8 ก.พ. 2021 เวลา 09:51 • ประวัติศาสตร์
สุสานอาปักโฮจากับตำนานพระนางเซียงเฟย
1
ปมปริศนาหนึ่งในยุคสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงอันเป็นที่โด่งดัง จนกลายเป็นนวนิยายและภาพยนตร์ซีรีย์จีนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ เรื่องของพระสนมเซียงเฟย 香妃 Fragrance Concubine หรือเฮียงเฮียงกงจู่ที่รู้จักกันในซีรีย์ภาพยนตร์ดัง อันเป็นบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์จริง รู้จักกันในนามพระสนมเนื้อหอม ชั้นหรงเฟย 容妃 ของจักรพรรดิเฉียนหลง
ภาพวาดพระนางเซียงเฟยอันแสนงดงาม วาดโดยหลางซื่อหนิง 朗世宁 หรือกิวเซ็ปเป คาสติกลิโอเน่ Giuseppe Castiglione จิตรกรชาวอิตาเลี่ยนในราชสำนักชิงเฉียนหลง
การเดินทางมาซินเจียงใต้ครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยือนเมืองคาสือ 喀什 หรือคาชการ์ Kashgar เมืองใหญ่ที่สุดของชาวอุยกูร์ สุดเขตประจิมทิศแดนมังกรอีกครั้งหนึ่ง
สถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองนี้ คือ สุสานอาปักโฮจา 阿巴克霍加麻扎 Apak Hoja Mausoleum
อันเป็นอาคารสุสานที่สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่าสง่างาม เป็นงานสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของคาชการ์ มีหลังคาโค้งรูปโดมที่ใหญ่ที่สุดในเขตปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง ตัวอาคารมีความกว้างถึง ๓๕ ม. ลึก ๒๙ ม. ใต้โดมกลางสูงถึง ๒๖ ม. ภายนอกประดับกระเบื้องเคลือบหลากสีสัน สมดังคำเรียกขานคาชการ์ว่า "นครแห่งกระเบื้องงาม"
2
สุสานอาปักโฮจาอันโอ่อ่าสง่างาม ประดับลวดลายกระเบื้องและลายปูนปั้นงดงามยิ่งนัก ใช้เป็นที่เก็บศพตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงต่อเนื่องมา มีโลงศพรวม ๕๘ โลง ทุกวันนี้ ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้อยู่ในสภาพเดิม
ภายในใช้เป็นที่ฝังศพ นับจำนวนได้ ๕๘ โลง (บางตำนานว่า ๗๒ คน) อาคารสุสานหลังนี้สร้างขึ้นในปีค.ศ.๑๖๔๐ ปลายสมัยราชวงศ์หมิง โดยอาปัก โฮจา ผู้สืบสานภารกิจทางศาสนาและการปกครองในคาชการ์ต่อจากบิดา เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพบรรพชนชั้นปู่และบิดา รวมทังของตนและทายาทสืบต่อมาอีกสองรุ่น รวมถึงที่ฝังศพของพระสนมเซียงเฟยอันโด่งดัง
สุสานฝังศพพระนางเซียงเฟย (ว่ากันว่าคือ ฝังอาภรณ์และรองเท้าของนาง) อยู่ด้านในขวาสุด คลุมด้วยผ้าสีเหลือง
เล่ากันว่าพระสนมเซียงเฟยมีชื่อเดิมว่า มามูรา อะซาม Mamura Azam มีสมญาว่ายีปาฮาน Yiparhan or Iparhan หมายถึงนางเนื้อหอม นางเป็นสาวสวยงามบาดใจ ร่ำลือกันว่า ผิวกายของนางมีกลิ่นหอมกรุ่นคล้ายกลิ่นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้ยังมีปลูกอยู่ข้างสุสาน เรียกว่า ซาเจ่า 沙枣 หรือพุทราทราย ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นประจำถิ่น
(ดอกพุทราทรายจะบานในช่วงเดือนพฤษภาคม และให้ผลในช่วงเดือนตุลาคม)
2
ตามตำนานเล่าว่านางมีสามีเป็นบุตรเจ้าเมืองคาชการ์ แต่ด้วยกิตติศัพท์ความงามและความหอมของกลิ่นกายนาง เลื่องลือระบือไปไกลจนถึงพระกรรณจักรพรรดิจีนที่กรุงปักกิ่ง ทำให้พระองค์ทรงพอกระทัย ต่อมาสามีของนางวายชนม์กลางสนามรบ นางตกพุ่มหม้าย จักรพรรดิเฉียนหลงจึงรับสั่งให้รับตัวนางเข้าวัง
1
ในขณะที่บางตำนานกล่าวว่า เจ้าเมืองคาชการ์ส่งตัวนางให้เป็นบรรณาการแด่องค์จักรพรรดิ ในคราวที่กองทหารราชวงศ์ชิง ยกทัพมาถึงซินเจียง
3
กล่าวกันว่า นางเป็นคนเฉลียวฉลาด ระหว่างการเดินทางอันแสนยาวไกล ได้ฝึกเขียนอ่านภาษาจีน ทำให้เมื่อนางเข้าวังหลวงในวัย ๒๗ ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระสนมชั้นเหอกุ้ยเหริน ต่อมาได้เลื่อนชั้นเป็นหรงเฟย นางสิ้นลมในปีค.ศ.๑๗๘๘ สิริอายุได้ ๕๕ ปี
