12 ม.ค. 2021 เวลา 06:53 • ดนตรี เพลง
Do you like pop music?
จะว่าไป ดนตรีป๊อปเป็นดนตรีที่ยิ่งใหญ่โคตร ๆ เลยนะครับ ทรงอิทธิพลมากไม่ว่าจะกับใครก็ตาม ไม่มีใครไม่ฟังเพลงป๊อป ต่อให้นักดนตรีที่ไหนมาบอกว่า พี่ อย่างผมน่ะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ฟังเพลงตลาดหรอก แต่เพลงนอกกระแสนั้นก็เป็นเพลงป๊อปอยู่ดี และจากบทความที่แล้ว ลูกทุ่งนั้นก็เพลงป๊อปเหมือนกัน
เราพอจะแยกออกว่า เนี่ยเพลงป๊อป เนี่ยเพลงแจ๊ส เนี่ยเพลงร็อค เนี่ยฮิปฮอป ฯลฯ เพราะเพลงแต่ละประเภทนั้นค่อนข้างมีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในแง่ของดนตรี ดนตรีแจ๊สเราจะได้ยินโน้ตที่ซับซ้อน ดนตรีร็อคที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง (อาจจะรวมถึงเสียงเครื่องดนตรีที่ดุดันด้วย) หรือดนตรีฮิปฮอปที่มีพาร์ทดนตรีที่มีจังหวะชัดเจน และมีการใช้คำอันซับซ้อน คือถ้าถามใครทั่วไป ก็จะประมาณแบบนี้แหละ
แล้วถ้าถามว่าดนตรีป๊อปล่ะ? มันเป็นยังไง
พอมาเป็นดนตรีป๊อป หรือเพลงป๊อป เรากลับนึกออกไม่ได้เลยว่ามันเป็นยังไง เพราะมันขยำรวมทุกอย่างที่ควรจะไปอยู่ในดนตรีแขนงอื่น ๆ เข้ามาหมดเลย เรามายกตัวอย่างเล่น ๆ กัน Blackpink นี่ป๊อปแน่ ๆ แต่ดันมีท่อนแร็พให้ฟังเป็นประจำ เพลงจากวงไอน้ำที่ฟังยังไงก็เพลงป๊อปแต่กลับใช้ materials ของดนตรีร็อคอย่างครบครัน เพลงคิดถึงเธอทุกทีที่อยู่คนเดียวของคุณโก้ มิสเตอร์แซ็กแมนที่มีการใช้คอร์ดที่แจ๊สสุด ๆ แถมกระทำการ improvisation ในท่อนแซ็กโซโฟนด้วย แต่จะให้เรียกเพลงนั้นว่าเป็นเพลงแจ๊สก็เขิน ๆ นะครับ จะบอกว่าเพลงป๊อปต้องมีเมโลดีที่สวยงาม ติดหู อ้าว แต่ท่อนแรกของ Carmina Burana ซึ่งเป็นเพลงคลาสสิกนี่ โคตรติดหูเลยนะ ใครไม่รู้จักไปหาฟังสิ ติดหูไปห้าวันเชียวแหละ
ตกลงเพลงป๊อปนี่มันคืออะไรกันแน่วะ
(บทความนี้ยาวมาก ดังนั้นถ้ายาวไปไม่อ่านแนะนำให้ไปอ่านตรงหลังจากที่ขีดเส้นใต้ได้เลย รวดเร็ว สามนาทีเสร็จ)
ถ้าจะพูดว่าดนตรีป๊อปคืออะไร ก็คงต้องไปดูศิลปะแบบป๊อปเลยว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร และที่มาที่ไปของป๊อปอาร์ตนั้นมีเรื่องให้เล่าเยอะกว่าที่คิด
