28 ม.ค. 2021 เวลา 02:22 • ประวัติศาสตร์
Pilot watch นาฬิกานักบิน คืออะไร มีที่มาจุดกำเนิดมาจากไหน แล้วทำไมต้องมีการแบ่งประเภทเป็นนาฬิกาสำหรับนักบินด้วย
Stowa Flieger with date, no logo
นาฬิกาข้อมือถือกำเนิดมาได้ราวๆ ร้อยกว่าปีก่อนนี้เอง ก่อนหน้านี้นาฬิกาที่ใช้บอกเวลาก็พกพาในรูปแบบนาฬิกาพกกระเป๋า (Pocket watch) นาฬิกาเฉพาะด้านต่างๆก็ทยอยๆออกมาตามความนิยมของการใช้นาฬิกาข้อมือด้วยเช่นกัน
ประวัติศาสตร์การบินของชาวโลกเราก็เริ่มมาประมาณร้อยปีกว่านี้เช่นกัน ตั้งแต่ Wright brothers, Orville & Wilbur ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เครื่องบินได้เมื่อปี 1903 การที่จะพกพาอุปกรณ์ในเทียบเวลา จับเวลา จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเครื่องบิน
นาฬิกานักบินเรือนแรกที่พูดได้ว่าเป็นนาฬิกาข้อมือที่ใช้ในการบิน ถูกประดิษฐ์โดย Louis Cartier เป็นให้นักบิน Alberto Santos-Dumont ใส่เพื่อจับเวลาในการบินของเขา แต่สเปคของนาฬิกานักบินก็ยังไม่ได้ถูกระบุอย่างชัดเจน จนกระทั่งเครื่องบินถูกนำมาใช้ทางการทหารอย่างแพร่หลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
กองทัพอากาศในแต่ละประเทศก็ไม่ได้มีการระบุแบรนด์ไหนหรือสเปคของนาฬิกาสำหรับนักบินสวมใส่เป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ละประเทศก็มีรูปแบบ ชื่อเรียก สเปคของยุทธภัณฑ์ชิ้นนี้แตกต่างกันไป แต่ที่เป็นที่พูดถึง และยังเป็นรูปแบบของนาฬิกานักบินที่คุ้นเคยกันจนถึงทุกวันนี้ ก็คงเป็นเป็นของกองทัพอากาศเยอรมัน (German Luftwaffe) ที่เรียกกันย่อๆว่า B-Uhren
ขอเล่าเรื่องคำเรียกนาฬิกานักบินของกองทัพเยอรมันกันเล็กน้อย
ในภาษาเยอรมันจะเรียกยุทธภัณฑ์ตัวนี้ว่า Beobachtungsuhr (ย่อว่า B-Uhren หรือ B-watch) ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงตัว ก็คือ Observer watch หรือ Observational watch แต่ก็คือเป็นนาฬิกาที่ให้นักบินใส่ก็จะเรียกว่า Navigator watch หรือ Pilot watch ก็ได้ และอีกคำที่นิยมใช้เรียกนาฬิกานักบินสไตล์เยอรมันแบบนี้ จนถึงปัจจุบัน ก็คือ Flieger ที่แปลว่า Flyer นั่นเอง
B-Uhren ที่ใช้ในกองทัพอากาศเยอรมันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ มีรหัสในกองทัพว่า FL 23883 ซึ่งจะประทับไว้ที่ด้านหลังของตัวเรือน โดยตัวอักษร FL ย่อมาจาก fliegnummer (Flight number) , ตัวเลข 23 หมายถึงเป็นอุปกรณ์ในการนำทางการบิน และตัวเลข 883 หมายถึงว่าเป็นยุทธภัณฑ์ของสำนักงานการทดสอบทางการบินของเยอรมัน (German Testing Office for Aeronautics)
Flieger ดั้งเดิม original ที่ใช้สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น
- จะมีขนาดตัวเรือนที่ใหญ่มากถึง 55 mm
- พร้อมกับสายหนังที่ยาวมาก เพื่อจะพันรอบเสื้อแจ็คเก็ตของนักบินได้
- มีเม็ดมะยมทรงหัวหอมที่มีขนาดใหญ่ เพื่อที่จะได้หมุนสะดวกในขณะที่นักบินสวมถุงมือหนังที่หนาและใหญ่
- มีกลไกที่เข็มวินาทีจะหยุดเดินเมื่อดึงเม็ดมะยมออกเพื่อจะตั้งเวลา (hacking movement) ซึ่งสำคัญมากในการตั้งเวลาที่ต้องการความแม่นยำระดับวินาที
- มีการใช้ Breguet balance spring
- ตัวเรือนต้องกันสนามแม่เหล็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมขณะทำการบินได้ดี
