12 ม.ค. 2021 เวลา 09:42 • ท่องเที่ยว
ถ้ำเลสเตโกดอน จังหวัดสตูล
ถ้ำเลสเตโกดอน ... เดิมมีชื่อว่า “ถ้ำวังกล้วย” ซึ่งเป็นถ้ำธารลอดในเทือกเขาหินปูน ที่มีความยาวกว่า 4 กม. ซึ่งเป็นถ้ำน้ำเค็มที่ยาวที่สุดในเมืองไทย มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตบ้านคีรีวง ต.ทุ่งหว้า อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล
ถ้ำเลสเตโกดอน ... ได้ชื่อมาจากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ชิ้นหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลไหม้ น้ำหนักประมาณ 5.3 กก. ยาวประมาณ 44 ซม. สูงประมาณ 16 ซม. และหลังผ่านกระบวนการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญแล้วพบบว่า ฟอสซิลชิ้นนี้เป็นกระดูกฟันกรามของช้าง“สเตโกดอน” ที่มีชีวิตอยู่ในยุคไมโอซีนตอนปลาย ถึงต้นยุคไพลสโตซีน มีอายุประมาณ 1.8 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งเป็นช้างรุ่นที่ 6 ในวิวัฒนาการของสัตว์ตระกูลช้างที่มีอายุเก่าแก่กว่าช้าง“แมมมอธ”(รุ่นที่ 8-อายุราว 20,000 ปีก่อน)ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี
นอกจากนี้ ภายในถ้ำแห่งนี้ยังมีการค้นพบฟอสซิลฟันกรามของช้างเอลิฟาสที่เป็นบรรพบุรุษของช้างเอเชีย อายุประมาณ 1.1 ล้านปี พบฟอสซิลของแรดสมัยไพลสโตซีน(ประมาณ 2 ล้าน-11,700 ปีมาแล้ว) พบฟอสซิลกระซู่ เต่า หอย หมึก รวมไปถึงขวานหินของมนุษย์โบราณ รวมแล้วซากดึกดำบรรพ์ที่พบนั้นกว่า 300 ชิ้นเลยทีเดียว
หลังจากนั้น พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนา “ถ้ำวังกล้วย” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเปลี่ยนชื่อถ้ำนี้ใหม่ว่า “ถ้ำเลสเตโกดอน”
จะนำชม “ถ้ำเลสเตโกดอน” กันเลยนะคะ
ก่อนที่เราจะลงเรือ จะมีเจ้าหน้าที่บรรยายายสรุปคร่าวๆถึงลักษณะของถ้ำ และสิ่งต่างๆที่เราต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่การลงเรือ ช่วงเวลาที่อยู่ในเรือและในถ้ำ .. เมื่อการบรรยายสรุปจบเราก็จะได้รับเสื้อชูชีพ พร้อมไฟฉาย ด้วยเหตุที่ภายในถ้ำจะมืดมาก
หน้าถ้ำเลสเตโกดอนมีการสร้าง ประติมากรรมช้างโบราณสเตโกดอน แรดโบราณไว้เป็นสัญลักษณ์ให้ผู้มาเยือนได้รับรู้ถึงลักษณะและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน
การเข้าไปเที่ยวในถ้ำเลสเตโกดอน เราจะต้องนั่งเรือคายักเข้าไป ...จุดลงเรือจะอยู่ที่หน้าปากถ้ำนี่เอง
โดยเรือคายัก 1 ลำ จะมีเจ้าหน้าที่หรือไกด์ช่วยพายตอนท้ายเรือ และผู้โดยสาร 1-2 คนจะนั่งมาในเรือด้วย ทุกคนจะต้องสวมใส่เชื้อชูชีพตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัย
เมื่อเรือพร้อม และคนพร้อม ... นายท้ายของเราก็จะทยอยพายเรือคายักไปตามเส้นทางน้ำลอดภายในถ้ำ โดยที่จะมีคำอธิบาย หรือเชิญชวนให้พวกเราชมตามจุดต่างๆที่น่าสนใจไปตลอดทาง
ภายในถ้ำเลสเตโกดอน ... งดงามไปด้วยหินงอกหินย้อยที่หลากหลาย และมองเห็นไปทั่วบริเวณถ้ำ ทั้งหินงอกหินย้อยตามเพดาน-ผนังถ้ำ หินประกายเพชร
... เสาหิน หินรูปหลอด ทำนบหิน บางช่วงจะเห็นหินที่มีสายน้ำไหลผ่านดูคล้ายม่านน้ำตกเล็กๆภายในถ้ำ
ไกด์ของเราลงไปในน้ำ และนำหอยที่รูปร่างเหมือนหอยโข่งขึ้นมาให้เราดู ... น่าแปลกมากที่มีสัตว์ชนิดนี้ในถ้ำที่มืดมิดมากๆเช่นนี้
ในช่วงหนึ่งของการพายเรืออยู่ในถ้ำ ... มีกลุ่มก้อนหินขวางทางน้ำ เราจะต้องลงเดินข้าม ในขณะที่ไกด์จะเป็นคนที่ยกเรือคายักข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งของกลุ่มหิน เพื่อให้เราล่องเรือเดินทางต่อ
... สวยที่สุด เราขอยกให้ หินย้อยที่เหมือนประกายเพชร ระยิบ ระยับ
ภายในถ้ำยังคงมีร่องรอยของฟอสซิล อายุนับล้านปีหลงเหลืออยู่
ซากฟอสซิลภายในถ้ำ
ถ้ำเลสเตโกดอน ในปัจจุบันยังคงเป็น“ถ้ำเป็น” ซึ่งนักท่องเที่ยวถูกห้ามไม่ให้ไปแตะ จับ สัมผัส หินงอกหินย้อยที่กำลังเติบโตมีชีวิตภายในถ้ำโดยเด็ดขาด
ความสวยงามที่ผ่านเข้ามาในสายตา ... ฉากแล้วฉากเล่า ล้วนสวยงาม อลังการ ที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจตลอดเส้นทาง
ล่องเรือชมหินงอก หินย้อย และฟอสซิลภายในถ้ำจนพอใจ เมื่อเราพายตามน้ำมาเรื่อยๆ ก็จะถึงปากถ้ำทางออก ... เรือแวะส่งเราที่ปากถ้ำ
เราลงจากเรือ แล้วเดินขึ้นบันไดเพื่อเปลี่ยนเป็นเรือคายักลำใหม่ ...
ล่องเรือผ่านความสวยงามของป่าโกงกางที่ยืนต้นอวดรากที่มีเส้นสายงดงาม เป็นที่บ่มเพาะเลี้ยงดูสรรพชีวิตเล็กๆ ที่ใช้รากเหล่านี้เป็นที่อาศัยและเนอสเซอรี่
ในขณะที่ใบเขียวๆของต้นโกงกาง ให้ความรู้สึกถึงความอุดมสมบูรณ์ .. บางครั้งเรามองเห็นนกตัวน้อยหลายตัวเกาะกิ่งไม้ ส่งสายตามองดูพวกเรา และส่งเสียงใสๆกังวานเหมือนคำทักทายผู้มาเยือน เปี่ยมบรรยากาศทางธรรมชาติดิบๆ แต่สบายตา และสุขใจ
“แหล่งธรณี สตูล”
นอกจากการค้นพบ ฟอสซิลสกรามช้างสเตโกดอน ในจังหวัดสตูลแล้ว การค้นพบฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตต่างๆใน“มหายุคพาลีโอโซอิก”นั้นก็ถือว่ามีความสำคัญยิ่งไม่แพ้กัน
มหายุคพาลีโอโซอิก (Paleozoic) มีอายุประมาณ 542-251 ล้านปี (ก่อนยุคไดโนเสาร์-มหายุคมีโซโซอิก-251-65 ล้านปี) เป็นยุคแห่งสัตว์ทะเล สิ่งมีชีวิตพวกสาหร่ายดึกดำบรรพ์ และภูเขาสาหร่ายก่อนที่จะมีสัตว์มีครีบเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
มหายุคพาลีโอโซอิกแบ่งออกเป็น 6 ยุค ได้แก่ แคมเบรียน ออร์โดวิเชียน ไซรูเลียน ดีโวเนียน คาร์บอนิเฟอรัส และ เพอร์เมียน (หลังยุคเพอร์เมียนก็เข้าสู่มหายุคมีโซโซอิกซึ่งถือเป็นยุคทองของไดโนเสาร์)