ดังนั้นเราจะย้อนกันไปไกลหน่อย แถว ๆ ร้อยสองร้อยปีที่แล้ว หรือมากกว่านั้น ไปให้ถึงยุคกลางได้ยิ่งดี นึกถึงภาพแบบใน Game of Thrones อะ ศิลปะในยุโรปนั้นจะถูกอุปถัมภ์ด้วยสองสถาบันใหญ่คือศาสนาและราชสำนัก กล่าวคือถ้าจะประกอบอาชีพนักศิลปะแล้วล่ะก็ ถ้าไม่เข้าโบสถ์ก็ต้องไปเข้าวังน่ะแหละ ที่เป็นแบบนั้นเพราะคนเขาอยู่กันแบบไพร่ทาส มีทำธุรกิจก็จริงแต่เป็นธุรกิจครัวเรือน เช่นเป็นช่างรองเท้าเป็นชาวประมงอะไรแบบนั้น ที่แน่ ๆ คือไม่มีค่ายเพลง ชาวบ้านจะร้องรำทำเพลงก็ทำกันเอง แต่ไม่ได้ตังค์เป็นชิ้นเป็นอัน ฉะนั้น การเล่นดนตรีเป็นอาชีพจึงเป็นการเล่นเพื่อรับใช้พระเจ้า ไม่ก็รับใช้เจ้านาย ครอบครัวนักดนตรีอย่างโมสาร์ทเองก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้นศิลปะอย่างดนตรีคลาสสิกจึงเป็นดนตรีชั้นสูง มีมูลค่า ส่วนดนตรีพื้นบ้านเป็นดนตรีชั้นล่าง ไม่มีมูลค่าอะไร ศิลปะในยุคก่อนจึงมักจะเป็นไปในทิศทางที่คล้าย ๆ กัน และเป็นแบบนี้มานานแสนนานจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 นู่นเลย
และเรื่องมันเริ่มจากที่ฝรั่งเศส
พูดให้สั้นที่สุดคือ มันมีช่วงหนึ่งที่ฝรั่งเศสได้กลายเป็นศูนย์กลางของศิลปะของโลก มีศิลปินมากมายเข้ามาอัดกันอยู่ในปารีสเพื่อสร้างงาน แต่อย่างที่รู้ว่างานชิ้นไหนที่มีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่านั้น ต้องผ่านการรับรองเสียก่อน อ้าว แล้วคนที่ไม่ได้รับรองล่ะ ชิบหาย อะไรวะ กูว่าภาพกูก็วาดสวยนะ มันแค่ไม่ถูกใจเอ็งนี่หว่า คนกลุ่มนี้เริ่มรวมตัวกันเพื่อสร้างงานในแนวทางของตัวเอง จนเป็นต้นเหตุให้ศิลปะในยุโรปเริ่มจะไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและเป็นต้นเหตุให้เกิดเกิดลัทธิศิลปะต่าง ๆ มากมาย เช่น Impressionism, Surrealism, Pointillism, Fauvism เป็นต้น และสุดท้ายก็ได้กำเนิดศิลปะแบบ Dadaism ขึ้นมา ซึ่งจะกลายมาเป็นโคตรเหง้าของ Pop art ในปัจจุบัน
คือไอ้เจ้า Dadaism นี่เฟี้ยวฟ้าวสุด ๆ นะครับ มันคือศิลปะที่พยามจะฉีกกฏความงามแบบเดิม ๆ ขบถเป็นบ้า เช่นเอารูปโมนาลิซ่ามาเติมหนวด เอาล้อจักรยานมาปักแม่งไว้กลางเก้าอี้ เอาน้ำตาลก้อนไปขังไว้ในกรงนก เอาโถเยี่ยวมาเขียนชื่อเจ้าของผลงานส่งประกวด โคตรขบถเลย นอกจากจะพยามหาความงามรูปแบบใหม่แล้ว ยังขบถต่อขนบของศิลปะชั้นสูงอีกด้วย ซึ่ง จำความขบถต่อศิลปะชั้นสูงอันนี้เอาไว้ให้ดีนะครับ