- สิ่งที่สำคัญที่สุดในความเป็นนาฬิกาที่ดี ก็คือต้องมีกลไกภายในที่แม่นยำ เที่ยงตรง ระดับ chronometer โดยนาฬิกานักบินนี้ต้องมีการเทียบเวลาให้ตรงกับ German Naval Observatory ความเที่ยงตรงแม่นยำของนาฬิกานี้ สำคัญต่อความเป็นความตายของนักบินทหารและชีวิตของประชาชนที่อยู่ในภาวะสงครามนั้นเป็นอย่างมาก
ภาพร่างสเปคของ Flieger FL 23883 มีการระบุรูปร่าง ลักษณะเข็ม หน้าปัด ขนาดอย่างชัดเจน รูปจาก http://belgowatch.blogspot.com/2015/08/a-lange-b-uhr-1940.html
มีผู้ผลิตนาฬิกาเพียง 5 แบรนด์เท่านั้น ที่ทาง German Luftwaffe ยอมรับให้ใช้เป็น B-Uhren อย่างเป็นทางการในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่
- A. Lange & Söhne : ในปัจจุบันเป็นแบรนด์สุดหรู ระดับโลก เทียบเคียงกับ Patek Philippe ราคาหลุดไปไกลมาก
- Laco (Lacher & Co) : ปัจจุบันอยู่ในเครือ Citizen แล้ว ไม่เหลือความเป็นเยอรมัน
- Stowa (Walter Storz) : ปัจจุบันยังเป็นนาฬิกาที่ผลิตในเยอรมันอยู่อย่างเต็มภาคภูมิ แต่ไม่ได้วางขายในท้องตลาดทั่วไป ต้องสั่งผ่านหน้าเว็ปเท่านั้น (www.stowa.de)
- Wempe (Chronometerwerke Hamburg) : ปัจจุบันไม่ได้ทำนาฬิกาแล้ว
- IWC : ยังเป็นนาฬิกาแบรนด์หรูชื่อดังอยู่ และยังทำนาฬิกานักบินรุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
1
Lange & Söhne cal. 48/1 รูปจาก http://belgowatch.blogspot.com/2015/08/a-lange-b-uhr-1940.html
เปิดฝาหลังของ Lange & Söhne cal. 48/1 กลไกไขลาน ประทับตราแบรนด์อย่างชัดเจน รูปจาก http://belgowatch.blogspot.com/2015/08/a-lange-b-uhr-1940.html
ฝาหลังของ Lange & Söhne cal. 48/1 มีรหัส FL 23883 รูปจาก http://belgowatch.blogspot.com/2015/08/a-lange-b-uhr-1940.html
Laco: Durowe cal. D 5 รูปจาก http://fliegerfriday.com/flieger-friday-laco-leipzig-erbstuck-review/
Wempe: Thommen cal. 31 รูปจาก https://www.watchuseek.com/media/ww2-wempe-b-uhr-thommen-hamburg-cal-31.334018/full
IWC Cal. 52 SC รูปจาก https://www.christies.com/en/lot/lot-5612471
หน้าตารูปร่างของนาฬิกา Flieger จะมีหน้าปัดอยู่ 2 แบบ โดยพื้นหน้าปัดจะเป็นสีดำและไม่มีตัวอักษรอื่นแม้กระทั่งชื่อแบรนด์ (no logo)
Type A (Baumuster A) เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1940 ถึงมกราคม 1941
เป็นหน้าปัดแบบคลาสสิค มีตัวเลขอารบิค 1 ถึง 11 และสามเหลี่ยมพร้อมจุดสองจุดที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา โดยไม่มีเลข 12
Type B (Baumuster B) เริ่มใช้ตั้งแต่มกราคม 1941
มีตัวเลขบอกนาทีตัวใหญ่ในวงนอกเริ่มจาก 5 ไล่ไปทีละ 5 นาทีจนถึง 55 โดยมีลูกศรสามเหลี่ยมชี้ขึ้นในตำแหน่งเลข 60 (หรือ 0) และตัวเลขบอกชั่วโมงตัวเล็กอยู่วงในตั้งแต่ 1 ถึง 12
เทียบหน้าปัด 2 แบบของ Flieger รูปจาก http://ticktickticktick.com/watch-reviews/steinhart-nav-b-uhr-review-b-type/
ถึงเวลาผ่านมานานกว่า 80 ปี แต่รูปร่างหน้าตาของนาฬิกานักบินสไตล์นี้ ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าแบรนด์ไหนจะมีการทำนาฬิกานักบินออกมา ก็จะทำหน้าตาให้คล้ายเดิมใน 2 แบบนี้ให้มากที่สุด อาจจะเปลี่ยนแปลงในบางจุด เช่น ฟอนต์ของตัวเลข ลักษณะของเม็ดมะยม ขนาดที่เล็กลง การใส่ชื่อแบรนด์ลงไปบนหน้าปัด ใส่ช่องวันที่ ลักษณะของสาย แต่ก็ยังพยายามคงเอกลักษณ์ของนาฬิกา Flieger แบบนี้อยู่มาโดยตลอด โดยแค่มองเพียงผ่านๆ ก็รู้แล้วว่า นี่คือนาฬิกานักบินสไตล์ Flieger
โฆษณา