11 ม.ค. 2021 เวลา 07:06 • ประวัติศาสตร์
10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘เกอิชา’ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน!
สวัสดีครับเพื่อน ๆ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ The Facts เพจที่จะพาทุกคน ไปค้นพบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
ขอบคุณรูปภาพจากโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง Memoirs of a Geisha
ถ้าพูดถึงเกอิชา เดาว่าทุกคนจะต้องนึกถึงผู้หญิงหน้าขาว ๆ ใส่ชุดกิโมโน ทาปากด้วยลิปสติกสีแดงใช่ไหมล่ะครับ แต่จริง ๆ แล้วอาชีพของพวกเธอทำอะไร และกว่าที่จะกลายมาเป็นเกอิชาได้จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง วันนี้มีคำตอบมาให้กันครับ
1. เกอิชา แปลว่า ศิลปิน 👯‍♀️
คำว่า 'เกอิชา' ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1750 แต่เพิ่งมาเป็นที่ยอมรับให้เป็นอาชีพในช่วงก่อนปี 1813 คำว่า ‘เกอิชา’ แปลตรงตัวได้ว่า ‘ศิลปิน’ เธอมีความเชี่ยวชาญทางด้านงานศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ เช่น การรำพัด ร้องเพลง วรรณคดี ขับบทกวี การจัดดอกไม้ รวมถึงการชงชาและการปรนนิบัติแขกอีกด้วย (แต่ไม่ใช่การปรนนิบัติแบบนั้นนะ) นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ ที่ใช้เรียกเกอิชา แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในโตเกียวจะเรียกว่าเกอิชา ในเกียวโตจะเรียกว่าเกอิโกะ และในพื้นที่อื่น ๆ จะเรียกว่า เกอิงิ แต่ล้วนแล้วหมายถึงสิ่งเดียวกัน
1
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.japantimes.co.jp
2. เกอิชาไม่ใช่โสเภณี 🙅🏻‍♀️
หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเกอิชาคือโสเภณี หรือที่เรียกว่า ‘โออิรัน’ ด้วยลักษณะงานของพวกเธอที่มีความคล้ายคลึงกัน คือการปรนนิบัติให้ความบันเทิงกับแขก แต่มีความต่างกันตรงที่เกอิชาจะขายความสามารถ แต่โออิรันจะขายเรือนร่างของเธอ ความเข้าใจผิดนี้อาจเกิดจากการตีความที่ผิดพลาดของภาพยนตร์ที่สร้างเกี่ยวกับเกอิชา หรือเกิดจากความสับสนของทหารอเมริกัน ระหว่างเกอิชากับโสเภณีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ความแตกต่างของเกอิชากับโออิรันอีกอย่างก็คือ ชุดกิโมโนของเกอิชาจะมีการผูกผ้าคาดเอวหรือที่เรียกว่า “โอบิ” ไว้ด้านหลัง ส่วนโออิรัน จะผูกโอบิไว้ด้านหน้านั่นเอง
4
ขอบคุณรูปภาพจาก https://mai-ko.com
3. ในอดีตเกอิชาเป็นผู้ชาย 🙋🏻‍♂️
ยุคเริ่มแรกของเกอิชาในสมัยเอโดะ เกอิชาในสมัยแรกนั้นล้วนเป็นผู้ชายหรือที่เรียกว่า ไทโคะโมะชิ หรือ โฮกัง ซึ่งคล้ายกับพวกตลกหลวงในราชสำนัก ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงกับแขกโดยการแสดงความสามารถพิเศษ เต้นระบำในบาร์ ร้านอาหารหรือโรงน้ำชา แต่หลังสมัยเมจิ เกอิชาที่เป็นผู้ชายเริ่มหายไป และกลายเป็นอาชีพของผู้หญิงแทน ในปันจุบันไม่มีบุรุษเกอิชาให้เห็นแล้ว