แนวคิดแบบขบถต่อศิลปะชั้นสูงส่งผลให้เกิดศิลปะแบบป๊อปขึ้นมา โดยเริ่มก่อร่างสร้างตัวที่อังกฤษ ก่อนที่จะเกิดป๊อปอาร์ตแบบเป็นล่ำเป็นสันที่อเมริกา ป๊อปจะตีความศิลปะไปในอีกทิศทางหนึ่ง เช่น งานมึงมีชิ้นเดียวในโลกใช่มั้ย ของกูสำเนาขายแม่งเลย แพงนักใช่มั้ย ของกูขายถูก ๆ ดูเข้าใจยากนักใช่มั้ย กูทำให้เข้าใจง่าย ๆ เลย มึงทำให้พวกชั้นสูงดูใช่มะ กูนี่ทำออกมาดูรู้เรื่องทุกคน ลงสีอะไรซับซ้อน ทำให้มันฉูดฉาดซะ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการเอาอะไรที่ดัง ๆ คนรู้จักเยอะ ๆ มาเป็นเครื่องมือเช่นกัน เช่นเอาหน้าดาราที่ดังสุด ๆ ในตอนนั้นมาลงสีวาดใหม่ เป็นต้น หรือก็คือทำอะไรที่ท้าทายขนบของศิลปะลงให้หมด จากที่ศิลปะเดิมที่อยู่บนหอคอยและชี้หน้าวิจารณ์คนดู ป๊อปอาร์ตเป็นศิลปะที่ยืนให้คนชี้หน้าวิจารณ์ และปรับตัวตามความต้องการของคนหมู่มาก ผลลัพธ์คือ ป๊อปอาร์ตกลายเป็นศิลปะที่แทรกตัวเข้าไปสู่วัฒนธรรมของคนทุกคน กินง่าย ราคาถูก เข้าถึงทุกคน
ป๊อปอาร์ตจึงเหมือนเนตรวงแหวนคาคาชิที่ดึงวิชานินจาของคนอื่นมาใช้เอง ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจไปว่าทำไมดนตรีป๊อปจึงดูเหมือนไม่มีอัตลักษณ์ตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว ถึงดนตรีแนวอื่นจะมีพัฒนาการเหมือนกัน แต่แม้กระทั่งดนตรีป๊อปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วก็ต่างกับดนตรีป๊อปในตอนนี้แบบเห็นได้ชัดกว่ามาก ขึ้นอยู่กับว่าคนในช่วงปีนั้นนิยมอะไรกัน และถ้า Dadaism คือพ่อของป๊อปอาร์ต ทุนนิยมก็คือแม่ของมัน การที่จะให้อะไรบางอย่างนั้นเข้าถึงได้ทุกคนนั้นไม่ใช่แค่ขบถก็พอ แต่ต้องผ่านการวางแผนมาแล้ว ต้องเอาเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม ผ่านแผนธุรกิจ จึงมีคำกล่าวว่าค่ายเพลงหรือค่ายละครนั้นคืออุตสาหกรรมบันเทิง
เมื่อเข้าใจตัวตนของป๊อปอาร์ตแล้ว จึงเข้าใจได้ต่อว่าทำไมเพลงที่บางคนค่อนขอดว่าไร้สาระ แต่กลับได้รับความนิยมสูงมาก หรือหนังที่ตามกระแสสังคมสุด ๆ แต่ได้รับคำวิจารณ์ไปในแง่ลบสุด ๆ แต่ก็ยังทำกำไรและผลิตภาคต่ออกมาได้เรื่อย ๆ นั่นเพราะเขาทำมันขึ้นมาโดยเข้าใจตัวตนของวัฒนธรรมป๊อป แม้ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ป๊อปอาร์ตไม่เคยสัญญาว่างานตัวเองมีคุณค่าหรือทำให้คุณดื่มด่ำไปกับมันมากนัก แต่สัญญาว่ามันจะเข้าไปอยู่ในชีวิตคุณแบบที่คุณไม่รู้ตัวเหมือนเสื้อยืดถูก ๆ ในตู้เสื้อผ้าที่บ้านคุณ คุณอาจจะรังเกียจมัน อาจจะไม่ฟังมัน แต่คุณอาจจะดันรู้ว่าท่อนฮุคนั้นมันร้องยังไง
และนั่นทำให้คำกล่าวที่ว่า "เพลงที่ดีคือเพลงที่ขายได้" นั้นดูเมคเซนส์ขึ้นมาเลย
โฆษณา