13 ม.ค. 2021 เวลา 16:35 • ธุรกิจ
การระงับแผน IPO ของ Ant Group สำคัญอย่างไรกับทิศทางการกำกับดูแลบริษัท FinTech BigTech ของประเทศจีนในอนาคต? (ตอนที่ 1)
.
ในช่วงที่เดือนที่ผ่านมา หลายคนคงได้ทราบข่าว กรณีที่ Ant Group บริษัทในเครือของ Alibaba (บริษัท tech ของประเทศจีน) ได้วางแผนที่จะทำ IPO หรือการเปิดขายหุ้นให้กับสาธารณะชนเป็นครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ของเซี่ยงไฮ้และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการระงับแผน IPO ทั้งในตลาดเซี่ยงไฮ้และในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
.
เกิดอะไรขึ้นกับแผน IPO ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 35 พันล้านเหรียญ USD?
.
ก่อนวันที่ Ant Group วางแผนไว้ว่าจะทำการ IPO นั้นตลาดหลักทรัพย์ของเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange) ก็มีคำสั่งระงับการ IPO ดังกล่าว โดยอ้างถึงการประชุมระดับสูง และการเปลี่ยนเเปลงกรอบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยคุณ Liu Guoqiang (deputy governor ของธนาคารกลางของประเทศจีน (PBOC)) ให้ข้อมูลว่าการระงับแผน IPO ดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองนักลงทุน อีกทั้งเป็นการคงไว้ซึ่งการพัฒนาไปของตลาดการเงินที่มั่นคงในระยะยาว
.
นอกจากประกาศทางการจากผู้กำกับดูแลเองแล้ว ก็มีการแสดงความเห็นว่า การระงับ IPO ดังกล่าว ส่วนหนึ่งแล้วเกิดจากการที่ Jack Ma ไปแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ต่อผู้กำกับดูแล อีกทั้งระบบการธนาคารของประเทศจีน(the Chinese Banking System) โดยสื่อออนไลน์หลายที่ ได้โควทบางช่วงของ speech ของ Jack Ma ในงานthe Bund Summit 2020 ที่จัดขึ้นที่เซี่ยงไฮ้มา ซึ่งเป็นการวิพากษ์การดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ในการให้สินเชื่อภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางของประเทศจีน (PBOC) – นักวิชาการหลายท่านก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในลักษณะที่ก้าวร้าว (aggressive) และการแสดงท่าทีของ Jack Ma ในลักษณะนี้จะมีผลอย่างสำคัญต่ออนาคตของการประกอบธุรกิจของ Ant Group เองในอนาคต (จากบทสัมภาษณ์ของ Prof. Chen Zhiwu จากthe University of Hong Kong)
.
Alibaba Ant Group และความสัมพันธ์กับหน่วยงานกำกับดูแล
.
หากเรามองกลับไปที่จุดเริ่มต้นของ Alibaba เราจะเห็นว่า Alibaba เริ่มต้นจากการเป็น e-commerce แพลตฟอร์ม หรือมีคนกล่าวเปรียบเทียบว่าเป็น Amazon ของประเทศจีน และสิ่งที่ Alibaba ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ต้นก็คือ ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic payment system)
.
ปี 2004 จุดเริ่มต้นของ Alipay
.
ในปัจจุบันหลายคนอาจจะรู้จัก Alipay ในลักษณะของ บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ – อย่างไรก็ดีในตอนต้นนั้น Alipay เกิดขึ้นในลักษณะที่เป็น credit guarantee สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกรรม e-commerce
.
ต่อมามีการแยกส่วนของ Ant Group ออกมา ในปี 2014 เป็น Ant Financial (Ant Financial Services Groups) และAlipay เป็น platform เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน โดยต่อมาได้เข้ามามีบทบาทมากในการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินกว่า 200 แห่งในการให้บริการกับลูกค้าและบริษัทขนาดเล็ก
.
การก้าวข้ามฝั่งของบริษัท tech
.
บทบาทของบริษัท FinTech BigTech ในประเทศจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้เริ่มต้นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการกู้ยืมเงิน หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นปัญหาอยู่ในประเทศจีนเอง เนื่องจากการที่ระบบการธนาคารของประเทศจีนนั้นเป็นประเทศที่เป็น state-dominated banking sector การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็จำกัดอยู่กับ state-owned businesses อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กต้องหาแหล่งทุนอื่นๆ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เอื้อต่อการเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญของบริษัท tech ข้างต้นดังที่กล่าวมา
.
ตรงนี้เอง อาจจะพอเห็นที่มาที่ไปและการเปลี่ยนแปลงของบริษัทtech บริษัทหนึ่ง ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงินมากขึ้น นอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจของ Ant Group การเกิดขึ้นของ unregulated digital financial services firms ที่เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชน หรือธุรกิจขนาดเล็ก ก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว หากสุดท้ายหากไม่มีการกำกับดูแลให้เหมาะสม ก็อาจจะมีปัญหาตามมาได้ (ตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนก็คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวน P2P lending firms ในประเทศจีน ที่มีจำนวนมากขึ้นกว่า 5,000 P2P lenders ก่อนการ crack down และการประกาศชัยชนะของธนาคารกลางของประเทศจีน (PBOC) เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา)
.
ในปีต่อๆ มา การประกอบธุรกิจของ Ant Group ก็ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในเรื่องของระบบการชำระเงิน แต่เพิ่มเติมไปถึงการให้บริการในด้านอื่นๆ เช่น consumer lending โดยให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยที่จะได้จากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ทำให้คนโยกเงินจากบัญชีเงินฝากมายัง Ant ecosystem จนมีคนเทียบว่าทำให้เกิด world largest money market mutual fund ขึ้น
.
