15 ก.พ. 2021 เวลา 06:10 • ประวัติศาสตร์
Quartz crisis ถ้ามีแบรนด์นาฬิกาญี่ปุ่นชื่อดัง ขายนาฬิกาควอทซ์ ใส่ถ่าน ราคาเท่ากับรถยนต์หนึ่งคัน จะมีคนซื้อกันไหม
ถ้ามีใครเล่าว่า นาฬิกาใส่ถ่าน ที่ปัจจุบันเราเห็นวางขายทั่วไปในตลาดนัด ในแผงขายนาฬิกาเรือนละไม่กี่ร้อย ทำให้นาฬิกาแบรนด์สวิสสุดหรูเจ๊งกันระเนระนาด จะมีคนเชื่อไหม
ถ้านาฬิกาใส่ถ่านราคาหลักสิบหลักร้อยในปัจจุบัน เป็น gadget สุดล้ำ ที่เจมส์บอนด์ใส่ในภาพยนตร์ มันจะดูคูลดูเท่ เหมือนกับใส่นาฬิกาสวิสราคาหลักแสนหรือไม่
ทั้งหมดนี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุค 1970 ที่มีการปฏิวัติวงการนาฬิกาข้อมือไปตลอดกาล
The Original Seiko Astron นาฬิกาเครื่องควอทซ์ใส่ถ่านที่วางจำหน่ายเรือนแรกของโลก รูปจาก https://www.hodinkee.com/articles/four-revolutions-quartz-revolution
ตั้งแต่อดีตมา นาฬิกาข้อมือเป็นอุปกรณ์ใช้บอกเวลาอันเดียวที่ผู้คนสามารถพกติดตัวไปไหนมาไหนได้ ถือกำเนิดมานับร้อยปี ใช้กลไกเฟืองและสปริงในการควบคุมการทำงานของการบอกเวลา มีทั้งแบบที่ต้องขึ้นลานด้วยมือ (Manual winding) และที่ใช้ตุ้มแกว่งเพื่อให้พลังงานสะสมในสปริงในการทำให้ฟันเฟืองภายในเคลื่อนไหว (Self-winding)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยความที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นกลางในสงคราม ทำให้อุตสาหกรรมการทำนาฬิกาข้อมือเติบโตอย่างมาก มีการผลิตนาฬิกาที่ใช้ทางการทหาร กว่า 95% ของนาฬิกากลไกที่ใช้ในโลกนี้ มาจากสวิตเซอร์แลนด์ นาฬิกาเป็นสินค้าที่ไร้การแข่งขัน เป็นอุตสาหกรรมผูกขาด ด้วยทางเทคนิคในการผลิตกลไก งานช่างที่ต้องใช้ช่างฝีมือที่เชี่ยวชาญ งานผลิตเกือบทั้งหมดทำด้วยมือ
ในช่วงต้นทศวรรษที่ 50 มีความพยายามในการพัฒนานาฬิกาที่ใช้ไฟฟ้าร่วมกับกลไก โดยบริษัทนาฬิกาสัญชาติอเมริกัน Elgin Watch Company ร่วมมือกับ Lip of France ในฝรั่งเศส แต่ก็ทำแค่เพียงนาฬิกาต้นแบบ ไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่ายจริง
ในปี 1957 Hamilton นาฬิกาสัญชาติอเมริกันได้เปิดตัวกลไกไฟฟ้าเรือนแรกของโลก 'The Hamilton Electric 500' โดยมีรุ่นที่โดดเด่นชื่อดังจวบจนทุกวันนี้คือ นาฬิกาที่ออกแบบไม่สมมาตร ไม่ใช่ทรงกลม ทรงเหลี่ยมแบบปกติ ในชื่อรุ่น 'Ventura' และที่ทำให้นาฬิการุ่นนี้สร้างชื่อเสียงอย่างมาก เพราะมันถูกใส่โดย Elvis Presley แสดงในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii
Hamilton Ventura 1957 รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Hamilton_Watch_Company
ในช่วงทศวรรษที่ 50-60 แบรนด์นาฬิกาทั้ง Seiko จากฝั่งญี่ปุ่น และแบรนด์ชื่อดังจากสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็น Patek Philippe, Piaget และ Omega แข่งขันกันพัฒนานาฬิกาควอทซ์กันอย่างเข้มข้น
ความสำเร็จหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของ Seiko คือการประดิษฐ์นาฬิกาควอทซ์แบบพกพา (Portable quartz clock ยังไม่ใช่ wrist watch) Seiko Crystal Chronometer QC-951 โดยนาฬิการุ่นนี้ถูกนำไปใช้เป็นนาฬิกาสำรองในการจับเวลาการแข่งขันวิ่งมาราธอนในโอลิมปิคฤดูร้อนปี 1964 ที่กรุงโตเกียว
Seiko Crystal Chronometer QC-951 รูปจาก https://global.epson.com/company/corporate_history/milestone_products/02_qc-951.html