1
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.flickr.com/photos/fr3nd
4. เกอิชาฝึกหัดเรียกว่า Maiko (หญิงสาวนักเต้นรำ) 💃🏻
เกอิชาฝึกหัดเรียกว่า ‘มาอิโกะ’ ความแตกต่างระหว่างเกอิชากับมาอิโกะที่เห็นได้ชัด ๆ มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งได้แก่ 1. มาอิโกะจะใส่ชุดที่มีสีสันมากกว่าเกอิชา 2. เกอิชาส่วนใหญ่จะใส่วิกในขณะที่มาอิโกะใช้ผมของตัวเองในการจัดแต่งทรงผมหรือบางครั้งอาจมีการต่อผมด้วย และ 3. มาอิโกะจะสวมเครื่องประดับบนหัวมากกว่าเกอิชา ในอดีตเกอิชาส่วนใหญ่ไม่ได้เลือกที่จะมาเป็นเกอิชาด้วยตัวเอง พวกเธอทำอาชีพนี้ด้วยความจำเป็น หรืออาจเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนในชนบท แล้วถูกรับมาฝึกเป็นเกอิชาตั้งแต่อายุเพียง 3-5 ขวบ ในปัจจุบันกฎหมายญี่ปุ่นกำหนดว่าเด็กหญิงชาวญี่ปุ่นจะต้องมีอายุครบ 16 ปีบริบูรณ์เสียก่อน จึงจะสามารถเข้ามาฝึกเป็นเกอิชาฝึกหัดได้ และระยะเวลาการฝึกก็ไม่ต้องยาวนานเหมือนสมัยก่อนแล้ว อาจใช้เวลาฝึกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นก่อนที่จะกลายเป็นเกอิชาเต็มตัว แต่ทั้งนี้ผู้หญิงทุกคนสามารถเป็นเกอิชาได้ โดยไม่ต้องผ่านการเป็นมาอิโกะมาก่อน
1
ขอบคุณรูปภาพจาก https://mai-ko.com
5. การแต่งหน้าขาวของเกอิชา 🧖🏻‍♀️
จุดเด่นของเกอิชาคือการแต่งหน้าสีขาว ด้วยแป้งรองพื้นที่เรียกว่าโอชิโอริ ทั่วใบหน้าและลำคอ ทาลิปสติกสีแดงสดพร้อมทั้งกรีดอายไลน์เนอร์สีดำบริเวณดวงตา สำหรับเกอิชาที่มีอายุอาจจะไม่ทาแป้งรองพื้นสีขาวบนใบหน้าแล้ว แต่ยังคงแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางอย่างอื่นอยู่ ว่ากันว่าเหตุผลที่พวกเขาต้องแต่งหน้าให้ขาวโพนนั้น ในสมัยก่อน ก่อนที่จะมีแสงไฟจากไฟฟ้า บ้านเรือนต่าง ๆ ใช้เทียนไขให้แสงสว่างในยามค่ำคืน เกอิชาจึงต้องแต่งหน้าสีขาวเพื่อให้ตัวเองดูโดดเด่น และแตกต่างจากคนอื่น ๆ ในงานเลี้ยง
6. เกอิชาอาศัยอยู่ที่ฮานะมาจิ ⛩
หากเพื่อน ๆ ต้องการไปดูเกอิชาด้วยตาของตัวเอง อาจเจอพวกเธอที่ได้ ‘ฮานะมาจิ’ ที่แปลว่า ‘เมืองแห่งดอกไม้’ ซึ่งเป็นย่านของเหล่าเกอิชา พบได้ในเกียวโตและโตเกียว ที่ฮานะมาจิจะเต็มไปด้วย โอกิยะ หรือบ้านเรือนที่เกอิชาอาศัยอยู่ นอกจากนี้ฮานะมาจิยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของเหล่านักท่องเที่ยว ที่หวังจะได้เจอกับเกอิชาตัวเป็น ๆ อีกด้วย
1
ขอบคุณรูปภาพจาก https://okiya.tumblr.com
7. ชุดกิโมโนของเกอิชาทำจากผ้าไหม 👘
ชุดกิโมโนของเกอิชาทอด้วยมือจากผ้าไหมชั้นดี ซึ่งใช้เวลานานถึง 3 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าหลายพันดอลลาร์ ชุดกิโมโนที่เป็นทางการของเกอิชาจะทำจากผ้าไหมทั้งชุด นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุดมีราคาแพงมาก แต่เกอิชาที่โด่งดังก็มีเป็นโหล ๆ เลยล่ะ สนใจสักชุดไหมครับ 😊
2
8. เกอิชาไม่สามารถแต่งงานได้ (แต่มีผู้อุปถัมภ์ได้) 👩‍❤️‍👨
