13 ม.ค. 2021 เวลา 05:46 • ท่องเที่ยว
สะพานข้ามกาลเวลา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
“อุทยานธรณีสตูล” ตั้งอยู่ที่ภาคใต้ของไทย คลอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่และมีชายหาดที่สวยงาม ด้วยความโดดเด่นทางธรณีวิทยา ภูมิประเทศและธรรมชาติของอุทยานธรณีสตูล ก่อให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลาย
สะพานข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย
สะพานข้ามกาลเวลา อุทยานธรณีสตูล อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล ในบริเวณเขาโต๊ะหงาย ซึ่งด้านใต้ของภูเขามีลักษณะของหัวแหลม มีผาชันยื่นออกไปในทะเล ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอ่าวที่เป็นหาดทรายโค้งเว้าเข้าไปในแผ่นดิน
เขาลูกนี้มีหน้าผาริมทะเลที่สูงชัน ซึ่งมีปรากฏการณ์ธรรมชาติปรากฏอยู่ในบริเวณช่วงหนึ่งของหน้าผา กับการชนกันหรือรอยสัมผัสของหิน 2 ยุค คือหินทรายสีแดงแห่งยุคแคมเบรียน(542-488 ล้านปี) และ หินปูนสีเทาแห่งยุคออร์โดวิเชียน(488-444 ล้านปี) ที่เกิดจากรอยเลื่อนของเปลือกโลกกระทำให้หิน 2 ยุคเคลื่อนตัวมาชนกัน
เราเดินทางมาถึงบริเวณที่ทำการอุทยานหมู่เกาะเภตราในเวลาที่เกือบค่ำแล้ว
เราจึงมีเวลาน้อยในการเดินชม รวมถึงสภาพของแสง ก็ไม่เอื้ออำนวยมากนักในการถ่ายภาพ แต่เราก็ยังพยายามที่จะนำภาพมาให้ชมพร้อมเรื่องเล่านะคะ
สะพานเดินเท้าจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราเลียบไปตามชายฝั่งผาชันด้านตะวันออก พาเราเดินเลียบหน้าผาริมทะเล ..
บรรยากาศช่วงต้นอยู่ในบรรยากาศและทิวทัศน์ในยามที่อาทิตย์อัสดงสวยงามมาก ... แสงสวยๆ ส่งให้ภาพงดงาม เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามแห่งหนึงในสตูล
สะพานเลียบโค้งไปตามผาหิน .. แล้วโค้งไปทางตะวันตกผ่านเขตรอยต่อระหว่างหินปูนสีเทากับหินทรายสีแดง
จุดนี้ เปรียบเสมือนเรากำลังเดินก้าวข้ามกาลเวลาจาก(หิน) ยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง ... เพียงแค่ก้าวเดียวค่ะ
เขตข้ามกาลเวลา เป็นแหล่งที่มีความสำคัญทางด้านธรณีวิทยา คือเป็นบริเวณที่พบรอยสัมผัสของหินที่มีอายุแตกต่างกันสองยุค คือหินทรายสีแดงยุคแคมเบรียน อายุประมาณ 541-485 ล้านปี และหินปูนยุคออร์โดวิเชียน อายุประมาณ 485-444 ล้านปี โดยรอยสัมผัสของหินดังกล่าวเกิดจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลก มีความชัดเจนมากและหาดูได้ยาก
เขตข้ามกาลเวลา ณ ที่แห่งนี้ .. สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เสมือนหนึ่งว่าเราสามารถก้าวย่างข้ามกาลเวลาจากยุคแคมเบรียนไปสู่ยุคออร์โดวิเชียนได้เพียงก้าวเดียว จึงมีคุณค่าทางวิชาการ สมควรที่จะอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีวิทยา
บริเวณใกล้เคียงยังสามารถพบซากดึกด าบรรพ์หรือฟอสซิล (Fossil)ของสัตว์ทะเลมากมาย อาทิ หมึกทะเลโบราณ (นอติลอยด์), พลับพลึงทะเล (ไครนอยด์) และหอยตะเกียง(แบรคิโอพอดส์) เป็นต้น
หากสนใจการเกิดเขตข้ามกาลเวลาเพิ่มเติม สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่นี่
ใกล้กับสะพานข้ามกาลเวลาที่มีหิน 2 ยุคให้ชมแล้ว ... บริเวณชายหาดเขาโต๊ะหงายยังมีหินทรายสีแดงบริเวณเขาโต๊ะหงายอีกจำนวนมาก
บิเวณชายหาด .. มีหินหลากสีโดยก้อนหินแต่ละก้อนจะมีสีสัน รูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป สีแดง สีเทา สีดำ สีเหลือง และสีน้ำเงินที่มีกระจัดกระจายอยู่เต็มชายหาด ช่วงน้ำลดก็จะสามารถมองเห็นหินหลากสีนี้กระทบกับแสงอาทิตย์มีความสวยงามแปลกตา
หากมีโอกาส ... ไม่ควรพลาดมาชมพื้นที่มหัศจรรย์นี้นะคะ
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปกับ พี่สุ
ท่องเที่ยวทั่วโลก กับพี่สุ
ซีรีย์เที่ยวเจาะลึก ประเทศนอร์เวย์
Iceland ดินแดนแห่งน้ำแข็งและเปลวไฟ
Lifestyle & อาหารการกิน แบบพี่สุ
สถานีความสุข by Supawan
โฆษณา