การค้นพบที่เด่นๆในมหายุคพาลีโอโซอิก ในสตูลนั้นมีอาทิ เช่น ... การพบซากฟอสซิลจำนวนมากในบริเวณ“เขาน้อย”(ลำดับชั้นหินเขาน้อย-บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) เป็นเนินเขาเตี้ยๆที่มีซากฟอสซิลหลากหลายอยู่ในเนื้อหินแทบทุกตารางเมตรของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น พลับพลึงทะเล แบรคิโอพอด(หอยกาบคู่) ไทรโลไบต์(สัตว์ที่มีรยางค์เป็นข้อปล้อง เป็นต้นตระกูลแมงดาทะเลโบราณ)
รวมถึงการค้นพบ .. แกรปโตไลต์ สัตว์ทะเลขนาดเล็กมีลักษณะเป็นเส้น เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะเห็นเป็นยักคล้ายฟันเลื่อยอาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม ฟอสซิลแกรปโตไลต์จะดูคล้ายรอยขีดเขียนบนก้อนหิน
การค้นพบซากฟอสซิลบริเวณ “ศาลทวดโต๊ะสามยอด”(ต.ป่าแก่บ่อหิน อ.ทุ่งหว้า) ซึ่งมีการค้นพบซากหอยกาบคู่ และซากหอย“นอติลอยต์”(สัตว์ในชั้นเดียวกับหมึก หมึกยักษ์ และนอติลุส) ขนาดใหญ่และชัดเจนมาก
การค้นพบหินสาหร่ายที่ แหล่ง“หินสาหร่าย ศาลทวดบุญส่ง”(บ้านทุ่งเสม็ด ต.กำแพง อ.ละงู) มีลักษณะเป็นหินโผล่คล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ ชั้นหินบางวางเรียงซ้อนกันดูสวยงามแปลกตา
หินสาหร่ายเกิดจากการก่อตัวของ “สาหร่ายสโตมาโตไลต์” ที่มีความสำคัญต่อวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพราะเป็นตัวสร้างออกซิเจนให้กับสิ่งมีชีวิตเริ่มแรกในยุคแคมเบรียน(ประมาณ 500 ล้านปีมาแล้ว) จนกระทั่งเริ่มมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆตามมา
ทั้งนี้การค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกในสตูลนั้น นอกจากจะเป็นหลักฐานสำคัญในการแสดงถึงความเป็นแหล่งฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแล้ว ที่สตูลยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครบทั้ง 6 ยุค หนึ่งเดียวในเมืองไทย และอาจเป็นเพียงแห่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีการค้นพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกครบทั้ง 6 ยุคเช่นนี้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย
***สำหรับอุทยานธรณีสตูล ปัจจุบันมีเนื้อที่ทั้งหมด 2,597 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยามากกว่า 70 แห่ง ครอบคลุมทั้งบนบกและในทะเล อาทิ ถ้ำเลสเตโกดอน ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต น้ำตกธารปลิว หินเขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย เกาะไข่-หาดหินงามแห่งหมู่เกาะตะรุเตา ทะเลแหวกเกาะหว้าหิน-เกาะลิดีเล็ก เป็นต้น
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา