12 ม.ค. 2021 เวลา 07:09 • สุขภาพ
เมื่อคุณถูกวินิจฉัยว่า “หัวใจโต”
นับเป็นปัญหาทางการแพทย์อย่างนึงเลยทีเดียวกับ “หัวใจโต” เป็นสิ่งที่มักจะตรวจพบจากการทำเอ็กเรย์ทรวงอก ไม่ว่าจะเป็นจากการตรวจร่างกายประจำปี การตรวจก่อนผ่าตัดโรคอื่นๆ หรือการตรวจโรคหัวใจทั่วไป
โดยเกณฑ์ทั่วไปที่ใช้ในการวินิจฉัย “หัวใจโต” จากการทำเอ็กเรย์ คือ ขนาดหัวใจใหญ่กว่าครึ่งนึงของขนาดทรวงอก (Cardiothoracic ratio มากกว่า 0.5)
ภาพจาก Wikimedia commons
สิ่งที่ผมได้พบเจอบ่อยมากในการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกโรคหัวใจ คือ ผู้ป่วย (ซึ่งอาจจะไม่ได้ป่วยจริงๆ) จะถือผลการตรวจเอ็กเรย์มาปรึกษาว่าเขาเป็น “โรคหัวใจโต” ซึ่งสำหรับบางคน เขาจะเข้าใจว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก หรือทำให้หัวใจวายได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด
ข้อแรกที่ทุกท่านควรทราบคือ “หัวใจโต” ไม่ใช่โรค (ขอเน้นอีกครั้งว่า..ไม่ใช่โรค) เป็น “ภาวะ” หรือ”ผลตรวจผิดปกติ” ที่ตรวจพบเจอ ซึ่งมักตรวจพบจากการทำเอ็กเรย์ทรวงอก ในบางคนอาจตรวจพบจากการทำคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือการทำ CT scan ก็ได้ โดยในบทความนี้ ผมจะเน้นถึง “ภาวะหัวใจโต” ที่ตรวจพบจากการทำเอ็กเรย์ทรวงอกเป็นหลัก
ข้อสอง หากตรวจพบ “ภาวะหัวใจโต” ต้องหา “สาเหตุ” ว่า เพราะเหตุอะไรถึงทำให้เกิด “ภาวะหัวใจโต”
ถ้าให้ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อคุณกำลังจะขับรถ แต่รถสตาร์ทไม่ติด ช่างซ่อมรถก็จะมาหาสาเหตุให้ว่าเกิดจากอะไร เช่น แบตเตอรี่เสื่อม ไดสตาร์ทเสีย หรือเข้าเกียร์ผิดตอนสตาร์ท (อันนี้ผมเจอบ่อย) ซึ่งก็เหมือนกันกับ “ภาวะหัวใจโต” ที่ต้องมาหา “สาเหตุ” ที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร
สาเหตุที่ทำให้เกิด “ภาวะหัวใจโต” ผมมักจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ง่ายในการอธิบาย
1. “หัวใจโตจากโรคหัวใจ”
โรคหัวใจทุกชนิด ในกรณีที่มาความรุนแรงมากๆ สามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงลง (หรือหนาตัวขึ้น) จนกระทั่งขนาดของหัวใจโตขึ้นได้ ยกตัวอย่างโรคหัวใจที่ทำให้หัวใจโตขึ้น
▪️กล้ามเนื้อหัวใจหนา จากความดันโลหิตสูง
▪️กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง จากเส้นเลือดหัวใจตีบ (มักจะหลายเส้น หรือตีบรุนแรง)
▪️โรคลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว
2. “หัวใจโตที่ไม่ใช่โรคหัวใจ”
ซึ่งก็คือ ตัวหัวใจไม่ได้โต แต่เป็น “เงา” ของหัวใจที่โต อ่านแล้วหลายท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร ถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนกับเวลาถ่ายรูปหน้าตัวเอง แล้วรู้สึกว่าภาพถ่ายดูหน้าใหญ่กว่าความเป็นจริง อาจจะเกิดได้จากมุมที่ถ่ายต่ำ หรือสูงไป หรืออีกตัวอย่างคือ การที่เงากับแสงไฟฉายของเด็กๆ ถ้าไฟฉายอยู่ใกล้มือ จะทำให้เงาใหญ่ขึ้น ดังนั้น หาก “คุณภาพการถ่ายภาพ” ของหัวใจไม่ดี ย่อมทำให้ภาพที่ออกมาผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้
สาเหตุที่ทำให้ “เงาของหัวใจโตกว่าปกติ”
▪️ถ่ายภาพในท่านอน : ตัวรับภาพจะอยู่ห่างจากหัวใจมากกว่าท่ายืน ทำให้เงาหัวใจโตขึ้น (ท่ามาตรฐานในการวัดขนาดหัวใจคือท่ายืน)
▪️ท่าภาพในมุมก้ม เงย หรือเอียง มากเกินไป
▪️หายใจเข้าขณะถ่ายภาพไม่ลึกพอ
การยืนยัน และตรวจเพิ่มของ “ภาวะหัวใจโต” ทำได้โดย การที่แพทย์จะซักประวัติความเสี่ยง ตรวจร่างกาย หรืออาจจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) และคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiography) เพิ่ม
สรุป
1. “หัวใจโต” ไม่ใช่โรค แต่เป็น “ภาวะ” หรือ “ผลตรวจผิดปกติ” ที่ตรวจพบเจอ
2. หากคุณถูกวินิจฉัยว่า “หัวใจโต” จำเป็นต้องหา “สาเหตุ” เพราะพยากรณ์โรค การดูแลรักษาต่อเนื่อง แตกต่างกัน
นพ. วีรพันธ์ วิวัฒน์วรพันธ์
อายุรแพทย์โรคหัวใจ อนุสาขาสรีระไฟฟ้าหัวใจ
(ช่างไฟฟ้าหัวใจ)
โฆษณา