ความจำเป็นในการทำให้ Alibaba Group’s Ecosystem สมบูรณ์ กับปัญหาที่ตามมา
.
การขยายขอบเขตของการให้บริการใน Alibaba Group’s Ecosystem นั้น หากมองให้เห็นภาพครบทุกมุม ใน e-commerce platform ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Alibaba เอง นอกจากในส่วนของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้ามาเป็นสนับสนุนในตัว ecosystem แล้ว ก็ยังมีในส่วนของการให้สินเชื่อ credit แก่ผู้ขายของใน platform ในการจัดการกับสินค้าคงคลัง (Inventory management) แต่อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่า Ant ไม่ใช่ธนาคารหรือสถาบันการเงิน(ที่มี banking license) การดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็น consumer credit business จึงอาจจะทำได้ในลักษณะที่จำกัด และอาจจะทำให้มีปัญหาตามมาได้ ซึ่งท่าที่ของฝั่งผู้กำกับดูแลเอง ก่อนหน้าที่จะมีการระงับแผนการทำ IPO ของ Ant Group นั้น หากเราพิจารณาย้อนกลับไป ก็จะเห็นได้ว่ามีท่าทีที่แสดงให้เห็นถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของ Ant Group ที่อาจจะก้าวข้ามฝั่ง หรือล้ำเส้นแบ่งของการเป็นบริษัท tech มายังฝั่งที่เป็นสถาบันการเงินมากจนเกินไป
.
การประกอบธุรกิจในลักษณะของ consumer credit business กลายเป็นที่จับตา
.
ไม่ว่าจะเป็นการออกประกาศเกี่ยวกับการให้กู้เงินออนไลน์ โดยธนาคารกลางของประเทศจีน (PBOC) และคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและการประกันภัยของประเทศจีน (CBIRC) ในวันก่อนหน้าวัน IPO ของ Ant Group (中国银保监会 中国人民银行关于《网络小额贷款业务管理暂行办法(征求意见稿)》公开征求意见的公告) ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะทำให้การให้บริการในลักษณะของการให้กู้ยืมเงินของ Ant Group ทำได้ยากมากขึ้น
.
โดยสังเขป กฎเกณฑ์ใหม่ได้กำหนดจำนวนที่ “small online lenders” สามารถให้กู้ได้ เช่น มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในลักษณะให้มีสัดส่วน ทีทางผู้ให้กู้จะต้องร่วมกันให้กู้กับธนาคารพาณิชย์ (30%) นอกจากนี้ยังมีการกำหนดทุนจดทะเบียนที่สูงขึ้นเป็น 5 พันล้านหยวน (จากเดินที่กำหนดไว้ต่างกันไปในแต่ละมณฑล ต่ำกว่า 1 พันล้านหยวน) และยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลเครดิตที่ได้จาก e-commerce platform ให้กับธนาคารกลาง โดยมุ่งป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น
.
ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจก็คือ มูลค่าของ consumer loans ที่มีการให้กู้ผ่านทางบริษัท tech ในประเทศจีนนั้น (จากข้อมูลของ PBOC ถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563) มีสูงถึง 213.71 พันล้าน USD
.
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่หน่วยงานผู้กำกับดูแลหลักเจอกับความท้าทายหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ หรือปัญหาเกี่ยวกับ default risks ทางฝั่งของ Ant Group เองกลับเติบโตขึ้นสวนทางกัน และยังมีอิทธิพลเพิ่มมากต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนเอง
.
การออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า (Anti Monopolistic Rules) บังคับใช้กับบริษัท FinTech เพิ่มเติม(ที่ประกาศออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน) อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการที่จะจำกัด หรือลดอิทธิพลดังกล่าว
.
จากการระงับแผนในการ IPO มาจนถึงคำสั่งให้ Ant Group กลับไปดำเนินธุรกิจผู้ให้บริการระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
.
ท่าทีของผู้กำกับดูแลของจีนในครั้งนี้จึงมีความสำคัญ และอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการกำกับดูแลบริษัท FinTech หรือ BigTech อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แล้วก็น่าคิดต่อว่าจุดสมดุลของการกำกับดูแลบริษัทประเภทนี้ควรเป็นอย่างไร อาจจะจริงอยู่ ตามที่มีบางคนก็ให้ความเห็นไว้ว่า กรณีของ Ant Group เอง จริงๆ แล้ว Ant Group ก็อาจจะทำไม่ถูกต้องนักในการดำเนินกิจการ หรือให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถาบันการเงินมากกว่าบริษัท tech อย่างนี้อ้างมาตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ดีก็ต้องไม่ลืมว่าการเข้ามาของAnt Group หรือบริษัท FinTech BigTech อื่นๆ ก็เข้ามาช่วยสนับสนุนสถาบันการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศจีนเองในหลายเรื่อง
.
ท้ายที่สุดหากเราหาจุดสมดุลในการกำกับดูแลได้ สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด และป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคจากการดำเนินกิจการได้ ประโยชน์ก็น่าจะตกอยู่กับผู้บริโภคอย่างเราทุกคน
.
ทั้งหมดนี้ เมื่อพิจารณาประกอบกับการประชุมเมื่อเดือนตุลาคมของคณะกรรมการความมั่นคงทางการเงิน
(China’s financial stability committee) ก็สรุปได้ว่าเมื่อเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องพิจารณาในเรื่อง financial development - stability - security ให้ดี
.
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะทำให้พอมองได้ว่า ทิศทางข้างหน้าของบริษัท FinTech BigTech จะเป็นอย่างไร เเละใครจะได้โอกาสที่ดี เป็นที่น่าจับตาว่าการขยับตัวของผู้กำกับดูแลในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนเเปลงอะไรอีกบ้าง
(อ.ปวีร์ เจนวีระนนท์)
โฆษณา