กฎของการเป็นเกอิชาคือห้ามแต่งงานจนกว่าจะเกษียรหรือเลิกทำอาชีพนี้ไปแล้ว แต่ด้วยความที่อาชีพของเกอิชานั้นมีต้นทุนสูงมาก จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกอิชาจะหาผู้ชายที่มีฐานะหรือผู้อุปถัมภ์ เพื่อมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตลอดชีวิตของเธอ ผู้อุปถัมภ์เกอิชาเป็นสถานะทางสังคมของญี่ปุ่นที่บ่งบอกว่าพวกเขามีความมั่งคั่งมากพอที่จะอุปถัมภ์เกอิชาได้
1
9. เกอิชาจะต้องไม่สูงหรือผอมเกินไป 🧚🏻‍♀️
เกอิชาจะต้องไม่สูงหรือมีรูปร่างผอมจนเกินไป ผู้หญิงที่สูงเกินกว่า 160 ซ.ม. จะถูกมองว่าสูงเกินไปที่จะเป็นเกอิชา เหตุผลก็เพราะว่าเธอจะต้องใส่ร้องเท้าส้นตึกสูงถึง 10 ซ.ม. ซึ่งจะยิ่งทำให้เธอสูงขึ้นไปอีก นอกจากนี้เกอิชาจะต้องมีน้ำหนักอย่างน้อย 45 กิโลกรัมขึ้นไป เพราะเสื้อผ้าหน้าผม และเครื่องประดับของเธอมีน้ำหนัก รวมกันถึง 10 กิโลกรัม ถ้าหากเธอผอมเกินไป อาจรับน้ำหนักเครื่องแต่งกายเหล่านั้นไม่ไหว และยิ่งไปกว่านั้น คนที่อยากเป็นเกอิชาจะต้องรับวิถีชีวิตที่มีระเบียบแบบแผนและเคร่งครัดได้ ซึ่งทุกอย่างตั้งแต่ กริยามารยาท ไปจนถึงภาษาท่าทางและการแต่งกายจะแตกต่างจากคนทั่วไปในยุคปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
1
10. เกอิชาคนแรกจากดินแดนตะวันตก 🇺🇸
ในอดีต มีเพียงผู้หญิงชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่สามารถเป็นเกอิชาได้ แต่ในปี 1976 ผู้หญิงจากดินแดนตะวันตกนามว่า ลิซ่า ดอลบี้ เป็นผู้หญิงที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เป็นเกอิชา เธอเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเกอิชาครั้งแรกตอนที่เธอมาเที่ยวญี่ปุ่นตอนเป็นวัยรุ่น จากนั้นเธอก็ได้กลับมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้งในฐานะนักศึกษาปริญญาเอก เพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเกอิชา ถึงแม้ตัวเธอเองไม่ได้ตั้งใจที่จะเป็นเกอิชา แต่เธอได้รับการเชิญชวนให้เข้าร่วมกับสมาคมเกอิชาเล็ก ๆ ในเกียวโต หลังจากนั้นเธอก็เป็นที่รู้จักในนาม the blue-eyed geisha หรือ เกอิชาตาสีฟ้านั่นเอง
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.lizadalby.com
และนี่ก็คือ 10 เท็จจริงเกี่ยวกับเกอิชาในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แม้ว่าในปัจจุบันโลกจะพัฒนาไปไกลเพียงใด ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจหรือเทคโนโลยี แต่เกอิชาหลายคนก็ยังไม่ยอมปรับตัวไปตามยุคสมัยใหม่ และเกอิชาฝึกหัดจะไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ตลอดระยะเวลาที่เข้ารับการฝึกเป็นเกอิชา แต่พวกเธอจะติดตามข่าวสารจากการอ่านหนังสือพิมพ์แทน ถ้าชอบบทความนี้ ฝากกดไลก์ กดแชร์ และกดติดตามกันด้วยนะครับ รับรองว่าจะนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากอีกแน่นอน 😊
เรียบเรียงโดย The Facts
โฆษณา