วันคริสต์มาส ปี 1969 คงเป็นวันเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของวงการนาฬิกาข้อมือของโลก เมื่อ Seiko เปิดตัว Astron 35SQ
Seiko Astron 35SQ รูปจาก https://www.ablogtowatch.com/seiko-astron-worlds-first-quartz-watch-turns-40/
Seiko Astron 35SQ นี้ ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 1969 ที่โตเกียว ถือว่าเป็นนาฬิกาข้อมือระบบควอทซ์รุ่นแรกของโลก จำหน่ายในเคสทองคำ ในจำนวนจำกัดเพียง 100 เรือนเท่านั้น สนนราคาขณะนั้น 450,000 เยน หรือเทียบเท่าราคาของรถยนต์โตโยต้า โคโรล่า
นาฬิกาใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ควบคุมความเที่ยงตรงด้วยผลึกควอทซ์ที่ความถี่ 8,192 Hz คามคลาดเคลื่อนไม่เกิน 5 วินาทีต่อวัน
รูปจาก https://www.fratellowatches.com/a-tribute-to-seikos-first-quartz-watch-50-years-ago/#gref
แต่ก็ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้จะสั่นสะเทือนวงการนาฬิกาอย่างทันทีทันใด ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่านาฬิกาควอทซ์จะผลิตและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย จนส่งผลกระทบถึงยอดขายและความเปลี่ยนแปลงของนาฬิกากลไกแบบดั้งเดิม แม้แต่ Seiko เอง ก็ไม่ได้เปิดตัว Astron รุ่นใหม่อีกเลยจนกระทั้งปี 1971
Seiko Caliber 35A ที่ใช้ในนาฬิกา Astron ที่เปิดตัวเมื่อปี 1969 รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Quartz_crisis
เมื่อมีคนเริ่ม ก็ต้องมีคนตาม เหล่าแบรนด์นาฬิกาชั้นนำของโลก ได้ทุ่มเทคิดค้นแนวทางการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมและพยายามผลิตนาฬิกาควอทซ์กันอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ 70
Omega Electroquartz ใช้กลไก Beta 21 ถือเป็นนาฬิกาควอทซ์สวิสรุ่นแรก โดยกลไก Beta 21 นี้ ถูกพัฒนาจากความร่วมมือจากบริษัทผลิตนาฬิกาในสวิตเซอร์แลนด์กว่า 20 บริษัท และถูกนำไปใช้ในหลากหลายแบรนด์ เช่น Rolex รุ่น Texano, Patek Philippe, IWC รุ่น Davinci มีการคาดการณ์กันว่า แบรนด์ที่ใช้ Beta 21 (และต่อเนื่องพัฒนาเป็น Beta 22) มากที่สุดคือ Omega คาดว่าน่าจะผลิตนาฬิกากลไกควอทซ์ระบบนี้ไปกว่า 10,000 เรือนในช่วงปี 1970-1977
Omega Electroquartz Beta 21 Calibre 1300 รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Omega_Electroquartz
ถ้าลองมองเปรียบเทียบยุค 70's กับยุคปัจจุบัน การเปิดตัวของนาฬิกาควอทซ์ คงคล้ายๆกับการมาของนาฬิกา Smart watch จากนาฬิกากลไกฟันเฟืองที่ถูกผูกขาดโดยแบรนด์สัญชาติสวิส เปลี่ยนไปสู่นาฬิกาใส่ถ่านที่ดูล้ำสมัย เที่ยงตรงมากขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น ไม่ต้องไขลานหรือแกว่งแขนสะสมพลังงาน เพียงแต่เปลี่ยนถ่านตามระยะเวลาเท่านั้นเอง ผู้คนคงจะตื่นเต้นและรู้สึกว่าคนที่ใส่นาฬิกาควอทซ์เป็นคนทันสมัย ดูเป็นคนรุ่นใหม่
ในระยะแรกแบรนด์นาฬิกาชั้นนำในสวิตเซอร์แลนด์ก็ยังมองว่า การเข้ามาของนาฬิกาควอทซ์อาจจะเป็นเพียงกระแส จึงยังไม่ได้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมนาฬิกาของตัวเองที่แข็งแกร่งและมีแบรนด์นาฬิกาที่เข้มแข็ง มีชื่อเสียงมายาวนาน มีช่างนาฬิกาฝีมือดี และคิดว่าการเปลี่ยนไปสู่นาฬิกาควอทซ์ยังไม่มีความจำเป็น
...ในทุกอุตสาหกรรมล้วนมี disruption และได้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าในยุคปัจจุบัน disruption เกิดขึ้นรวดเร็วทันตาเห็นได้เวลาเพียงไม่กี่ปี...
ในยุคนั้น Watch disruption ใช้เวลาเกือบสิบปี กว่าที่นาฬิกาควอทซ์จะมีราคาที่ถูกลง แบรนด์นาฬิกานอกสวิตเซอร์แลนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะแบรนด์จากญี่ปุ่นและอเมริกา นาฬิกาควอทซ์ไม่ต้องการช่างผลิตกลไกในการสร้างกลไกที่สลับซับซ้อน ไม่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงมากขึ้น ไม่ต้องการช่างฝีมือชั้นครูในการขัดแต่งนาฬิกาและกลไกฟันเฟืองให้มีความวิจิตรสวยงาม เพียงแค่ผลิตแผงวงจร ออกแบบหน้าปัดตัวเรือน แล้วประกอบเข้าด้วยกัน ก็ได้นาฬิกาข้อมือที่ราคาจับต้องได้ มีความเที่ยงตรงอย่างที่นาฬิกากลไกแบบดั้งเดิมในยุคนั้นเทียบไม่ติด
1
จนในปี 1978 นาฬิกาควอทซ์ก็ได้รับความนิยมแซงหน้านาฬิกากลไกแบบเดิม ทำให้อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสเข้าสู่วิกฤติ
ระหว่างปี 1970-1983 จำนวนบริษัทผลิตนาฬิกาของสวิสลดลงจาก 1,600 เหลือ 600 บริษัท
ระหว่างปี 1970-1988 พนักงานของบริษัทนาฬิกาในสวิสลดลงจาก 90,000 คน เหลือเพียง 28,000 คน
และในระหว่างปี 1974-1983 จำนวนการผลิตนาฬิกาสวิสลดลงกว่าครึ่ง จาก 96 ล้านเรือน เหลือเพียง 45 ล้านเรือน
นอกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วิกฤติการณ์นี้กลับถูกเรียกว่า เป็นการปฏิวัติควอทซ์ (Quartz revolution) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา เพื่อพัฒนานาฬิการะบบดิจิตอลเพื่อใช้ทางการทหารและอวกาศ
จนถึงปี 1983 วิกฤติการณ์ก็ถึงจุดสูงสุด ในเดือนมีนาคม 1983 สองกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส คือ ASUAG (Allgemeine Schweizerische Uhrenindustrie AG) และ SSIH (Société Suisse pour l'Industrie Horlogère) ได้ประกาศรวมตัวกัน เป็น ASUAG/SSIH และเปลี่ยนชื่อเป็น SMH (Société de Microélectronique et d'Horlogerie) ในเวลาต่อมา
โดยองค์กรนี้ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของนาฬิกาสวิสเดิมไปอย่างสิ้นเชิง เป็นนาฬิกาสวิสที่ราคาย่อมเยา ห่อมาในซองพลาสติก ผลิตเพื่อเป็นนาฬิกาที่ใช้แล้วทิ้ง ซ่อมไม่ได้ มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยลง ใช้ระบบอัตโนมัติในการผลิต แทนที่จะใช้ช่างฝืมือในการทำ แบรนด์นาฬิกาสวิสนี้ ยังมีขายจนถึงปัจจุบัน ในชื่อของ Swatch
นาฬิกา Swatch ประสบความสำเร็จอย่างมาก ไม่ถึง 2 ปี สามารถขายได้ถึง 2.5 ล้านเรือน
SMH ถือเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มบริษัทนาฬิกาสวิสที่อยู่จวบจนถึงปัจจุบัน คือ The Swatch group ที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1998 และได้ควบรวมแบรนด์นาฬิกาสวิสเข้าไว้ด้วยกันอีกหลายแบรนด์ เช่น Blancpain, Tissot, Breguet, Glashütte Original, Harry Winston, Longines, Rado และรวมถึง Omega