1
ในขณะที่บางตำนานเล่าว่า เมื่อนางเข้าวังหลวง นางได้ปฏิเสธความเสน่หาของพระองค์ อีกทั้งพระพันปีหลวงทรงไม่โปรดนาง ครั้งหนึ่งทรงตรัสถามว่า
"อยากได้อะไร"
นางทูลตอบว่า
"อยากได้ความตาย"
พระพันปีหลวงจึงทรงยื่นผ้าแพรขาวให้ผืนหนึ่ง นางจึงนำผ้าแพรผืนนั้นมาผูกคอตายอย่างน่าเศร้า
3
รถม้าที่เชื่อกันว่า พี่ชายของพระนางเซียงเฟยได้ขนชุดและข้าวของเครื่องใช้ของพระนางเซียงเฟยจากพระราชวังหลวงกลับสู่บ้านเกิดที่คาชการ์ ด้านบนมีตัวหนังสืออารบิกเขียนได้ความว่า "ยามมา ก็มาแต่ตัว ยามจาก ก็จากไปแต่ตัว"
ทุกวันนี้ภายในสุสานอาปักโฮจามีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงพระสนมเซียงเฟยอยู่สามสิ่งคือ
หนึ่ง - สุสานที่เก็บอาภรณ์และรองเท้าของนาง ตั้งเรียงเคียงข้างที่เก็บศพมารดา (คลุมผ้าสีเหลืองด้านใน) ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมพื้นเมืองของชาวอุยกูร์ ที่จะฝังศพลูกสาวไว้ใกล้มารดา
1
สอง - บริเวณด้านข้างด้านซ้ายของสุสาน ยังมีรถม้าตั้งอยู่ กล่าวกันว่า เป็นรถม้าที่พี่ชายของนางได้นำชุดและข้าวของเครื่องใช้ของนางกลับสู่บ้านเกิดที่อยู่ห่างไกลจากพระราชวังหลวงกู้กงปักกิ่งนับหมื่นลี้
1
ด้านบนของรถม้า มีตัวอักษรอารบิกจารึกไว้ว่า
"ยามมา ก็มาแต่ตัว ยามจาก ก็จากไปแต่ตัว"
1
เป็นอนุสติให้เราได้ระลึกถึง
และสิ่งที่สามคือ ต้นพุทราทรายหรือซาเจ่า ที่ปลูกอยู่สี่ต้นด้านข้างสุสาน ว่ากันว่า ผิวกายของนางที่หอมจรุงจนลือเลื่องนั้น ก็มาจากการอาบน้ำผสมผงบดจากดอกพุทราทรายที่จะออกดอกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม สำหรับฤดูนี้ เราได้เห็นผลของพุทราทรายที่ร่วงพราวอยู่ใต้ต้น
ลวดลายกระเบื้องประดับและปูนปั้น งดงามจับตาของสุสานอาปัก โฮจา สมฉายาของเมืองคาชการ์ว่า นครแห่งกระเบื้องงาม
สำหรับสุสานจริงของพระนางเซียงเฟยนั้น อยู่บริเวณด้านหน้าอันเป็นที่ตั้งสุสานของเหล่าบรรดาพระสนมเอกของจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ตั้งเรียงรายอยู่นับสิบสุสาน ภายในสุสานอวิ้หลง 裕陵 หนึ่งในสุสานที่ต้องชมภายในสุสานชิงตงหลิง (ชิงตะวันออก) มณฑลเหอเป่ย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง
1
ตามตำนานเล่าว่า จักรพรรดิเฉียนหลงทรงโปรดปรานนาง ยินยอมให้นางปฏิบัติตามประเพณีของชาวอุยกูร์ ทั้งการนับถือศาสนา การแต่งกาย การรับประทานอาหาร รวมทั้ง ยินยอมให้นางออกนอกวังได้ อีกทั้ง ยังให้โปรดให้นางตามเสด็จจักรพรรดิเฉียนหลงไปท่องแดนเจียงหนานถึง ๒ ครั้ง
1
หลักฐานชิ้นหนึ่งที่ยังคงปรากฎอยู่ คือภาพวาดของพระนางเซียงเฟย ที่วาดโดยจิตรกรชาวอิตาเลี่ยนชื่อดังนาม กิวเซ็ปเป คาสติกลิโอเน่ Giuseppe Castiglione ผู้เคยรับราชการอยู่ในพระราชวังหลวงของจักรพรรดิเฉียนหลง และได้รับพระราชทานในภาษาจีนว่าหลางซื่อหนิง 郎世宁 อีกด้วย
2
ภาพวาดนี้หลางซื่อหนิงได้วาดภาพเหมือนพระนางเซียงเฟยออกมาได้อย่างงดงามหมดจด ใบหน้าคมหวาน สวมอาภรณ์งดงาม มือทั้งสองอ่อนช้อยราวมีชีวิต
1
นอกจากนี้ หลางซื่อหนิงยังได้วาดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของจักรพรรดิเฉียนหลง รวมถึงภาพม้า สุนัช แจกัน ทิวทัศน์ ฯลฯ แบบจีนผสมตะวันตกได้อย่างกลมกลืนน่าชื่นชม
ซุ้มกลีบบัวด้านหลังสุสาน ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องและลวดลายที่สวยงาม
ตราบจนถึงปัจจุบันพระนางเซียงเฟย ยังเป็นตำนานความสัมพันธ์ของจักรพรรดิเฉียนหลงต่อสาวงามชาวอุยกูร์ ที่อยู่ห่างไกลกันกว่า ๑๐,๐๐๐ ลี้ ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงใจชาวคาชการ์ไม่มีวันลืมเลือน...
อ่านแล้วชอบ โปรดกดไลท์ กดติดตาม กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนสร้างสรรค์งานต่อไปครับ
โฆษณา