก็ยังมีคนอ้างความผิดพลาดจาก Y2K เมื่อสหรัฐตรวจพบขีปนาวุธที่ยิงจากประเทศรัสเซีย โดยรัสเซียก็ออกมาแก้ตัวว่าเป็นเพราะ Y2K แต่ที่จริงเป็นการตั้งระบบยิงล่วงหน้าเพื่อตอบโต้ดินแดนที่มีกรณีพิพาทแถวๆ นั้น ไม่เกี่ยวกับ Y2K เล้ยยยยยยยย -_-
จอแสดงผลที่ผิดพลาดในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เมืองน็องต์ (Nantes) ประเทศฝรั่งเศส อ้างอิงภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/Year_2000_problem
เหตุการณ์ Y2K อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2038 สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบ 32 บิต ที่มีจำนวนบิตไม่มากพอในการเก็บบันทึกเลขปี แต่สำหรับคอมพิวเตอร์ 64 บิต หายห่วงได้เลย อีกหลายร้อยปีกว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ ถึงเวลานั้นคงมีคอมพิวเตอร์ขนาด 128 หรือ 256 บิตออกมาแล้วมั้ง ใครมันจะไปรู้!!!
บางครั้งวิกฤติก็ไม่ได้มาในรูปแบบของไวรัสเหมือนกับที่เราเจอกันอยู่ทุกวัน เพียงการหายไปของเลขเพียง 2 ตัว ก็ทำให้เกิดสถานการณ์แย่ๆ แบบนี้ได้ แต่สุดท้ายคงหวังว่า...ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติแบบไหน ก็ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น
ขอให้ปี 2021 เป็นปีที่ดีของทุกๆ คน
แคล้วคลาดจากโควิดทุกคน และขอให้ได้ฉีดวัคซีนฟรีนะครับ 555555555
สามารถตามไปติดตามสาระดีๆ ทางคณิตศาสตร์ได้ที่ facebook และ youtube นะครับ
โฆษณา