Swatch นาฬิกาสวิสที่ลดต้นทุนและเปลี่ยนแปลงแนวทางการผลิตทั้งหมด เพื่อความอยู่รอดใน Quartz crisis รูปจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Quartz_crisis
อีกหนึ่งของการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของนาฬิกากลไกในสวิตเซอร์แลนด์คือ การลดต้นทุนการผลิตและการค้นคว้าพัฒนากลไกด้วยตัวเอง (กลไก in-house) และหันไปใช้กลไกร่วมกันซึ่งผลิตโดยบริษัทผลิตกลไกโดยเฉพาะในชื่อของ กลไก ETA (ที่ผลิตโดย ETA SA Manufacture Horlogère Suisse ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกลไกเก่าแก่) ซึ่งต่อมาก็ถูกผนวกเข้าไปใน The Swatch group
ในอีกแง่มุมหนึ่ง เหล่านาฬิกาสวิสก็อัพเกรด ปรับระดับชื่อชั้นแบรนด์นาฬิกาของตัวเอง ให้เป็นนาฬิกาหรูหรามากขึ้น เป็นสินค้าที่สวยงาม มีการขัดแต่งกลไกให้สวยงามโดยช่างฝีมือชั้นครู มีดีไซน์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ใช้วัสดุล้ำค่า เช่น ทองคำ platinum ในการประกอบตัวเรือน ทำให้นาฬิกาไม่เป็นเพียงแค่เครื่องบอกเวลา แต่ยังแสดงถึงสถานะทางการเงินและทางสังคมของผู้สวมใส่ ความมีรสนิยม จึงทำให้นาฬิกาสวิสยังสามารถสร้างตลาดในด้านนี้ได้ โดยแบรนด์ที่ปรับตัวได้ และยังเป็นนาฬิกาหรูจวบจนถึงวันนี้ เช่น Patek Philippe, Vacheron Constantin, Audemars Piguet และแน่นอนที่เรารู้จักกันดีที่สุด คือ Rolex
Patek Philippe 5711/1A-010 นาฬิกาสุดหรูรุ่นยอดนิยม โดยราคาตั้งขายอย่างเป็นทางการที่ตั้งขายไว้ที่คือ 1,035,500 บาท แต่ทว่าการเดินเข้า Authorized dealer ของ PP จะไม่มีทางได้เห็น และไม่สามารถซื้อในราคานี้ได้โดยไม่มีเงื่อนไข และถ้าไปหาซื้อตามร้านขายนาฬิกาอื่นที่ไม่ใช่ dealer ก็จะเจอกับราคาอื่นที่น่าตกใจมาก รูปจาก https://www.patek.com/en/collection/nautilus/5711-1A-010
ในปัจจุบันนาฬิกาสวิสหรูๆ อยู่ในตำแหน่งที่มั่นคงแล้ว โดยเฉพาะแบรนด์หรูชั้นนำที่มีชื่อเสียง มูลค่าของนาฬิกาถูกปรับตัวไปอย่างมาก บางรุ่นใช่ว่าจะถือเงินสดเดินเข้าไปซื้อได้ง่ายๆโดยตรงจาก Authorized dealer ของแบรนด์นั้น รุ่นยอดนิยมต้องมีเงื่อนไขในการซื้อและต้อง 'ต่อคิว' รอซื้อนานหลายปี และไม่มีอะไรการันตีได้ด้วยว่า จะถึงคิวของเราเมื่อไร หรือแม้แต่จะมีคิวที่เราจะมีวาสนาได้ซื้อหรือไม่
รุ่นยอดนิยม ราคาขายต่อที่ทั้งผู้ครอบครองเดิม และร้านขายนาฬิกาซื้อขายกัน ราคาสูงกว่าราคาตั้งมากมาย บางรุ่นราคาขึ้นหลักหลายหมื่นถึงหลายแสน กระทั่งบางรุ่นราคาสูงขึ้นไปเป็นล้านก็ยังมี
โฆษณา